Search

มุมมองของเหล่าศิลปิน หลังลงพื้นที่บางกลอย

เรื่อง/ภาพโดย นิยม เที่ยวพราย

ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2564 กลุ่มศิลปินกว่า 30 คน นำโดยวสันต์ สิทธิเขตต์ ได้เดินทางไปลงพื้นที่หมู่บ้านบางกลอย(ล่าง) อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเยี่ยมเยียนชาวบ้านลูกหลานปู่คออี้ มีมิ  ที่ยังคงลำบากจากการถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายจากป่าใหญ่ใจแผ่นดินมาอยู่ในแปลงอพยพ

หลังจากที่ทราบข่าวว่าชาวบ้านที่บ้านบางกลอยตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐสนธิกำลังกันขึ้นไปจับกุมและดำเนินคดี เพราะหนีความอดอยากขึ้นไปทำไร่ในไร่ซากเดิม ทำให้เหล่าศิลปินไม่อาจนิ่งดูดายในสภาพที่เห็น

 

“ผมได้เรียนรู้ความจริงเพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน  ผมติดตามเรื่องราวของบ้านบางกลอยมาเป็น 10 ปี ตั้งแต่งเรื่องเผาบ้าน การไล่ที่ชาวบ้าน ภาพจากกล้องบิลลี่ที่มีภาพเจ้าหน้าที่อุทยานเลื่อยไม้  จนบิลลี่หายตัวไปและพบกระดูกในถัง  หรือกิจกรรมเกี่ยวกับปู่คออี้ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมมาหลายครั้งในฐานะศิลปิน งานรำลึกปู่คออี้” วสันต์ อธิบายถึงสิ่งที่อยู่ในใจและทำให้ต้องเกาะติดสถานการณ์ของชาวบ้านบางกลอยเรื่อยมา

“พวกเขาเป็นผู้ที่ถูกกระทำ เราเป็นศิลปินเองก็รักธรรมชาติ อยากจะให้ธรรมชาติอยู่ยั่งยืน  ผมเคยไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงมาหลายแห่งตั้งแต่ปี 2526 จึงรู้จักวิถีการปลูกข้าวของพวกเขาดี เขาอยู่ได้ด้วยข้าว ทำมาหากินกันไปตามความเชื่อโบราณ สิ่งที่อยู่ในหัวของเราว่าคนชาวเขา ทำลายป่าโน่น ป่านี้มากมาย นั่นคือเรื่องเล่าเพราะเขาอยู่ในที่สูง อยู่ในป่าต้นน้ำ เราต้องเรียนรู้ว่าจริงๆ เขาอยู่อย่างไร”

วสันต์บอกว่า เมื่อ10 กว่าปีก่อน ได้รับรู้ว่ามีโครงการหนึ่งส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกดอกกุหลาบ แล้วจะมีตลาดรองรับ จนชาวบ้านปลูกกันเยอะ แล้วก็ไม่มีคนซื้อแล้วก็ทิ้งพวกเขา ชาวบ้านก็ไม่มีความรู้ แล้วเขาก็ต้องนั่งรอโครงการใหม่ พอเรามาเจอที่บ้านบางกลอยซึ่งมีประเด็นร้อนๆ คือการที่เอาเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปจับชาวบ้านที่ขึ้นไปทำไร่ที่บ้านบางกลอยบนลงมา และให้เขาทำผ้า ทอผ้า ที่มีรายได้เพียงแค่วันละ 120 บาท เท่านั้น

“ผมได้ไปบ้านหลังหนึ่ง ที่เขาทอผ้าแบบกะเหรี่ยง ทอผ้าใช้เอง ผมเคยไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่จังหวัดอุทัยธานีชื่อป้าทองดี  แกทอผ้าใช้เองอย่างมีความสุข แล้วแกก็มีความมั่นใจในตัวเอง ผมว่าสิ่งนั้นมันน่าจะเกิดที่บ้านบางกลอยเหมือนกัน ถ้าคนบางกลอยเขาได้พัฒนาสิ่งที่เขามีอยู่เดิมให้ดีขึ้น เพราะสิ่งนี้คือวัฒนธรรมที่แท้จริงของพี่น้องกะเหรี่ยง เพื่อให้เขาทำงานสืบทอดต่อไปได้ต่อเนื่อง ที่นี่คือหมู่บ้านนะ ไม่ใช่โรงงาน”

วสันต์มองว่า การที่ผู้บริหารประเทศพยายามบอกว่าลงไปคุยกันอย่างดีๆ ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเลย แต่ในความเป็นจริงนั้น มันคือการใช้อำนาจ สุดท้ายชาวบ้านก็ถูกดำเนินคดี เพราะชาวบ้านเห็นว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่วนเกี่ยวข้อง ได้ลงบันทึกในข้อตกลงไว้เรียบร้อยแล้ว เขามั่นใจว่าได้กลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีได้อย่างแน่นอน แต่สุดท้ายเขาก็ถูกดำเนินคดี

