Search

ชาวบางกลอยเดินหน้าสู้ขอกลับถิ่นบรรพชน-มึนถูกตั้งท่าตรวจดีเอ็นเออีก “หน่อแอะ”ทำพิธีเรียกขวัญให้กำลังใจลูกหลานก่อนเข้ามอบตัวอีก 7 คน ด้าน อ.ก.พ.ทส.มีมติลงโทษ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร”ปลดออกจากราชการ

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564  ที่สถานีตำรวจแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ชาวบ้านบางกลอย จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายสามารถ ต้นน้ำเพชร นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร นายมีชัย ต้นน้ำเพชร นายชัยพร บัวศรี นายบุญทรง ลาเดาะและนายจอเหาะ ปานดุก พร้อมด้วยทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้ามอบตัวตามหมายจับในข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ครอบครองพื้นที่อุทยาน หลังจากการเดินทางกลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคมชาวบ้านบางกลอยจำนวน 22 คน ซึ่งถูกหมายจับได้ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวลงมาจากบ้านบางกลอยบนและนำตัวมาสอบสวน ณ ที่ทำการอุทยานฯ โดยได้มีการตรวจร่างกายและตรวยดีเอ็นเอโดยที่ชาวบ้านไม่รับรู้มาก่อน และนำตัวไปฝากขังในเรือนจำจังหวัด(เขากลิ้ง) พร้อมทั้งได้โกนหัวและปล่อยตัวออกมา 

ทั้งนี้ก่อนมอบตัว ชาวบ้านทั้ง 7 คนได้เข้าพิธี “กี่จี๊” ซึ่งเป็นการเรียกขวัญและให้กำลังกันโดยนายนอแอะ มีมิ  ผู้อาวุโสประจำชุมชนและลูกชายปู่คออี้ มีมิ อดีตผู้นำจิตวิญญาณ  โดยนายหน่อแอะ กล่าวว่า เป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องเดินทางมาเพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูกหลาน การกลับไปทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นเป้าหมายสูงสุด เพราะเป็นผืนดินบรรพบุรุษ ผืนดินแห่งจิตวิญญาณของชาวบ้าน ยืนยันว่าไม่เคยโกรธ หรือคิดจะขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง พ่อ(ปู่คออี้) บอกเสมอว่าเราต้องไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร แต่หากไปทำให้ใครต้องโกรธก็สามารถมาลงโทษตนได้ ไม่ถือโทษอะไร เพียงแค่ต้องการกลับไปอยู่ในผืนดินของพ่อเท่านั้น

จากนั้นชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ในหัวข้อ “ในวันที่พวกเราทั้ง7คนกำลังจะเข้ามอบตัวในข้อหาบุกรุกบ้านตัวเอง”โดยมีเนื้อหาว่า “​พวกเราคือชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอบ้านบางกลอยและใจแผ่นดิน จังหวัดเพชรบุรี จำนวนรวม 7 คน จากทั้งหมด 30 คน ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกแผ้วถางพื้นที่อุทยานฯ หลังจากพวกเราจำนวน 36 ครอบครัว ตัดสินใจเดินเท้ากลับไปยังผืนดินบรรพบุรุษ จากผืนดินบางกลอยล่างที่รัฐบังคับอพยพโยกย้ายแล้วปล่อยให้เราต้องเผชิญชะตากรรมลำพัง ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เรามิอาจทนต่อการถูกกดขี่ได้อีก”

​แถลงการณ์ระบุว่า “บรรพบุรุษของพวกเราได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่ “เกอะเจอะคุ” หรือ “ใจแผ่นดิน” และ “บางกลอยบน” หรือ “คลี้ลอ” ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วอายุคน หรือมากกว่า 109 ปีแล้ว ตามหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารเมื่อปี 2455 พวกเรายังจำความรู้สึก ช่วงเวลาก่อนถูกอพยพได้ ภาพ “คึฉึ่ย” หรือ “ไร่หมุนเวียน” ของบรรพบุรุษเรายังคงอยู่ในความทรงจำ เราอยู่ที่นั่นมาก่อนการประกาศใช้กฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ และป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ 

แถลงการณ์ระบุว่า “ระหว่างที่เราพยายามหวนคืนบางกลอย-ใจแผ่นดิน กลับถูกกระทำย่ำยีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากมาตรการการกดดันให้ต้องกลับลงมา โดยการใช้ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” รวมถึงการดำเนินคดีกับพวกเรา และการพยายามกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยและตัดไม้ทำลายป่า ค้ายาเสพติด จนถึงวันนี้พวกเรา 30 คนถูกดำเนินคดี ชาวบ้าน 85 คนถูกกวาดต้อนลงมา นี่คือการพยายามอพยพพวกเราระลอกที่ 3 ในระยะเวลา 25 ปี พวกเราพยายามอย่างมากที่จะออกมาส่งเสียง ออกมาเรียกร้อง จนเกิดกระบวนการการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล โดยล่าสุดก็ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย ที่ลงนามแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานแก้ไขปัญหา พวกเรารู้สึกมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ว่าชีวิตที่เหลือจากนี้จะปราศจากการคุกคาม และเราจะยังได้หวนคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่โดยเร็ววัน”

​แถลงการณ์ระบุว่า “พวกเราคือมนุษย์ มีเลือดมีเนื้อ อยากจะมีบ้านให้กลับ ​เราไม่ผิด มาจับเราทำไม เพียงแค่เราจะกลับบ้าน จำต้องติดคุกด้วยหรือ วันนี้ เรามามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่คิดหลบหนี เรามาที่นี่เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ที่ตรงนั้นคือบ้านของเรา ไม่ควรมีใครควรต้องได้รับโทษโทษรุนแรงเพียงเพราะอยากจะกลับไปอาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านของตนเอง เราขอเรียกร้องว่าให้ปล่อยตัวพวกเรา เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นแล้วได้ทำงานแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่ คืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรี คืนความเป็นมนุษย์ที่พวกเราถูกพรากกลับคืนสู่พวกเราเสียที”

“​สุดท้ายนี้ พวกเราขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่คอยติดตามความเป็นไปของพวกเรา ร่วมกันส่งเสียง ให้ความช่วยเหลือ และพยายามเปิดใจกว้างเพื่อทำความเข้าใจว่าคนนั้นอยู่กับป่าได้ คนไม่จำเป็นต้องถูกแยกออกจากป่า พวกเราสัมผัสได้ถึงทุกกำลังใจ สิ่งที่เราจะตอบแทนได้ต่อจากนี้คือการยืนหยัดต่อสู้ให้ถึงที่สุด พวกเราขอยืนยันว่าจะดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล จะดูแลรักษาป่า ปกป้องต้นน้ำลำธารดังที่บรรพชนของเราทำมาตลอด เพราะบางกลอย-ใจแผ่นดินคือบ้านเกิดเมืองนอน คือชีวิต คือจิตวิญญาณของพวกเรา ที่พวกเราจะต้องดูแลรักษา ประหนึ่งดูแลรักษาจิตวิญญาณของพวกเราเอง ในช่วงชีวิตนี้ ที่นั่นจะเป็นที่ที่ฝังร่างและจิตวิญญาณของพวกเราเคียงคู่บรรพชน ในฐานะลูกหลานคนบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สักวันหากเราได้หวนคืน เราและผองเพื่อนผู้ร่วมทางจะไปกินข้าวที่ใจแผ่นดินด้วยกัน”แถลงการณ์ระบุ

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวชาวบ้านบางกลอยทั้ง 6 คน จากข้อกล่าวหาบุกรุกว่าบุกรุกแผ้วถาง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่มีหลักประกัน โดยวางเงื่อนไขไม่กลับไปกระทำความผิด หรือขึ้นไปบริเวณป่าบางกลอยบน หรือพื้นที่อื่นในเขตอุทยานฯ ที่ไม่อนุญาต หากฝ่าฝืนปรับครั้งละ 50,000 บาท และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานปกครองทุก 12 วัน โดยหมายจับในครั้งนี้มีบุคคลตามหมายจับทั้งสิ้น 30 คน มีจำนวน 22 คน ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 คงเหลือบุคคลที่ยังไม่ถูกจับกุม 8 คน และมี 1 ใน 8 คน มีชื่อในหมายจับแต่ไม่ได้ขึ้นไปทำกินบนพื้นที่บางกลอยบนแต่อย่างใด จึงไม่ได้มามอบตัวในวันนี้ด้วย

