Search

อาเซียนบ้านนอก[asean baannog] – อาเซียนเมืองใหม่

 

ด้านหลังเสื้อยืดสีแดงของชาวกระเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในเขตแดนเมืองทวาย สหภาพเมียนมาร์ สกรีนตัวอักษรภาษาพม่า แปลความได้ว่า “การจัดการที่ดินที่เป็นธรรม ต้องทำเดี๋ยวนี้”

 

หลังเสื้อของเขา “การจัดการที่ดินที่เป็นธรรม ต้องทำเดี๋ยวนี้”
หลังเสื้อของเขา “การจัดการที่ดินที่เป็นธรรม ต้องทำเดี๋ยวนี้”

เขาสวมเสื้อยืดมาฟ้องโลกเรื่องปัญหาที่ดิน ซึ่งลุกลามขึ้นตามลำดับราวไฟได้เชื้อ ตั้งแต่เริ่มมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่กินพื้นที่ถึง 250 ตารางกิโลเมตร และมันไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่า ทว่าเต็มไปด้วยชุมชนที่ผู้คนอยู่อาศัยมาเนิ่นนาน

 

นับแต่นาทีที่โครงการเศรษฐกิจพิเศษมหายักษ์นี้เกิดขึ้น ความมั่นคงในชีวิตของผู้คนที่อยู่ในขอบเขตของโครงการที่กำหนดไว้ ก็ดูเหมือนจะหายไปอย่างไม่รู้วันกลับคืน

 

ปัญหาการสูญเสียที่ดิน ไม่มีที่ดินทำกิน ถูกโยกย้ายออกจากที่ดินทำกินเดิม เป็นเรื่องราวเก่าๆที่ชาวบ้านไทยเผชิญและต่อสู้เรียกร้องมานานเกินทศวรรษ หรือถ้าจะสืบสาวย้อนรอยไปไกลกว่านี้ อาจจถึงร้อยปีที่ชาวบ้านผู้บุกเบิกผืนดินกลับกลายเป็นคนไร้ที่ดิน เพราะการเวนคืนบ้างด้วยความรู้เท่าไม่ถึงกลโกง กับอีกสาเหตุนานับประการ

 

โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาต่างๆที่อ้างถึงความก้าวหน้าของบ้านเมือง นับตั้งแต่สมัยขุดคูคลองพัฒนาระบบชลประทาน หรือการตัดถนนหนทางรางรถไฟเพื่อพัฒนาระบบคมนาคม ตลอดจนการเกิดขึ้นของสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ยักษ์มหึมา เพื่อหน้าตาของประเทศเจริญ ต่างต้องใช้เนื้อที่จำนวนมหาศาล อันล้วนแล้วแต่เป็นผืนดินที่มีเจ้าของจับจองมาก่อน บางแห่งอยู่กันมานับร้อยปี รากเหง้าอันยาวนานมั่นคงนี้จึงมีแต่เรื่องเศร้า เมื่อจำต้องถอนรากจากที่เดิม

 

ชาวบ้านในชนบทไทยจำนวนมากผ่านประสบการณ์การต่อสู้กับโครงการพัฒนาใหญ่ยักษ์ ที่เห็นเด่นชัดคือโครงการสร้างเขื่อนที่นอกจากจะสูญเสียพื้นที่ป่ามหาศาล ยังกินพื้นที่ชุมชนจนล่มสลายหายไปในพริบตา แม้ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชย แต่บทเรียนที่ผ่านมาก็เห็นทนโท่ว่าไม่คุ้มกับสิ่งที่หายไป เพราะมันไม่ใช่แค่ย้ายบ้านจากที่หนึ่งไปอยู่ ณ ที่หนึ่ง เหมือนกับคนในเมืองที่ย้ายบ้านเช่าหรือซื้อบ้านใหม่

 

ทว่าสำหรับผู้คนที่อยู่กับการทำนาทำไร่ หากินกับป่า หาอยู่กับน้ำและทะเลมาแต่เดิม การอพยพหมายถึงการกลับอยู่ที่หมายเลขศูนย์ ที่อยู่ใหม่มักจะไม่มีที่เหมาะสมสำหรับการหาอยู่หากินที่คุ้นชินมาแต่อ้อนแต่ออก

 

ที่หมู่บ้านพิดับ[pidup] หมู่บ้านชาวประมงตั้งอยู่ติดทะเลอันดามัน ทวาย กำลังหวาดสะทกกับผลกระทบที่มาพร้อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพราะกำลังมีการก่อสร้างท่าเรือเล็กอยู่ไม่ห่างหมู่บ้าน เป็นท่าเรือสำหรับขนของไปสร้างท่าเรือใหญ่อีกต่อหนึ่ง จากสายตาที่เห็นท่าเรือที่เขาว่าเล็กนั้น มันใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว มีการแจ้งให้ชาวบ้านย้ายออกจากหมู่บ้าน แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าให้ย้ายไปอยู่ตรงไหนหรือจ่ายค่าชดเชยยังไง ชาวบ้านร่วมใจกันว่าจะไม่ย้ายไปไหน

 

หมู่บ้านแห่งนี้ทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ผู้ชายออกเรือลงอวนไม่ต่างชาวประมงพื้นบ้านของเรา ฝ่ายหญิงเก็บหาหอยหาปูอยู่ชายหาด รายได้จากการขายกุ้งหอยปูปลานับว่าไม่เลวเลยทีเดียว อาหารทะเลสดๆจากที่นี่จะส่งไปขายที่หาดมองมะกัน สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของทวาย ในช่วงฤดูลมสงบชาวประมงบ้านพิดับจะมีรายได้จากการประมงประมาณวันละ 1 แสนจ๊าด หรือราว 3,000 บาท

ฉันและเพื่อนนักเขียนในกลุ่มเมื่อได้ยินตัวเลขรายได้นี้แล้วถึงกับร้องโอย อยากเปลี่ยนอาชีพมาเป็นชาวประมงบ้าง

 

จากตัวเลขรายได้อันงามและสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยแสนสบาย ฉันว่าเป็นใครก็ไม่อยากย้ายไปไหน ไม่ว่าจะที่อยู่ใหม่จะใหญ่โตสะดวกสบายเพียงใด

 

ที่ทวายฉันกับเพื่อนร่วมทาง ได้แวะเวียนไปที่หมู่บ้านจัดสรรที่เขาจัดไว้ให้ชาวบ้านซึ่งต้องสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยเดิมให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มันเป็นบ้านสองชั้นแบบแปลนเดียวกัน ตั้งเรียงรายชิดใกล้กัน ต่างจากที่อยู่อาศัยเดิมของชาวทวายส่วนใหญ่ บ้านแต่ละหลังออกแบบตามความชอบของเจ้าของบ้าน ตั้งอยู่ห่างกันและมักจะมีบริเวณบ้านพอได้ปลูกต้นไม้ร่มรื่น หรือแม้จะเป็นบ้านหลังเล็กก็ยังน่าอยู่ด้วยความอบอุ่น ไม่แลดูแข็งแห้งไร้ชีวิตชีวา

 

ฉันคงไม่ได้มองโลกในแง่เดียวหรือในมุมของตัวเอง เพราะยังมีชาวบ้านในย่านนั้นที่ไม่ยอมย้ายออกจากบ้านหลังเล็กๆของตัวเองมาอยู่บ้านจัดสรรสองชั้น

บ้านจัดสรรสำหรับชุมชนที่ต้องย้ายออกเพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
บ้านจัดสรรสำหรับชุมชนที่ต้องย้ายออกเพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

แบบแปลนบ้านจัดสรรที่สร้างไว้รองรับชาวบ้านที่จะถูกเหวี่ยงออกจากชุมชนเดิม มันช่างออกมาคล้ายคลึงกันไปทุกแห่ง อย่างที่เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี ประเทศลาว ที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ ซึ่งต้องยกหมู่บ้านออกไปหลายหมู่บ้าน สูญเสียที่นาไปจำนวนมาก บ้านจัดสรรที่นั่นก็หน้าตาออกมาทำนองนี้ เรียงเป็นแถวแนวติดๆกันเป็นพืด

 

ว่าไปแล้วประชากรประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ล้วนทำการเกษตร ยกเว้นยุโรปอาเซียนอย่างสิงคโปร์ที่ไม่มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ดังนั้นที่ดินจึงเป็นหัวใจสำคัญของพี่น้องเกษตรกรอาเซียน ทว่าในโลกแห่งการค้าเสรีที่ทุกอย่างต้องแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการขนส่ง โครงการก่อสร้างต่างๆเพื่อเสริมส่งการค้าจึงเกิดขึ้น และเบียดบังพื้นที่ดั้งเดิมอย่างเลี่ยงไม่พ้น

 

อย่าได้กระพริบตา เพราะเผลอเมื่อไรอาจจำประเทศอาเซียนดั้งเดิมไม่ได้

เมืองใหม่กำลังดาหน้าเข้ามา

 

=========================

โดย จิตติมา ผลเสวก

On Key

Related Posts

ชาวนาลุ่มน้ำกกนับแสนไร่หวั่นแช่สารพิษระหว่างดำนา สภาเกษตรกรเชียงรายจี้รัฐชี้แจงด่วน เผยทุกข์ซ้ำหลังจากราคาข้าวตก ผวจ.เชียงรายเผยตรวจคุณภาพน้ำ-ตะกอนดินได้ไม่ต่อเนื่องเหตุข้อจำกัดด้านห้องปฎิบัติการ

นายวรวัฒน์ เดชวงค์ยา สาธารณสุขอำเภอแม่อาย เชียงใหมRead More →

ฟื้นประเพณี “ตบประทราย”กลางลำน้ำโขงหลังขาดหายไปนับสิบปี ชาวบ้านหวังร่วมกันอนุรักษ์นก หลังรังถูกน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจีนท่วม

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 ชาวบ้านโคกสารท่าและเครืRead More →