วสันต์และเหล่าศิลปินได้สำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบางกลอยที่ได้รับการจัดสรรมาบ้าง แต่ไม่ครบทุกคน โดยมีดงกล้วยที่นำมาปลูกทดแทนข้าว ชาวบ้านก็บอกว่า ตรงนั้นดี ตรงนี้ไม่มีน้ำ แต่ไม่ใช่ให้ชลประทานหรือใครเข้ามาช่วยชาวบ้าน มันไม่ใช่ ชาวบ้านมีภูมิปัญญาของเขาอยู่ เพียงแต่ว่าความขัดสน จนปัญญา ที่ไม่มีเงินแล้วจะไปจัดการอะไรได้ แล้วพวกเขาต้องรอ และงอมืองอเท้า มันหมดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหมือนตายทั้งเป็น

“ภาครัฐต้องเข้ามาเรียนรู้เรื่องของการทำไร่ข้าวของเขาว่าเขาทำอย่างไร แล้วให้เขาดูแลป่าไม้ ป่าต้นน้ำ น่าจะเป็นได้ ที่จะดูแลป่าร่วมกันและให้คนอยู่กับป่าได้ มันน่าจะทางออกที่ดีที่จะทำงานร่วมกัน”

ขณะที่อนุชิต เหมมาลา(เอ) และ อนุชา เหมมาลา(โอ) สองศิลปิน เล่าถึงสาเหตุที่ลงพื้นที่หมู่บ้านบางกลอยเพราะอยากหาแรงบันดาลใจ เมื่อเข้ามาหมู่บ้านก็ได้เห็นของจริง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในพื้นที่แห่งนี้ มันเป็นการบันทึกเรื่องราว ณ ตอนนี้

“ผมรู้สึกว่ามันเศร้านะ เราจะเห็นความร่าเริงเฉพาะแต่เด็กๆ เท่านั้น แต่เราเห็นความทุกข์ระทมในแววตาของชาวบ้าน เลยรู้สึกว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ ในระบบหลายๆ อย่าง ในความเป็นอยู่หรือว่าการทำงานหลายรูปแบบ ผมว่าเป็นการเอาเอกลักษณ์ของเขาไปหมดเลย สิ่งที่ควรจะมีและเป็นเป็นความสวยงาม ที่ควรส่งต่อกันต่อไป กลายเป็นว่าอัตลักษณ์ของเขาค่อยๆ เลือนจากหายไป ตามกาลเวลา เลยมีความรู้สึกว่า มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้” เอ สะท้อนมุมมอง ภายหลังจากได้สัมผัสชีวิตจริงของชาวบ้านบางกลอย ขณะที่โอกล่าวเสริมว่า

“ตอนที่เราได้ยินข่าวนี้ รู้สึกเศร้าใจนะ ยิ่งพอมาเจอการใช้ชีวิตจริงๆ ของเขาแล้ว เรารู้สึกเศร้าใจยิ่งกว่าเดิม มันดูเหมือนเขาไม่ใช่ตัวเขา เด็กๆ ที่เกิดตอนข้างล่างอาจไม่รับรู้เรื่องราวอะไร เขาจึงยังมีความสดใสอยู่บ้าง แต่ว่าสำหรับคนที่โตแล้ว ทุกๆ คนก็จะพูดเหมือนกันว่า ความฝันของพวกเขาคืออยู่ข้างบน(บางกลอยบน) มันเหมือนว่า ที่นี่ไม่ใช่บ้านเขาจริงๆ เมื่อเขารู้สึกว่าข้างบนเป็นบ้านของเขา เราน่าจะให้เขาไปอยู่”

เอได้สรุปปิดท้ายว่า “คนที่ตามข่าว คนที่รู้ข่าวมันเยอะ แต่แรงกระเพื่อมมันน้อย ถ้าได้มาเห็นจริงๆ เราจะรู้สึกว่าเราจะอยู่นิ่งกับมันไม่ได้ ถ้าเราฟังข่าวเพียงอย่างเดียว เราไม่ได้พูดคุย เราไม่ได้รู้ว่าปัญหาลึกๆ มันเกิดจากอะไร แล้วเขารู้สึกแบบไหน มันก็เหมือนกับว่า ความรู้สึกสงสารที่เรามองเห็น กับเรื่องของการถูกกดขี่มันมีอยู่ แต่เราอาจจะรู้สึกโดยที่เราไม่เข้าใจ แต่พอได้มาอยู่ มาพูด มาคุย เบื้องลึกของความรู้สึกของคนว่ามันอึดอัดแค่ไหน เขาเจอกับอะไรมาบ้าง เขาต้องเก็บความรู้สึกแบบไหนเอาไว้ เราอาจจะเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวที่เราได้สัมผัส แต่ว่ามันรุนแรงมาก”

On Key

Related Posts

“สารหนู”น้ำกกพ่นพิษหมู่บ้านท่องเที่ยว“กะเหรี่ยงรวมมิตร”ซบหนักยอดหาย 80% ต้องปล่อยช้างหากินในป่า-เผยชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลยังคงใช้น้ำปนเปื้อนในวิถีชีวิต-ประมงจังหวัดส่งตัวอย่างปลาตรวจ คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายดา ควานช้างปางช้างบ้Read More →

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →