
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกบังคับอพยพลงมาจากป่าแก่งกระจาน พากันเดินเท้ากลับสู่บ้านเดิมในป่า ว่าครั้งนี้ทราบว่ามีชาวบ้านเดินทางไปกันร่วม 30-40 คน ทำให้หมู่บ้านบางกลอยล่างบางหลังร้าง เพราะไปกันยกครอบครัว แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงก็หอบกันไปด้วย โดยตนเข้าใจว่าคงตั้งใจไปปักหลักลงฐานในพื้นที่เก่าที่พวกเขาเคยทำมาหากินกันตั้งแต่บรรพบุรุษ

“อยู่ที่นี่เขาก็อดตาย ยิ่งโควิดระบาดรอบสอง มีกลุ่มเยาวชนกลับกันมาเยอะ เพราะตกงานจากในเมือง ถ้าเขาอยู่เฉยๆ ก็อดตาย ขณะที่ชาวบ้านเดิมก็ไม่รู้ทำอะไรเพราะแทบไม่มีที่ดินทำกิน ผมไม่ระแคะระคายมาก่อนเลยว่าพวกเขาจะขึ้นไป ถ้าเข้าหูผมก็ต้องห้าม เขาเลยทำกันเงียบๆ เพราะกลัวข่าวหลุด ตอนนี้รู้สึกเป็นห่วงมาก เพราะอุทยานฯ ก็ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปตามหลายชุดแล้ว แต่เชื่อว่าอุทยานฯ คงไม่ทำอะไรเกินอำนาจหน้าที่หรอก ผมอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ลงมาแก้ไขปัญหาจริงๆ จังๆ ไม่ใช่แก้นิดๆ หน่อยๆ แล้วไปประกาศว่าแก้ไขแล้ว” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว
ขณะที่นายพฤ โอโดเชา ชาวไทยเชื้อสานกะเหรี่ยงและนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงที่ชาวบ้านกลับขึ้นไปบ้านเก่าบางกลอยบน เพราะถ้าเจอเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ในเมื่อลูกหิวข้าวพวกเขาจึงกลับบ้านเกิด เราก็หิวข้าว จะปลูกข้าวแต่ผิดกฎหมาย ทั้งที่ประกาศ (เขตอุทยานฯ) ทับพื้นที่เราทีหลัง
“ขอว่าอย่าได้ไปทำอะไรชาวบ้านที่กลับขึ้นไปเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวไร่หมุนเวียนที่บ้านเก่าบางกลอยบนหรือใจแผ่นดินเลยครับ เพราะพวกเขาก็อยากกินข้าว อยากมีพืชผักปลูกกิน มีเกียรติศักดิ์ศรี ในการดูแลครอบครัว เหมือนกับเราๆ ท่านๆ นั่นแหละครับ ตอนนี้ถึงเวลาช่วงที่ต้องถางไร่ เพื่อเตรียมการเพาะปลูกข้าวไร่หมุนเวียนกันแล้ว ถ้าช้ากว่านั้นก็ไม่ทันเพราะฤดูกาล
ชาวบ้านบางส่วนอาจจะพร้อมปรับตัวอยู่กับโรงเรียน โซล่าเซล อินเตอร์เนต แต่เมื่อมีชาวบ้านส่วนหนึ่งยอมทิ้งไฟฟ้าอินเตอร์เน็ตโซล่าเซลล์ ถนน รถยนต์ และความสะดวกสบายเพื่อที่จะกลับไปหาทางเลือกใช้ชีวิตในป่า ทำไมจะต้องไปจับเขาและไล่เขาออกจากป่าด้วย เขาก็ไม่ได้รบกวนงบประมาณของใครและทำลายป่าอะไร เขาก็อยู่ในถิ่นเดิมของเขามาแต่เก่าก่อนแล้ว ทำไมกฎหมายไทยให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีอำนาจไปจับดำเนินคดีเขาทำไมครับ รัฐไทยต่างหากที่ไปพบเจอหมู่บ้านชุมชนเขาทีหลังและประกาศเขตป่าทับมิใช่หรือ ขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านด้วย”นายพฤ กล่าว

นายพฤกล่าวว่า ปู่คออี้ (นายคออี้ มิมี ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง ผู้ล่วงลับ) อยู่ในป่าใหญ่มา 100 กว่าปี
ชาวบ้านที่ถูกอพยพลงมาไม่มีอาหารจะกิน ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ดินทำกิน แร้นแค้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกลับไปพื้นที่ ดินแดนบรรพชน ตามที่ชาวบ้านเลือกเอง กฎหมายไม่ควรมีอำนาจห้าม ควรจะอนุญาตให้คนเรามีทางเลือกในการใช้ชีวิต เพราะพวกเขาไม่ได้ไปทำลายเท่าวิถีในเมืองด้วยซ้ำไป
“จริงๆ แล้วในมุมมองคนในเมือง ทางเลือกนี้คงไม่อยากเลือกเท่าไหร่ เพราะไม่มีโรงเรียน อนามัย ไม่มีร้านค้า ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง แต่เรื่องนี้ชาวบ้าน ไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ที่ชาวบ้านกลัวก็คือ เจ้าหน้าที่จะขึ้นมาจับดำเนินคดี ปัญหามาจากคนที่สร้างปัญหามาให้กัน แถมจากคนของรัฐบาลเอง แทนที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนตัวเอง แต่ไปบอกว่าเขาเป็นคนอื่นไม่ต้องดูแล หรือออกกฎหมายว่าเขาผิดเพื่อจะขับไล่แทนที่จะปกป้องส่งเสริม”นายพฤ กล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและนักกฎหมาย กล่าวว่ากรณีนี้เป็นการเดินทางกลับบ้านของชาวกะเหรี่ยง เพราะเป็นบ้านเก่าดั้งเดิมที่เคยอาศัยอยู่เป็นหมู่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน มีปรากฏหลักฐานในแผนที่ทุกฉบับที่จัดทำขึ้น เริ่มตั้งแต่แผนที่ทหารในปี 2455 หรือกว่าร้อยปีมาแล้ว โดยเป็นหมู่บ้านมีบ้านเลขที่ มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล เดิมเป็นหมู่ที่ 7 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาแบ่งใหม่เป็น หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ต่อมามีการบุกเผาบ้านชาวบ้านทั้งหมดกว่า 100 หลัง เมื่อปี 2554 โดยอ้างว่าเป็นชนกลุ่มน้อยบุกรุกเข้ามา ทั้งๆที่ชาวบ้านอยู่มาเนิ่นนานและมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีตายไปภายนอก จนหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านร้าง
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปู่คออี้นำชาวบ้านฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติต่อศาลปกครอง ในปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อชาวบ้าน ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าบ้านและทรัพย์สินที่ถูกเผาทำลาย ดังนั้นการที่ชาวบ้านกลับไปบ้านเดิมที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพื่อไปปลูกบ้านคืนและทำกินตามวิถีวัฒนธรรมที่ทำกันมาเนิ่นนาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนการจัดการทรัพยากร ที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม