
นายประเสริฐ พุกาด ชาวบ้านบางกลอย 1 ใน 22 ซึ่งถูกจับในข้อหากระทำผิดฐานยึดถือหรือครอบครองที่ดิน แผ้วถาง เผาป่าหรือกระทำใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม และถูกนำตัวไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี 2 คืน ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว The Reporters
นี่เป็นเนื้อหาบางช่วง บางตอน
“ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่เราไม่รู้ว่าใครประกันตัวหรือทำไมถึงได้รับการปบ่อยตัวชั่วคราว เราไม่ได้พบทนายตั้งแต่แรก ยังไม่รู้ว่าทนายเป็นใคร เราไม่ได้เจอทนายเลย มีทนายอยู่เหมือนกันตอนแรกแต่ไม่รู้เป็นใคร แต่ตอนปล่อยตัวเรา ไม่มีทนาย เขาอ่านเอกสารให้ฟัง เรารับทราบ บางคนไม่รู้เรื่องเพราะเป็นภาษาไทยโดยมีคนแปล
“ฟังไม่รู้เรื่องเราก็เลยต้องยอมรับหมด ทางป้ากิ๊ป(นางกิ๊ป ต้นน้ำเพชร)ก็สงสัยทำไมเราถึงได้รับการประกันตัวชั่วคราววันอาทิตย์ ทางศาลบอกว่าไม่จำกัดเสาร์อาทิตย์ เราก็ยังงงอยู่ ตอนแรกผู้อำนวยการในเรือนจำบอกได้รับประกันตัววันจันทร์ เพราะเสาร์อาทิตย์เป็นหวัดหยุดราชการ แต่จู่ๆ เราได้รับการปล่อยตัว เราก็ยังงงกันอยู่
“แต่ละคนก็คิดมาก อยู่ๆ มานอนในเรื่องจำ มันผิดอย่างไร ทั้งๆ ที่เราไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่บรรพบุรุษ เราไม่ได้บุกรุกพื้นที่ของรัฐ รัฐประกาศสิทธิหลังกะเหรี่ยง เรารู้สึกไม่เป็นธรรมเหมือนกับรัฐเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรมกับเผ่ากะเหรี่ยงของเรา
“ตอนที่ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ที่ชื่อเนตรนภาขึ้นไปเจรจา เขาบอกกับผมว่าให้ไปอยู่ข้างล่างมั้ย เดี๋ยวเขาจัดสรรที่ดินให้ ความเจริญในหมู่บ้านอยากได้อะไรเดี๋ยวรัฐช่วยได้
“เนตรนภาถามผมว่าปีหนึ่งชาวบ้านกะเหรี่ยงทำไร่กว้างขนาดไหน ผมบอกว่าไม่รู้เพราะไม่เคยทำ แล้วผมยกตัวอย่างไร่นี้เท่าไร เขาบอก 15 ไร่แล้ว เขาเอามาคูณกับ 10 ปีแค่ครอบครัวเดียวต้องการพื้นที่ 150 ไร่ แล้วก็มาคูณกับ 36 ครอบครัว ตกประมาณ 5 พันไร่ สื่อก็ออกมาว่าชาวบ้านบางกลอย 36 ครอบครัวต้องการพื้นที่ 5 พันไร่ ซึ่งไม่ใช่ จริงๆ เราไม่ได้ต้องการ 5 พันไร่
“ผมเคยทำไร่กับพ่อแต่ตอนเด็กๆ แต่ไม่ได้ตั้งใจเรียนรู้ เพราะต้องเรียนหนังสือด้วย กลับไปทำแค่ช่วงเสาร์อาทิตย์ ยุ้งข้าวพ่อที่ถูกเผา ปีนั้นผมก็กลับขึ้นไปทำกับพ่อ แต่ตอนนั้น(ยุทธการตะนาวศรี)ผมไม่ได้ขึ้นไปอยู่”
-ถามว่าเป็นคนรุ่นใหม่ทำไมถึงคิดกลับไปอยู่ในป่าเขาซึ่งไม่มีไฟฟ้าหรือไม่มีอะไรเลย
“จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ต้องการความเจริญมากมาย แค่ได้กลับไปอยู่ในที่บรรพบุรุษเคยอยู่ แค่พอกิน อย่างน้อยก็ดีกว่าไปเป็นคนรับใช้ บางทีได้นายจ้างดีก็ดีไป ได้นายจ้างไม่ดี มีด่าถูกหักเงินเดือน ผมไม่ได้อยากมาเป็น การเป็นลูกจ้างไม่ได้มีเวลาพักเหมือนทำไร่หมุนเวียน พอเสร็จก็ต้องทำต่อ แต่ที่พ่อและปู่ย่าตายายเคยทำไร่หมุนเวียน พอเสร็จจากการเกี่ยวข้าวก็มีเวลาพัก แต่เป็นลูกจ้างเวลาพักก็ถูกหักเงินเดือน”
-ถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เจ้าหน้าที่บอกว่าขึ้นไปแล้วทำลายป่าต้นน้ำ
“เขาพูดไม่เหมือนความคิดของเรา เขาว่าเราไปทำลาย ถ้าเราทำลาย(ป่า)จริงๆ ก็ต้องทำลายตั้งแต่บรรพบุรุษของเราแล้ว เมื่อก่อนมีต้นตะเคียนใหญ่ แต่บริษัทไปตัดไม้เลยไม่มี บางต้นยังตีตราว่าจะต้องเอา ตอนนี้ยังเหลืออยู่ ถึงเราจะทำไร่แต่เราไม่ได้เอาต้นไม้ใหญ่ๆ ออกมาจากป่า เราแค่โค่นกอไผ่ในไร่ซาก ตัดทิ้งไว้ถึงเวลาเผาก็เผา เราไม่ได้ตัดต้นไม้ใหญ่ออกมาขายเหมือนรัฐบาล”
-ถามว่าเสียใจหรือไม่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกทั้งๆที่เราเกิดที่นั่น
“เสียใจ ถ้า(กล่าวหา)อย่างนั้นเขาต้องไปสอนบรรพบุรุษเราแล้ว มาสอนกับเราไม่ได้ เพราะความผิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกผม ถ้าพวกผมบุกรุกจริง ปัจจุบันต้นไม่ใหญ่ๆ คงไม่เหลือแล้ว ถ้าบรรพบุรุษเราบุกรุกต้นน้ำเพชรจริง ต้องสูญเสีย(ป่า)ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราแล้ว เราเคยอยู่มาก่อน ถ้าเราทำลายป่าจริง ต้องสูญเสียตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว การทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การทำลายป่า”
-ถามว่า มีการบอกว่าที่ขึ้นไปครั้งนี้เพราะถูกยุยงจากคนภายนอก
“ที่เขาบอกว่า 4 คน จะนับแค่ 4 คนไม่ได้หรอก ต้องนับ 30 กว่าคนที่ขึ้นไป เป็นความสมัครใจของแต่ละคน จริงๆ แล้วไม่มีใครยุยงให้ขึ้นไป (ที่บอกว่า 4)คนที่ยุยงให้เราขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน เป็นกองหนุนให้พวกเรา จริงๆ พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของพวกเรา พวกเรานี่แหละครับคือกองหนุนช่วยกันเอง
“ที่เขาว่าพี่แบ้งค์(นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร)เป็นแกนนำกะเหรี่ยงให้เราขึ้นไป จริงๆ พี่แบ้งค์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพียงแต่พี่สาวชวนขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน อยากให้เขาไปเรียนรู้วิถีบรรพบุรุษเป็นอย่างไร ป้ากิ๊ปบอกว่า ป้ากิ๊ปแค่ไม่รู้ภาษาไทย และแบ้งค์เป็นคนแปลเป็นล่ามให้”