
น้ำในโตนเลสาบขุ่นข้น ยิ่งมองจากมุมสูงบนเครื่องบินเมื่อสักครู่ ดูราวบ่อโคลนขนาดใหญ่อันแสนเคว้งคว้าง สีของน้ำยามนี้ดูช่างไม่น่าพิสมัยนัก แต่เมื่อลงเรือที่ชุมชน “กัมปงพลุก” เมืองเสียมราฐ หรือ เสียมเรียบ ล่องตามลำคลองลัดเลาะผ่านชุมชนและป่าเปรยกม ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตคนและธรรมชาติที่อยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลและเข้าใจกัน ทำให้เข้าใจความเป็นทะเลสาบเขมรดีขึ้น ที่จริงสีของน้ำเป็นเพียงแค่ช่วงเปลี่ยนผ่านในฤดูกาล ไม่ว่าโตนเลสาบจะมีสีอะไร แต่ความผันเปลี่ยนที่ก่อเกิดโดยระบบนิเวศนี้ ย่อมมีความหมายและคุณค่าในธรรมชาติ
พวกเราซึ่งเป็นสื่อมวลชนจากประเทศไทย ลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ทะเลสาบเขมร และสลัมในกรุงพนมเปญ รวมทั้งสังเกตบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งใหญ่ของกัมพูชา
พื้นที่โตนเลสาบฝั่งเสียมเรียบ ซึ่งพวกเราลงพื้นที่ครั้งนี้ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ได้แก่ “คน๊อต- กอมบ๊อด” “กวกกะดอล” และ “เดยกะฮอม”โดยบ้านเรือนที่นี่ตั้งอยู่บนเสาสูงลิ่ว ดูเหมือนกับนกกระยางยืนชะง้อดูปลา สาเหตุสำคัญเพราะต้องการหนีน้ำในหน้าน้ำหลาก ซึ่งแต่ละปีมีช่วงเวลาที่น้ำท่วมสูงสุดจริงๆไม่กี่วัน แต่ชาวบ้านก็ปรับสภาพให้เข้ากับธรรมชาติเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
ถัดจากหมู่บ้านไปไม่ไกลเป็นป่าเปรยกมซึ่งมีต้นมะเรียงยืนเรียงรายกันมานานนับร้อยปี ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่งดงามอีกลักษณะหนึ่ง

ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ หลายครอบครัวไม่ได้มีอาชีพประมง แต่เป็นกิจการต่อเนื่องจากประมง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณปลาในโตนเลสาบลดลงอย่างฮวบฮาบ ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ใช้เรือขนาดเล็ก หาได้เพียงปลาเล็กปลาน้อยเป็น และได้กันแค่เพียงพอกินมากกว่าจะนำไปขายเป็นอาชีพ ขณะที่เรือใหญ่ของคนเวียดนาม ทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันกลางทะเลสาบ
“เมื่อก่อนเราก็เคยหาปลาตัวโตๆ 10-20 กิโล ได้เป็นประจำ แต่ทุกวันนี้ได้ตัวโตแค่ 1 กิโลก็ดีใจแย่แล้ว”คำพูดไม่กี่ประโยคของชาวบ้านริมโตนเลสาบช่วยสะท้อนภาพดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของปลาแม่น้ำโขงยามนี้ได้ชัดแจ๋ว “ พวกเราไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงทำให้ปลาในทะเลสาบหายไปคืออะไร แต่เราสังเกตว่าเดี๋ยวนี้ปริมาณน้ำไม่นิ่งเหมือนในอดีต ทำให้ปลามาวางไข่ตามป่าไม้ชายฝั่งไม่ได้ เราเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ทำให้น้ำขึ้น-ลงไม่เหมือนเดิม”
ชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโดยการสนับสนุนของ FACT (Fishery Action Coalition Team) เพื่อร่วมกันดูแลโตนเลสาบ
ทะเลสาบเขมรในฤดูฝนมีพื้นที่กว้างใหญ่มากถึง 16,000 ตร.กม.เชื่อมโยง 5 จังหวัดของกัมพูชาไว้ด้วยกัน ในแต่ละฟากของแอ่งน้ำขนาดใหญ่นี้มีระบบที่คล้ายกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด ขณะที่ความเดือดร้อนที่ชาวบ้านเผชิญเป็นเรื่องเดียวกันคือการหายไปของปลา
“พวกเราหนีการเข่นฆ่าในยุคเขมรแดงมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 1974 มาปักหลักหาปลา ทำการเกษตรที่นี่ตั้งแต่นั้นมา” ชาวบ้านหมู่บ้านคน๊อต- กอมบ๊อด เล่าถึงที่มา ทำให้ชุมชนเหล่านี้ดูซ่อนเร้นกว่าชุมชนแห่งอื่นๆในโตนเลสาบ เพราะนอกจากไม่ได้อยู่ติดชายฝั่งโดยต้องนั่งเรือลัดเลาะเข้าคลองไปแล้ว ยังอยู่หลังแนวป่าใหญ่ด้วย
“พวกเราใช้ชีวิตอยู่กับน้ำอยู่กับการเกษตรมาโดยตลอด เมื่อก่อนพวกเรามีความภาคภูมิใจที่อพยพมาเจอขุมทรัพย์แห่งนี้ แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป หากเรายังคงหาปลาเป็นหลักอยู่ก็คงไม่พอใช้หนี้”
เมื่อหลายปีก่อนรัฐบาลกัมพูชาได้จัดแบ่งพื้นที่ในทะเลสาบให้สัมปทานกับนายทุน ตอนนั้นชาวประมลเดือดร้อนกันมาก และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังไปทั่วผืนน้ำ จนในที่สุดเมื่อ 2 ปีก่อน รัฐบาลจึงได้ยกเลิก แต่สถานการณ์ของชาวประมงพื้นบ้านก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลปล่อยให้เรือประมงขนาดใหญ่ใช้เครื่องมือทันสมัยลากปลากเล็กปลาน้อยขึ้นมาจนแทบไม่มีเวลาให้สัตว์น้ำได้เติบโตทั้งๆที่มีกฎหมายกำหนดกรอบไว้แล้ว แต่การฝ่าฝืนก็ยังทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะนายทุนเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีความเกรงอกเกรงใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเข้ามาร่วมต่อสู้ในยุคกู้ชาติ ขณะที่ความรู้สึกของชาวขแมร์ที่มีต่อคนเชื้อสายเวียดนามเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับรัฐบาล
ป้ายหาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชาที่ตั้งตระหง่านสูงพอกับเสาบ้านในชุมชนกัมปงพลุก ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกของคนเล็กคนน้อยริมโตนเลสาบดีขึ้นเลย แม้หลายครั้งเมื่อถูกถามถึงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ชาวบ้านปฏิเสธที่จะตอบตามตรงว่าเลือกใคร แต่พวกเขาก็กางมือที่มี 7 นิ้วให้ดูเล่น พร้อมกับบทสรุป
“พวกเรายังไม่เคยได้ยินนโยบายจากพรรครัฐบาลเกี่ยวกับการการฟื้นฟูโตนเลสาบเลย”

ห่างจากทะเลสาบลงไปทางใต้ในกรุงพนมเปญ สถานการณ์ของคนเล็กคนน้อยในสลัมกำลังเผชิญความยากลำบากไม่น้อยกว่าคนโตนเลสาบ
ลุงลำคูนต้องใช้พื้นที่ใต้บันไดตึกกั้นเป็นห้องแคบๆเพื่อเป็นที่พักสำหรับตัวเองและลูกๆ ส่วนรอบๆบริเวณใกล้เคียงเต็มไปด้วยน้ำเฉอะแฉะ แต่ก็มีชาวบ้านใช้ไม้อัดผุๆบ้าง สังกะสีบ้าง ผ้าใบบ้าง กั้นเป็นห้องแคบๆ 2-3 ตารางเมตรแต่อยู่กันทั้งครอบครัวราว 4-5 คน
ลุงคำคูนเป็นผู้นำชุมชนที่รู้จักกันดีในนามสลัม “โบรี กีลา”
ชุมชนโบรี กีลา เป็นผลิตผลการพัฒนาทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา โดยในช่วง 1975-1979 ซึ่งเป็น 4 ปี “นรกเขมร”โดยเขมรแดงครองอำนาจ ได้มีการยึดเอกสารสิทธิ์ที่ดินไปเผาทิ้งทั้งหมด ตามอุดมการณ์ความเชื่ออันเข้มข้นของผู้นำ แต่หลังจากที่เขมรแดงถูกขับไล่ กรุงพนมเปญจึงตกอยู่ในสภาพไร้กฎหมาย การจัดสรรที่ดินไม่เป็นไปอย่างมีระบบ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้มีอำนาจ
ชาวบ้านจำนวนมากหนีความอดอยากยากแค้นเข้ามาหากินอยู่ในเมืองหลวง บ้างยึดเอาตึกร้างเป็นที่อยู่อาศัยและค่อยๆขยับขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า ขายพื้นที่ด้านล่างตึกให้ผู้มีอันจะกิน กลายเป็นสลัมลอยฟ้าซึ่งไม่มีที่ใดในโลกเหมือน ขณะที่ชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยต่างจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าปลูกเพิงพักกลายเป็นสลัมเกิดขึ้นมากมายเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆในประเทศกำลังพัฒนา
ปี 2003 ลุงคำคูนได้นำชาวบ้านยื่นเรื่องขอที่ดินต่อสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 เฮกตาร์ สำหรับชาวบ้านในสลัมโบรี กีลา กว่า 4 พันครอบครัว แต่ได้มา 2.6 เฮกตาร์ ที่เหลือกลายเป็นของนายทุนนักจัดสรรที่ดิน ทั้งนี้ได้มีการวางแผนสร้างแฟลตให้ชาวสลัมย้ายเข้าไปอยู่จำนวน 10 หลัง แต่กลับทำตามสัญญาได้ไม่ครบคือสร้างแฟลตแค่ 8 หลัง ส่วนอีก 2 หลัง แม้กำลังก่อสร้างอยู่แต่นักพัฒนาที่ดินกลับทำท่าเอาไปใช้เชิงธุรกิจ ทำให้ชาวบ้านอีกกว่า 380 ครอบครัวต้องตกค้าง และ 1 ในจำนวนนี้คือครอบครัวของลุงคำคูน
“แม้ครอบครัวเรามีชื่อตั้งแต่ต้นว่าให้ย้ายขึ้นแฟลต แต่เราไม่มีเงินไปจ่ายใต้โต๊ะให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็เลยไม่มีโอกาสได้ย้ายขึ้นไปหรอกครับ ยิ่งพอมีข่าวว่าแฟลตสร้างไม่ครบ ทำให้ต้องจ่ายใต้โต๊ะกันหนักขึ้น” ลุงคำคูนอธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ชาวบ้านพยายามร้องเรียนไปหลายๆที่ แต่เมื่อนักพัฒนาที่ดินกับนักการเมืองที่มีอำนาจรวมหัวกันได้ เสียงของชาวบ้านย่อมไม่มีความหมาย
“อย่าให้ผมพูดเลยว่าเลือกพรรคไหน รู้ๆกันอยู่ว่าที่ผ่านมาเขาปกครองพวกเราเหมือนตัวอะไร” ชาวสลัมโบรี กีลา ต่างพยายามเลี่ยงการเอ่ยชื่อท่านผู้นำ แต่เป็นที่รับรู้กันว่าชาวชุมชนส่วนใหญ่มีความหวังกับนายสัม รังสี ผู้นำพรรคสังเคราะห์แห่งชาติมากกว่าพรรคใด
“ไม่ให้อะไรพวกเราเพิ่มเติมก็ไม่ว่า แต่ขอให้ทำตามสัญญาเดิมที่ให้ไว้ก็พอ ที่สำคัญคือยกเลิกการไล่รื้อและจับพวกเราใส่คุกเสียทีเถอะ เก็บภาษีของพวกเราไปแต่กลับไปช่วยนายทุนต่างชาติ”เสียงขื่นๆที่คนพูดต้องพยายามสะกดอารมณ์พลุกพล่านไว้
ขณะที่ชาวบ้านอีกกว่า 140 ครอบครัวในสลัมโบรี กีลา ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายชื่อบุคคลที่จะย้ายขึ้นไปอยู่แฟลตยิ่งกลับมีชะตาชีวิตโหดร้ายกว่านั้น โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2012 กองกำลังของรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ และเทศกิจได้ร่วมมือกันจับชาวบ้านใส่รถบรรทุกและนำไปปล่อยไว้ในที่ดินแห่งหนึ่งราว 3 เฮกต้าร์ ริมหมู่บ้านซาเดก จ.กันดาล ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญ ราว 40 กิโลเมตร
“เขาจับพวกเราโยนใส่รถขนาดใหญ่ พอมาถึงก็มีข้าวสารให้นิดหน่อย น้ำปาและซีอิ้วให้อย่างละ 1 ขวด แล้วให้กางเต้นท์กันอยู่เอง” ชาวบ้านที่เผชิญความโหดร้ายครั้งนั้นร่วมกัน พรั่งพรูความอัดอั้นตันใจที่ถูกสะสมมายาวนาน
หมู่บ้านสลัมแห่งใหม่นี้ชื่อว่าชุมชนอุด้ง ทุกวันนี้ชาวบ้านหากินกันตามมีตามเกิด เช่น รับจ้างทำนา บางคนทนความยากจนไม่ไหวก็หนีกลับไปหางานทำในกรุงพนมเปญอีก
“ที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่กลับไปเพราะเชื่อว่า หากกลับไปอีกก็ถูกจับโยนใส่รถขนกลับมาที่นี่อีก” ชาวชุมชนอุด้งยอมปักหลัก แม้จะได้รับการแบ่งสรรที่ดินเพียงครอบครัวละ 20-28 ตารางเมตร
“ถ้ามีสิทธิ์เลือกตั้ง เราก็คงไม่เลือกคนที่ทำกับเราแบบนี้ แต่ตอนนี้เรายังเลือกไม่ได้เพราะเอกสารหลักฐานหายไปหมดตั้งแต่ครั้งถูกจับโยนใส่รถมา”
เสียงของคนเล็กคนน้อยของชาวขแมร์ก่นดังไปทั่วประเทศตั้งแต่โตนเลสาบจนถึงสลัมในพนมเปญ จึงเป็นคำตอบได้ดีว่าทำไมพรรคประชาชนกัมพูชาของสมเด็จฮุน เซน ถึงสูญเสีย 22 ที่นั่งในสภาให้กับพรรคสังเคราะห์แห่งชาติของนายสัม รังสี
แม้วันนี้ความหวังของคนจนๆในขแมร์จะยังไปไม่ถึงฝั่ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความหวังของพวกเขาจะถูกปิดตาย ที่สำคัญคือการออกมาร่วมกันเทใจให้กับพรรคฝ่ายค้านจนได้เสียงเพิ่มขึ้นมากมายครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณชัดแจ๋วจากคนเล็กคนน้อยถึงท่านผู้นำว่า “ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว”
โดย โลมาอิรวดี
/////////////////////