Search

ชาวบ้านบางกลอยปักหลักหน้าทำเนียบต่อหลัง “บิ๊กตู่”หลุดปากไม่ยอมให้กลับใจแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยคณะกรรมการ 28 คน ประกอบด้วยผู้แทนภาคราชการ อาทิ อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นักวิชาการ อาทิ ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธาน

ในคำสั่งฉบับนี้ได้ระบุหน้าที่และอำนาจว่า 1.ศึกษา รวบรวมปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย 2.ศึกษา รวบรวมปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคดีปกครอง คดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย  3.เสนอแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและมาตรการในการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

4.เร่งรัดอำนวยการดำเนินงาน ติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี 5.แต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฎิบัติงานได้ตามความเหมาะสม 6.เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณแก้ไขปัญหา 7.ปฎิบัติงานอื่นๆตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ทั้งนี้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ เป็น 1 ใน 4 ข้อเรียกร้อง ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลแก้ไขปัญหากรณีชาวบ้านบางกลอย โดยอีก 3 ข้อประกอบด้วย 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ต้องเปิดประชุมคณะกรรมการพีมูฟ อย่างเร่งด่วน 2.ให้นำผลการประชุมและคำสั่งแต่งตั้งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 16 มีนาคม และต้องมีแนวทางรับประกันการแก้ปัญหา 3.ให้ชะลอการส่งสำนวนคดีของชาวบ้านบางกลอย จนกว่าได้ข้อยุติทั้งหมด

ในระหว่างการประชุม ครม.ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่ง นายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของพีมูฟได้ออกมาชี้แจงกับชาวบ้าน ที่ปักหลักรอฟังคำตอบอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลว่า คณะรัฐมนตรี ได้รับทราบการเจรจาเรื่องบางกลอย โดยนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้ทันที ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ได้เรียนครม.ว่า ได้เจรจาจนเรียบร้อย ดำเนินการไปตามข้อเสนอบางกลอย และครม.ได้รับทราบคำสั่งนี้ โดยในวันที่ 18 มีนาคม ร.อ.ธรรมนัสและตน พร้อมทั้งคณะของกระทรวง ทส. จะลงพื้นที่หมู่บ้านบางกลอย เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา

ขณะที่ผู้แทนพีมูฟได้ถามถึงข้อเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับชาวบ้านจนกว่าปัญหาจะได้ข้อยุติ นายประสานชี้แจงว่า ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับทราบข้อนี้เรียบร้อยแล้ว หากวันที่ 18 มีนาคม ผู้ช่วยผบ.ตร.ไม่ติดราชการก็จะไปลงพื้นที่ด้วย

หลังจากนั้นตัวแทนพีมูฟได้แถลงข่าวโดยนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องกรณีบางกลอยมีด้วยกัน 7 ข้อ หัวใจสำคัญที่สุดคือท่าทีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)โดยเฉพาะรัฐมนตรี ทส.มีท่าทีที่เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านบางกลอย และให้ข้อมูลชี้นำในทิศทางที่ไม่เป็นประโยชน์กับการแก้ปัญหา เช่น บอกว่ามีชาวบ้านจำนวนน้อยไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของ ทส.เพียง 6% แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า ชาวบางกลอยอย่างน้อย 30% จาก 120 หลังคาเรือน ต้องการกลับพื้นที่เดิมคือ 36 ครอบครัว และ ทส.ยังบอกว่าชาวบ้านบางกลอยได้รับที่ดินจัดสรรไปแล้ว 1,300 ไร่ เฉลี่ยหลังคาเรือนละ 10 ไร่ แต่ข้อเท็จจริงที่ร่วมกันตรวจสอบกับอุทยานฯพบว่าชาวบางกลอยมีที่ดินทำกินเพียง 628 ไร่ และไม่ได้มาจากการจัดสรรแต่มาจากการบุกเบิกเพราะชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน นอกจากยังมีคนที่ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัย 70 หลังคาเรือน

นายประยงค์กล่าวว่า ประเด็นที่มีการบิดเบือนกันมากและสื่อมวลชนหลายแขนงนำเสนอออกไปว่าชาวบ้านบางกลอยต้องการที่ดินไปทำไร่ 5,400 ไร่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง ที่มาของข่าวนี้คือเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปลงมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ถามชาวบ้านว่า ไร่หมุนเวียนของแต่ละครอบครัวมีขนาดเท่าไร แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่า 1 ไร่มีขนาดเท่าไหน และบอกว่าประมาณแปลงนี้ ซึ่งแปลงที่ชาวบ้านชี้ให้ดูนั้นจริงๆไม่เกิน 4-5 ไร่ แต่เจ้าหน้าที่รวบรัดว่า 15 ไร่ และยังถามว่าต้องหมุนกี่รอบ ชาวบ้านบอกว่าแล้วแต่ความสมบูรณ์ของพื้นที่ ถ้าเร็วก็ 4-5 ปี ถ้าช้าก็10 ปี แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า 10 ปีแล้วเอาไปคูณกับ 15 ไร่ เป็นครอบครัวละ 150 ไร่ คูณกับ 36 ครอบครัว กลายเป็น 5,400 ไร่ หลังจากนั้นกรมอุทยานฯได้ทำข่าวแจกว่ากะเหรี่ยงบางกลอยร้องขอที่ดิน 5,400 ไร่ นี่คือเจตนาและเอามาใส่ปากให้รัฐมนตรีพูด

นายประยงค์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงพื้นที่ 18 แปลงที่ชาวบ้านกลับไปถางนั้น ได้มีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ก่อนปี 2539 มีร่องรอยทำประโยชน์เต็มพื้นที่ ดังนั้น 18 แปลงจึงไม่ใช่ป่าแต่เป็นไร่หมุนเวียนเดิม ดังนั้นต้องท้า ทส.หากพบว่ามีการไปทำประโยชน์อยู่จริง ทส.ต้องขอโทษชาวบ้านเพราะกล่าวหาว่าไปถางป่าใหม่ และแปลงที่ขึ้นไปถางนั้น มีพื้นที่ 154 ไร่ 8 แปลง โดยแปลงใหญ่สุด 5 ครอบครัว ถามว่าชาวบ้านต้องการที่ดินเท่าไหร่ ถ้าคิดครอบครัวละ 5 ไร่ก็ตก 180 ไร่ และปีหน้าไปทำในแปลงไร่ซากอีกแปลงหนึ่ง 180 ไร่ แต่พื้นที่เดิมกลับเป็นป่า จึงเอาไปรวมกันเป็นตัวเลขทางคณิตศาสตร์ไม่ได้ ที่สำคัญคือชาวบ้านไม่ได้ยึดถือครอบครองที่ดินเป็นของตัวเอง

“มีความพยายามบิดเบือนความจริง เขาบอกว่าไม่เคยมีชุมชนบางกลอยและใจแผ่นดินอยู่ข้างบน อันนี้เราจะได้พิสูจน์กัน เพื่อทวงสิทธิคืนมา เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯที่ต้องเอาความจริงออกมาและสรุปแนวทางแก้ปัญหา อีกประเด็นผมอยากพูดแทนคนตายคือปู่คออี้ เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานฯเอามาขยี้ว่าปู่เกิดที่เพชรบุรี หรือราชบุรี จริงๆไม่ใช่ประเด็นเพราะเป็นประเทศไทยเหมือนกัน ทั้งต้นน้ำภาชีหรือต้นน้ำบางกลอยต่างก็เป็นประเทศไทย แต่จากการดูพื้นที่ เส้นแบ่งสองจังหวัดคือสันปันน้ำ โดยหมู่บ้านใจแผ่นดินตั้งอยู่ระหว่าง 2 ลุ่มน้ำ ปู่บอกว่าเกิดทีนี่ กินน้ำนมหยดแรกที่ใจแผ่นดิน คือหมู่บ้านใจแผ่นดินที่อยู่ทั้งสองพื้นที่ แต่เจ้าหน้าที่พยายามปิดเบือนข้อมูล ดังนั้นสิ่งที่ปิดเบือนเหล่านี้ คณะกรรมการฯต้องเอาข้อเท็จจริงออกมา”นายประยงค์ กล่าว

นายประยงค์กล่าวว่า พีมูฟจะไม่เข้าไปเกี่ยวกับคณะกรรมการชุดนี้เพราะจะมีเสียงครหาว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งนี้จึงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ดังนั้นพวกที่คัดค้านและอยู่ตรงข้ามชาวบ้านหรือที่เพิ่งมายื่นหนังสือก็อย่าเข้ามาในกลไกนี้ รวมถึงสื่อบางสำนักที่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงของกรมอุทยานฯและกระทรวง ทส. โดยคณะกรรมการชุดนี้ทำงาน 30 วัน และจะครบกำหนด 15 เมษายน แต่ถ้าในวันที่ 15 ไม่มีอะไรชัดเจน พวกเราจะกลับมาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง เพราะหนังสือฉบับนี้ลงนามโดยผู้มีอำนาจสูงสุดฝ่ายบริหารแล้ว เรื่องเร่งด่วนอีกประเด็นที่เราต้องการคือผู้ที่ถูกหมายจับ 9 คน ภายใน 2-3 วันนี้ ทั้งหมดเดินทางไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวน และขอประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ภายหลังได้ข้อสรุป ก่อนที่ชาวบ้านบางกลอยเดินทางกลับหมู่บ้าน ได้มีการทำพิธี “จิบลี่”เพื่อแสดงความขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การช่วยเหลือ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างซาบซึ้งและอบอุ่น

