
เมื่อค่ำวันที่ 20 มกราคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านต่างๆหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ตาก แม่ฮ่องสอน รวมถึงกะเหรี่ยงอำเภอหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ใจเขา ใจเรา ใจแผ่นดิน”เพื่อแสดงจุดยืนและเป็นกำลังใจให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่อพยพคืนถิ่นฐานป่าใหญ่ “ใจแผ่นดิน”
ทั้งนี้กิจกรรมเริ่มขึ้นโดยให้พะตีจอนิ โอ่โดเชา ผู้อาวุโสและปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง จากอ.แม่วาง จ.เชียงใหม่กล่าวถึงปัญหาของชาวบ้านบางกลอย โดยพะตีจอนิกล่าวว่าเห็นด้วยที่ชาวบ้านบางกลอยอพยพกลับขึ้นไปเพราะพวกเขาอยู่ที่นั่นมาก่อน แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าอยู่ไม่ได้ ปู่คออี้เรียกร้องอยากกลับไปบ้านตั้งนานแล้ว ครั้งนี้น่าจะสำเร็จแล้ว จริงแล้วเจ้าหน้าที่น่าจะช่วยเหลือเพราะเขากลับไปอยู่บ้านเก่า ทั้งทหาร ตำรวจ ป่าไม้ น่าจะอนุญาตให้เขากลับไป และเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบเพราะพวกเขาเป็นคนไทย

“พวกเขาอยู่บนดอยต้องมีไร่หมุนเวียน ควรช่วยกันรับผิดชอบพวกเขา ดีกว่าไปไล่เขาลงมาอีก อยากให้พวกเขาได้ดูแลป่าเหมือนที่บรรพบุรุษสอนไว้ พวกเราปกาเกอะญอผูกสายสะดือไว้กับต้นไม้ เราจึงต้องดูแลป่า ขอให้พี่น้องบางกลอยอยู่ดีมีสุขได้กลับไปบ้านเกิดเมืองนอน” พะตีจอนิ กล่าวก่อนกับจุดเทียนเล่มแรกพร้อมชักชวนให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงร่วมจุดเทียน โดยชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านต่างๆ ได้ร่วมกันจุดเทียนเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านบางกลอย

ขณะเดียวกันในระหว่างที่ชาวบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จุดเทียนให้กำลังใจชาวบ้านบางกลอยอยู่นั้น นายสมชาติ รักษ์สองพลู ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องว่า ขอให้รัฐแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลายเพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยปราศจากอำนาจการควบคุมของหน่วยงานรัฐ รวมถึงให้การคุ้มครองความปลอดภัยของชาวบ้านบ้านบางกลอย รัฐต้องยินยอมให้ชาวบ้านที่ยืนยันจะกลับคืนสู่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน สามารถตั้งถิ่นฐานและดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ และให้การยอมรับไร่หมุนเวียนที่อยู่ในความคุ้มครองของมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องอาหารและปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตในสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ขอให้พี่น้องคนไทยในสังคมร่วมกันเรียกร้อง ตรวจสอบ และติดตามการดำเนินงานของภาครัฐในการให้ความคุ้มครองชุมชนบางกลอย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกชีวิตและไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอีก พวกเรากะเหรี่ยงภาคเหนือ ขอยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยบนเส้นอุดมการณ์การทางการต่อสู้เพื่อปากท้อง สิทธิชุมชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์” นายสมชาติ กล่าว

ผศ.สุวิชาญ พัฒนาไพรวัลย์ และชาวบ้านแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันจุดเทียนเช่นกัน โดยนายสุวิชาญกล่าวว่า ทุกชีวิตต่างมีความสัมพันธ์กัน พวกเราคือครอบครัวเดียวกัน ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์คือความเจ็บปวดของเรา ตอนนี้ชาวปกาเกอะญอกำลังเผชิญปัญหาร่วมกันในนโยบายด้านป่าไม้ การชาวบ้านบางกลอยที่กลับไปสู่บ้านเกิดครั้งนี้ถือว่าเป็นไพ่ใบสุดท้ายหรือโอกาสสุดท้ายในชีวิตของพวกเขาที่ทำให้ลูกๆ ได้มีข้าวกิน เพราะตลอดเวลากว่า 10 ปี ที่ชาวบ้านบางกลอยถูกบังคับอพยพให้ลงมาอยู่ด้านล่าง พิสูจน์ให้เห็นว่าเกิดอะไรกับพวกเขา ในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีจิตสำนึก พวกเขาจึงมองว่าอยู่ข้างบนดีกว่าข้างล่างแน่นอน รัฐต้องทบทวนการเอาคนออกจากป่าว่าเป็นคนตอบที่ถูกต้องหรือไม่

“เขาเอาคนออกจากใจแผ่นดินได้ แต่เอาใจแผ่นดินออกจากชาวบ้านไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฎิเสธความจริงได้ ชาวบ้านจึงต้องหาทางกลับไปอยู่เพราะเขาฝังรก ผูกสะดือไว้ที่ต้นไม้ที่นั่น จิตวิญญาณเขาอยู่ที่นั่น เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ตอนนี้เรากลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่รัฐใช้ยุทธการตะนาวศรี จนศาลพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำเกิดกว่าเหตุ พวกเราอยู่ที่แม่แจ่ม เวลานี้อากาศหนาว แต่พี่น้องบางกลอยที่อยู่ในป่าคงหนาวกว่า โดยเฉพาะหนาวใจเพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรงกับพวกเขา” นายสุวิชาญ กล่าว
ด้านนายพฤ โอ่โอเชา และชาวบ้านป่าคาใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้ร่วมกันจุดเทียนกล่าวว่า เขาใช้กฎหมายปิดกั้นสิทธิของชาวบ้านดังนั้นต้องแก้โดยเอากฎหมายเหล่านี้ออกไป ชาวบ้านบางกลอยที่ขึ้นไปข้างบนในป่า ถ้าเป็นคนในเมืองอาจไม่อยากขึ้นไป แต่พวกเขาขึ้นไปเพราะหวังจะได้ปลูกข้าวและได้กินข้าว ซึ่งกว่าจะได้ทำไร่หมุนเวียนและได้ผลผลิตก็เดือนพฤศจิกายน ปกติกะเหรี่ยงจะมีข้าวจากปีที่แล้วเก็บไว้ แต่ชาวบ้านบางกลอยไม่มีซึ่งน่าเห็นใจมาก พวกเราปกาเกอะญอให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องก่อน เรื่องการนอนมาเป็นอันดับสอง เรารู้สึกสะเทือนใจมากเพราะพวกเราอยู่ในเขตป่ากันทั้งนั้น แต่กฎหมายมาประกาศทับ ทำให้พวกเราผิดกฎหมายกันหมด ทั้งๆ ที่เราอยู่มาก่อนกฎหมาย เมื่อมีคดี พอศาลตัดสินก็บอกว่าพิพากษาตามกฎหมาย
“ พี่น้องคนไทยต้องช่วย แค่คนชาติพันธุ์อย่างเดียวไม่มีความหมาย วันนี้ชาวบางกลอยกล้ามากที่ไปเผชิญโลกเก่า เผชิญกับกฎหมาย ขอเรียกร้องคนไทยให้ช่วยปกป้องด้วย เพราะลำพังพวกเรารัฐบาลคงไม่ได้ยิน ขอให้กำลังใจพี่น้อง อยู่ที่ไหนเขาก็ไม่ให้อยู่ เราต้องเข้มแข็งไว้ อาจต้องถูกจับดำเนินคดี ลูก พ่อแม่ อาจจะต้องพรากจากกัน แต่พี่น้องก็จะต้องสู้เพื่อที่จะได้อยู่ที่นั่นต่อ เพราะนั่นคือชีวิต วิถี ความชอบธรรมที่เราจะได้อยู่ที่นั่น” นายพฤ กล่าวว่าทั้งน้ำตา
นายนิยม เที่ยวพราย และชาวบ้านห้วยกระซู่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ได้ร่วมกันจุดเทียนให้กำลังใจชาวบางกลอยเช่นกัน โดยนายนิยมได้อ่านแถลงการณ์ว่า กรณีพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยจำนวน 50 คนขึ้นไป ได้กลับขึ้นไปทำกินยังที่เดิม ที่บ้านบางกลอยบนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรได้รับการสนับสนุน จากภาครัฐ เนื่องจากพื้นที่ทำกิน เป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยมาแล้วหลายร้อยปี หลายชั่วอายุคนและการทำกินแบบไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงนั้น ไม่ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายข้อใหนห้ามทำไร่หมุนเวียน การทำไร่หมุนเวียนนั้นเป็นการทำกินแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ดูแลธรรมชาติ อิงกับธรรมชาติ จึงทำให้ ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่น ย่อมมีป่าที่อุดมสมบูรณ์เสมอ
“พวกเราชาวหนองหญ้าปล้องรู้สึกเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และห่วงว่ามีข้าวกินหรือไม่เพราะไปกันเยอะ ที่สำคัญคือกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรงกับพวกเขาหรือเปล่า หากมีความรุนแรงพวกเราพร้อมร่วมต่อสู้ร่วมกับชาวบางกลอย” นายนิยม กล่าว
นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร กล่าวว่าเห็นบรรยากาศจุดเทียนให้กำลังใจชาวบ้านบางกลอยแล้วรู้สึกมีพลัง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกะเหรี่ยงเป็นเรื่องของโครงสร้างความไม่เป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่มั่วไปหมด อยากให้พี่น้องกะเหรี่ยงลุกขึ้นมาร่วมกั้นสู้ อยากฝากสังคมและผู้ถือนโยบายโดยเฉพาะกรมอุทยานฯ ที่เข้าไปผลักดันชาวบ้านบางกลอยว่า พี่น้องบางกลอยต้องปลอดภัย
——————-