Search

รอยด่างในผืนป่าแก่งกระจาน

——————

ภาสกร จำลองราช

————

การอพยพกลับไปอยู่หมู่บ้านบางกลอยเดิม ในป่าใหญ่ของผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 นอกจากเหตุผลเรื่องการไม่ได้รับจัดสรรที่ดินทำกินตามที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเคยสัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2539 อีกเหตุผลหนึ่งคือชาวกะเหรี่ยงบางกลอยรู้สึกกังวลเรื่องการเสนอขึ้นทะเบียนให้ป่าผืนนี้เป็นมรดกโลก

“มรดกโลกเป็นอย่างไร พวกเรายังไม่รู้จักเลย ไม่เคยมีคำอธิบาย กลัวว่า ยิ่งเป็นมรดกโลก ชีวิตของพวกเราจะยิ่งยุ่งยากและจะเข้าไปอยู่ในป่าไม่ได้เลย” ชาวบ้านบางกลอยรายหนึ่งสะท้อนความในใจ “อุทยานฯ พาชาวต่างชาติลงพื้นที่ แม้มีตัวแทนของพวกเรา 2 คนไปร่วมด้วย แต่เขาไม่เคยถามความเห็นเลย แถมยังใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันซึ่งพวกเราไม่รู้เรื่อง”

ตัวแทนอุทยานแก่งกระจานและผู้แทนรัฐบาลไทยได้นำคณะทูตานุทูตรัฐภาคีสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก 8 ประเทศลงพื้นที่ชมความงดงามและอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ขณะที่ชาวบ้านบางกลอยรู้สึกอึดอัดและเป็นกังวลใจอย่างยิ่ง แต่กลับไม่มีหน่วยงานราชการใดๆ ชี้แจงพวกเขาให้ได้รับความกระจ่าง

ในที่สุดเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ชาวบ้านบางกลอยจำนวน 110 คนจึงได้ร่วมกันลงชื่อในหนังสือถึงคณะกรรรมการมรดกโลก ทั้งโดยการเซ็นชื่อและเขียนด้วยลายมือ สำหรับคนที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ โดยข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.แก้ไขที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อนเพราะปัจจุบันการแก้ปัญหาแทบตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน 2.ชุมชนต้องการสืบทอดวิถีการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย 3.ต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย

ตอนท้ายของหนังสือดังกล่าว ชาวบ้านยังได้เน้นย้ำว่า “พวกเราไม่เคยคิดขัดขวางการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือการเคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตควบคู่กับป่าอุดมสมบูรณ์มายาวนานเพราะต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลกันโดยตลอดจนสามารถรักษาผืนป่าแห่งนี้มาได้จนถึงปัจจุบัน”

สื่อมวลชนหลายสำนักได้เผยแพร่หนังสือของชาวบ้านบางกลอยฉบับนี้ แต่ผลตอบรับจากรัฐบาลคือความเงียบงัน จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2564 ชาวบ้านบางกลอยกลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจอพยพกลับถิ่นฐานดั้งเดิมโดยหลบเลี่ยงสายตาของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หลังจากนั้นการอพยพระลอก 2 และระลอก 3 ก็ตามมา แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่จากการประมาณการของผู้ใหญ่บ้านบางกลอยที่ทำการสำรวจครัวเรือน คาดว่ามีชาวบ้านบางกลอยอพยพขึ้นไปอยู่หมู่บ้านเดิมไม่น้อยกว่า 70 คน ทำให้บรรยากาศในหมู่บ้านบางกลอยใหม่ที่เป็นแปลงอพยพเงียบเหงาลงมาก

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจกลับขึ้นไปอยู่ในป่าใหญ่ เนื่องจากหนุ่มสาวที่เป็นกำลังแรงงานซึ่งออกไปรับจ้างตามเมืองต่างๆ ต้องตกงานเนื่องจากการเลิกจ้างและกลับคืนสู่ครอบครัว รายได้ของคนเหล่านี้เป็นรายได้หลักของครอบครัวที่ใช้ซื้อข้าวและอาหาร เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน จึงไม่สามารถปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงได้

“อยู่ก็อดตาย” นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ให้เหตุผลที่ชัดเจน ตัวเขาเองก็ไม่รู้มาก่อนว่าชาวบ้านจะอพยพขึ้นไป “เขาคงไม่อยากให้ข่าวมาถึงผม เพราะถ้าผมรู้ผมก็ต้องห้าม”

จริงๆ แล้วปัญหาของชาวบ้านบางกลอยโดยเฉพาะข้อเรียกร้องเรื่องจัดสรรที่ดินทำกินให้พอเพียง ได้มีการพูดมานานแล้ว ซึ่งหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เคยเสนอแนะไปยังรัฐบาลให้เร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้าน แต่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาน้อยมาก

ชาวบ้านบางกลอย 391 คนถูกอพยพจากป่าใหญ่ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2539 โดยอุทยานฯ สัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้เพียงพอ แต่อุทยานฯกลับไม่ปฏิบัติตามสัญญา ชาวบ้านจึงอพยพกลับไปอยู่ที่เดิม ในปี 2554 รัฐบาลใช้วิธีรุนแรงโดยการเผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวเพื่อกดดันให้ชาวบ้านมาอยู่พื้นที่ด้านล่าง แต่ก็ยังไม่มีการใดๆ ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่ดินให้ชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา “คนอยู่กับป่า” ได้หรือไม่ กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมไทย ขณะที่หน่วยงานรัฐพยายามเพิ่มอำนาจการควบคุมผืนป่าไว้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่กลับไม่แก้ปัญหาชุมชนที่อยู่มาก่อนป่าอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตแนบแน่นอยู่กับป่าต้องเผชิญกับผลกระทบมากมาย กรณีของชาวบ้านบางกลอย เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความล้มเหลวในระดับนโยบายของรัฐบาลไทย

การศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ทั่วโลกได้เรียนรู้แล้วว่าการอนุรักษ์เฉพาะสายพันธุ์พืชและสัตว์เท่านั้นแทบไม่ได้ผล แต่นโยบายอนุรักษ์ป่าในปัจจุบันพบว่าการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่กรณีป่าแก่งกระจานกลับตรงกันข้าม

การมองไปข้างหน้าร่วมกัน กรณีชาวบ้านบางกลอยซึ่งเป็นเพียงหนึ่งชุมชน ชาวบ้านที่ต้องการกลับขึ้นไปดำรงชีพในป่าที่เป็นบ้านเดิมนั้นมีเพียงไม่กี่สิบครอบครัว จึงอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ไม่ยาก หากรัฐบาลทำกันอย่างตรงไปตรงมาและจริงจัง

———————

On Key

Related Posts

ชาวบางกลอยกลุ่มใหญ่ยืนยันเจตนารมณ์กลับดินแดนบรรพชน“ใจแผ่นดิน” หลายภาคส่วนร่วมกันจัดงานรำลึก 11 ปี ‘บิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย-หวังความยุติธรรมปรากฎ “วสันต์ สิทธิเขตต์”แต่งเพลงให้กำลังใจชุมชนถูกกดขี่

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 25Read More →

กองกำลังชาติพันธุ์-PDF ผนึกกำลังครั้งใหญ่เปิดศึกไล่ฐานทหารพม่า บก.ควบคุมยุทธศาสตร์ที่ 12 -มุ่งเป้าตัดเส้นทางเชื่อมต่อเมืองเมียวดี ทัพตัดมะดอว์ส่งบินรบทิ้งระเบิดหนักหน่วงสะกัดกั้น

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 พะโดซอตอนี (Padoh Saw TRead More →