นายประเสริฐ พุกาด ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า การได้คณะกรรมการฯขึ้นมาพิจารณานั้น พอใจแค่ 50% เพราะไม่รู้ผลจะออกมาอย่างไร โดยมีข้อกังวลคือกลัวเหมือนกับการทำงานที่ผ่านมาที่มักบอกว่าแก้ปัญหาเสร็จเรียบร้อย ทั้งๆที่ชาวบ้านยังมีปัญหาที่ดิน และคณะกรรมการแต่ละชุดก็บอกให้เราเชื่อใจ แต่สุดท้ายก็ยังเกิดปัญหากับชาวบ้าน

“เราไม่อยากได้คำพูดจากหน่วยงานราชการ ว่าจะจัดหาพื้นที่ให้ แต่เราอยากกลับไปอยู่บ้านบางกลอยบน ถ้าเขามีแนวทางให้เรากลับขึ้นไปได้ อยากให้แก้ตรงนี้มากกว่า”นายประเสริฐ กล่าว

นางกิ๊ป ต้นน้ำเพชร กล่าวว่า ยังไม่เชื่อใจเท่าไร เพราะที่ผ่านมาเคยมีการลงนามร่วมกันแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเรียกร้องที่ทำเนียบอีก อยากให้เขายุติเรื่องการดำเนินคดีก่อน เพราะไม่เคยตรวจสอบเลยว่าชาวบ้านอยู่ข้างบนมาก่อนจริงหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงข้อเรียกร้องของชาวบางกลอยว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดรัฐบาลรับไว้พิจารณา เพราะหลายอย่างต้องมีกลไกและข้อกฎหมาย ขณะนี้ต้องเจรจากันไปก่อนเพื่อหาทางออก จะแก้ด้วยปากต่อปากไม่ได้ รัฐบาลรับทราบความเดือดร้อน และจะนำไปสู่การพิจารณาแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะวุ่นวายไปหมด ขณะเดียวกันตนได้รับรายงานว่า ตอนนี้กำลังมีการเร่งรัดพัฒนาแหล่งน้ำให้ ซึ่งทุกอย่างก็ดีขึ้น และการย้ายมาพื้นที่ตรงนี้ส่วนใหญ่ก็มีความพึงพอใจ หากขาดเหลืออะไรก็เติมให้ แต่การจะกลับไปอยู่ใจกลางอุทยานที่เรียกว่าหัวใจแผ่นดินนั้นจะได้หรือไม่ แล้วคนอื่นอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งไม่มีใครอยู่ได้ทั้งนั้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า เราดูแลให้เขามีสิทธิ์ในที่ทำกินต่างๆ ซึ่งบางคนยังไม่มีที่ทำกินสักตารางนิ้ว เราต้องดูแลในเมื่อเขาอยู่ในประเทศไทย เป็นคนไทย ต้องดูตามกฎหมาย ถ้าทุกคนเคารพกฎหมาย ไม่ละเมิดซึ่งกันและกันก็จะแก้ปัญหาได้ ดังนั้น ต้องเคารพในหลักการสำคัญด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้กว้างๆ จึงต้องดูกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องด้วย กฎหมายลูกมีหลายฉบับ ถ้าทุกคนเอารัฐธรรมนูญที่เขียนไว้แล้วมาบอกว่าคือสิทธิทุกอย่างโดยไม่ดูกฎหมายลูกนั้นมันไม่ใช่ จะยุ่งไปหมด แล้วจะมีกฎหมายลูกไว้ทำไม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากชาวบ้านบางกลอยได้ขึ้นรถบัสที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้เพื่อเดินทางกลับบ้าน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แต่เมื่อเห็นท่าที่ของนายกรัฐมนตรีจากการให้สัมภาษณ์ที่พูดในทำนองไม่ให้ชาวบ้านกลับคืนป่าใหญ่ใจแผ่นดิน ทำให้ชาวบ้านเดินทางกลับมาปักหลักอยู่ที่หน้าทำเนียบเช่นเดิม

—————–

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →