Search

24 ปีกับการก่อตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ

———

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

——–

  21 ปีกับการทำงานอย่างต่อเนื่องกับการปกป้องแม่น้ำโขง เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำซึ่งเกิดจากการพัฒนา คือ เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานตอนบนเป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี จากเขื่อนตัวที่1ถึงตัวที่ 11 และอีก2 เขื่อนตอนล่าง ไซยะบุรีและดอนสะโฮง ผลกระทบสะสมเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนหนักไม่เป็นไป ตามธรรมชาติ ตามฤดูกาลซึ่งเกิดจากการควบคุมด้วยผลประโยชน์ของเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า การเดินเรือพาณิชย์ในฤดูแล้ง

ตรรกะหรือความคิดของผู้สร้างเขื่อนให้เหตุผลและประโยชน์ของเขื่อนจีนมาตลอดว่า การกักน้ำในฤดูน้ำหลาก และการปล่อยน้ำในฤดูแล้ง คือการช่วยเหลือประเทศท้ายน้ำเป็นการป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน และภัยแล้งในฤดูแล้ง ความคิดและการกระทำเช่นนี้จึงทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและผู้คนตลอดสายน้ำโขง

 ธรรมชาติแม่น้ำโขงการขึ้นลงของระดับน้ำจะเป็นไปตามฤดูกาล น้ำจะเริ่มยกระดับเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนใหม่ราวเดือนพฤษภาคม สีของแม่น้ำจะเริ่มขุ่นขึ้นจากตะกอน น้ำยกระดับขึ้นเรื่อยๆจนเดือนสิงหาคมถึงกันยายน น้ำจะถึงระดับสูงสุดในรอบปี ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่แม่น้ำโขงจะไหลย้อนเข้าไปในแม่น้ำสาขา บางปีน้ำมากแม่น้ำโขงจะไหลย้อนเข้าไป 30-40 กิโลเมตร(แม่น้ำอิง สาขาแม่น้ำโขง) เมื่อแม่น้ำโขงเอ่อไหลเข้าไปแม่น้ำสาขาทำให้น้ำเข้าไปท่วมพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ หรือ Wetland ปลาจำนวนมากมายจากแม่น้ำโขงจะอพยพเข้าไปวางไข่ ขยายพันธุ์ และเจริญเติบโตในพื้นที่เหล่านี้ซึ่งมีอยู่จำนวนมากตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง และปริมาณน้ำจำนวนมากมายที่ไหลย้อนเข้าไปก็จะถูกเก็บกักอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำในหนองน้ำธรรมชาติทำให้เกิดความชุ่มชื้นและรักษาระบบนิเวศน์ของแม่น้ำ

 จากการที่เขื่อนกักน้ำในฤดูน้ำหลาก ทำให้น้ำต้นทุนจากฝนและการละลายของหิมะที่เคยไหลลงมาตลอดหายไป ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจึงต่ำกว่าที่เคยเป็นมา แต่ในอดีตเมื่อน้ำไม่ไหลเข้าไปยังแม่น้ำสาขา ปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่ พื้นที่ชุ่มน้ำ และน้ำไม่ท่วมเกิดความแห้งแล้งมีปัญหากับปริมาณน้ำในแม่น้ำสาขา

 การปล่อยน้ำในฤดูแล้งก็เป็นเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้าและการเดินเรือ การปิด- เปิดเขื่อนทำให้เกิดการผันผวนของระดับน้ำมีผลกระทบกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต เช่น นกท้องถิ่น นกอพยพจากตอนเหนือจำนวนมากที่อาศัยและวางไข่ตาม หาด ดอนเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำรังนกที่วางไข่ตามหาดดอนก็ถูกน้ำท่วม ตลอดสายน้ำโขง

 ความผันผวนของระดับน้ำ การหายไปของตะกอนปรากฎการณ์แม่น้ำโขงเป็นสีฟ้า ทำใหเกิดการพังทลายของตลิ่งแม่น้ำโขง จึงเกิดการก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งตลอดชายแดนแม่น้ำโขงเป็นระยะทางกว่า800กิโลเมตร กิโลเมตรละประมาณ 120 ล้านบาทหมดเงินจากภาษีประชาชนเกือบแสนล้านบาท ทั้งยังเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศริมฝั่งอีก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจากการศึกษาของเอ็มอาร์ซีได้พูดถึงตะกอนจะหายไปจากปากแม่น้ำโขง 97 เปอเซ็นต์ หากมีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตามแผน นี่คือหายนะของแม่น้ำโขงกำลังคืบคลานเข้ามา

ปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงต้องได้รับการแก้ไข ด้วยการมองแม่น้ำโขงคือแม่ของพวกเรา ไม่ว่า จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชาเวียดนาม เราดื่มน้ำสายเดียวกัน ประชาชนต่างได้รับผลกระทบ แต่การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายนับตั้งแต่อดีตยังไม่เคยมี อำนาจและการควบคุมแม่น้ำโขงคงอยู่แต่ในกลุ่มรัฐ และกลุ่มทุนเท่านั้น การทำให้เกิดความเป็นธรรมกับแม่น้ำโขงและคนลุ่มน้ำโขงประเทศที่เข้าร่วมพัฒนาแม่น้ำโขงต้องมองเห็นประชาชน มองเห็นแม่น้ำคือชีวิต คือการแบ่งปันการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม่น้ำโขงหาใช่เป็นของกลุ่มทุน หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง

On Key

Related Posts

ชาวบางกลอยกลุ่มใหญ่ยืนยันเจตนารมณ์กลับดินแดนบรรพชน“ใจแผ่นดิน” หลายภาคส่วนร่วมกันจัดงานรำลึก 11 ปี ‘บิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย-หวังความยุติธรรมปรากฎ “วสันต์ สิทธิเขตต์”แต่งเพลงให้กำลังใจชุมชนถูกกดขี่

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 25Read More →