น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังสี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การสอบสวนผ่านไปด้วยดีกว่าวันที่ชาวบ้านถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม โดยก่อนหน้านี้ทีมทนายได้ประสานพนักงานสอบสวนว่าจะนำชาวบ้านเข้ามอบตัว แต่ในเช้าวันเดียวกันได้รับการประสานจากทีมพนักงานสอบสวนให้ทนายความนำตัวชาวบ้านไป ณ ที่ทำการอุทยานฯเพื่อทำการสอบสวนที่นั่นเพราะต้องการใช้กระบวนการเหมือนกับครั้งก่อนโดยมีการทำบันทึกการจับกุมโดยที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯเป็นผู้จับกุม แต่ทีมทนายความได้โต้แย้งไปว่าหมดหน้าที่ของทีมจับกุมแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน นอกจากนี้เขายังได้เตรียมการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งทางทนายความได้ถามชาวบ้านว่ายินยอมให้ตรวจดีเอ็นเอหรือไม่ ชาวบ้านบอกว่าไม่ยินยอม นอกจากนี้เขายังจัดทนายความไว้ให้ด้วย เราจึงได้โต้แย้งไปว่าชาวบ้านได้เตรียมทนายความไว้แล้ว อุทยานฯไม่เกี่ยวแล้ว

“ครั้งที่แล้วมีการตรวจดีเอ็นเอชาวบ้าน มีการเก็บเส้นผม เจาะเลือด เก็บเนื้อเยื่อในกระพุ้งแก้มไป ตัวชาวบ้านหลายคนไม่ทราบว่าเอาไปทำอะไร  เช่น หน่อแอะ ไม่ทราบเลย เจ้าหน้าที่อ้างว่าเอาไปตรวจสุขภาพ ตอนแรกเขาขอดึงเส้นผม แต่นายหน่อแอะไม่ยอม จริงๆแล้ว คดีนี้เกี่ยวกับป่าไม้ ไม่ใช่คดีฆาตกรรม ไม่จำเป็นต้องไปตรวจดีเอ็นเอ และชาวบ้านสู้ว่าที่ขึ้นไปเพราะอะไร ไม่ได้บอกว่าไม่ขึ้นไป ชาวบ้านต้องการกลับไปอยู่บ้านเดิม จึงไม่จำเป็นต้องตรวจดีเอ็นเอ ชาวบ้านรู้สึกว่ากระบวนการเมื่อวันที่ 5 พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ได้เจอญาติ รวมถึงการแปลความต่างๆ”น.ส.วราภรณ์ กล่าว

ในวันเดียวกัน สำนักข่าวหลายแห่งได้รายงานข่าวว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยฯ มีมติลงโทษนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 9 (อุบลราชธานี) โดยการปลดออกจาราชการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ส่งความเห็นมาให้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย กรณีนี้จะเป็นบทเรียนให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท โดยนายชัยวัฒน์ยังสามารถอุทธรณ์มติอ.ก.พ. กระทรวงฯ ไปที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) หรือฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้

ทั้งนี้นายชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ รวม 6 คน ถูกร้องเรียนกรณีเข้ารื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และของชาวบ้านอีกหลายราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5-9 พ.ค.2554

///////////////////////////////////

On Key

Related Posts

“สารหนู”น้ำกกพ่นพิษหมู่บ้านท่องเที่ยว“กะเหรี่ยงรวมมิตร”ซบหนักยอดหาย 80% ต้องปล่อยช้างหากินในป่า-เผยชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลยังคงใช้น้ำปนเปื้อนในวิถีชีวิต-ประมงจังหวัดส่งตัวอย่างปลาตรวจ คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายดา ควานช้างปางช้างบ้Read More →

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →