Search

ผู้บริจาคข้าวของช่วยกะเหรี่ยงหนีภัยสาละวินโวยรัฐ-โคตรยุ่งยาก ทหารพรานยังสกัดห้าม เครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือนายกฯ แนะดึงบทบาทให้มหาดไทยรับผิดชอบแทนทหาร-จี้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือให้เป็นระบบ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชาชนที่นำข้าวของมาบริจาคเพื่อส่งไปช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบมาพักพิงอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน แต่ถูกทหารพรานที่ด่านบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย สกัดกั้นโดยอ้างว่าต้องส่งผ่านกิ่งกาชาด อ.แม่สะเรียงเท่านั้น ได้เดินทางเข้าประสานงานกับกิ่งกาชาดเพื่อดำเนินการขออนุญาตนำของไปบริจาค ซึ่งได้รับแจ้งว่า อำเภอไม่สามารถอนุญาตได้ แต่ให้นำสิ่งของไปเก็บไว้ที่หอประชุม พร้อมทั้งแจ้งรายการสิ่งของ โดยอำเภอจะทำหนังสือประสานขออนุญาตจากผู้ว่าราชการ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเมื่อได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว เจ้าของสิ่งของบริจาคต้องมาขนของไปที่ด่านแม่สามแลบด้วยตัวเอง เนื่องจากอำเภอไม่มีงบประมาณและกำลังคน

ประชาชนที่เตรียมข้าวของมาบริจาครายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากมีข่าวการเปิดด่านให้ส่งของไปได้ ตนได้เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐมเอาของมาทันที เพราะคิดว่าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้แล้ว แต่พอมาจริงกลับไม่ใช่ และยุ่งยากมาก

“พวกเรารวบรวมข้าวของกันมา รีบมาจะรีบกลับไปทำงาน นึกว่าเรียบร้อยเราจะได้กลับบ้านตั้งแต่เมื่อวาน  แต่เขาบอกว่าจะให้เราขนของไปได้เมื่อได้รับหนังสืออนุญาต แต่พอเราถามว่าจะได้เมื่อไหร่ ก็ให้คำตอบไม่ได้ บอกว่าแล้วแต่ทางจังหวัด เรารอไม่ได้ ต้องกลับไปทำงาน ทำมาหากิน เห็นคนเดือดร้อนก็อยากช่วย แบบนี้ไม่รู้จะทำยังไง”

ขณะที่ผู้ใจบุญอีกรายหนึ่งรายหนึ่งเดินทางมาพร้อมรถ 4 คันไปยังบ้านแม่สามแลบแต่ไม่ได้รับอนุญาตเช่นเดียวกัน โดยคนขับรถคันหนึ่งพยายามเจรจากับทหารพรานโดยระบุว่า รถของตนบรรทุกข้าวของหนักมาก ไม่สามารถกลับขึ้นไปได้ เนื่องจากมีการก่อสร้างสะพาน และทางเบี่ยงที่สูงชันมาก รถหนักและต่ำเกินไปขอนำสิ่งของลงฝากไว้ 1 คัน เพื่อเข้ามาดำเนินการเรื่องเอกสารแล้วจะนำเอกสารกลับมาแสดง แต่ทหารพรานไม่อนุญาตให้จอดไว้ที่บ้านแม่สามแลบและขอให้รถทั้งหมดขับกลับออกมาจากพื้นที่

ขณะที่นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอแม่สะเรียงกล่าวว่า กิ่งกาชาด อ.แม่สะเรียง จะเป็นจุดรับของบริจาคไว้ แต่ไม่สามารถอนุญาตให้ส่งของผ่านแดนไปได้ เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง

“เราก็อยากช่วยเต็มที่ แต่นโยบายยังไม่ชัดเจน อำเภอเลยตัดสินใจไม่ได้ ต้องรอข้างบนอนุญาต อำเภอจะรับไว้เฉพาะของแห้งเท่านั้น ส่วนของสดไม่รับในทุกกรณี” นายอำเภอ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงขั้นตอนการจัดส่งของบริจาคต้องทำอย่างไร นายสังคมกล่าวว่า ผู้บริจาคต้องมาติดต่อที่กิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งตั้งอยู่ที่ว่าการอำเภอ พร้อมแสดงรายการสิ่งของเพื่อทำหนังสือขออนุญาตจากจังหวัด เมื่อได้รับหนังสืออนุญาตผู้บริจาคต้องมาขนของไปส่งที่ด่านแม่สามแลบ โดยต้องจ่ายค่าเรือที่จะส่งของไปตามจุดต่างๆ

ด้านนายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่า กลไกในการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที มีความล่าช้าและขั้นตอนที่สับสนมาก ในขณะที่ยังมีชาวกะเหรี่ยงอีกจำนวนมากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือและขาดอาหาร ตนคิดว่าทางออกตอนนี้คือ ควรต้องมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อช่วยกาชาดที่ไม่มีความพร้อมทั้งกำลังคนและงบประมาณ ให้สามารถลำเลียงความช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา

ทั้งนี้ในวันที่ 9 เมษายน เครือข่ายภาคประชาชน 62 องค์กรที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ “ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย” นำโดยนางอังคณา นีละไพจิตร  นายอดิศร เกิดมงคล นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิชย์ นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือแก่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) ที่สถาบันวิจัยสังคม

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกล่าวว่า รัฐควรให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาพักพิงคุ้มครองในประเทศไทยได้ แต่การจัดการต้องอาศัยความเหมาะสม เข้าใจดีว่าช่วงนี้มีโรคระบาด แต่การช่วยเหลือก็เป็นการช่วยป้องกันโรคให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยควรจัดพื้นที่รองรับให้ชัดเจนโดยไม่จำเป็นใช้งบประมาณรัฐด้วยเพราะมีความช่วยเหลือจำนวนมาก แต่ที่ต้องทำคือการให้ทหารเป็นฝ่ายจัดการฝ่ายเดียวนั้นมีปัญหาแน่ เพราะทหารไม่มีประสบการจัดการผู้ลี้ภัยเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับฝ่ายมหาดไทยที่จัดการดีกว่า เพราะสามารถระดมทรัพยากรด้านต่างๆ ได้มากกกว่า รวมถึงการประสานงานได้มากกว่า ดังนั้นบทบาทการนำของผู้ว่าราชการจึงมีแนวทางที่มากกว่า

นายอดิศรกล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งคือการจัดการกับผู้ที่หนีการจับกุมของทหารพม่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แม้เรื่องนี้ยังไม่เป็นข่าวไม่ชัดเจน แต่เป็นปัญหาที่ประเทศไทยควรดำเนินการ ซึ่งทุกวันนี้มีมาตรการการคัดกรองและคุ้มครองอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ปัญหาคือไม่มีกลไกทำงานชัดเจน จึงเป็นโอกาสดีใช้กลไกนี้ดูแล

“ชาวบ้านที่หลบหนีการสู้รบมาอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน เราควรจัดตั้งศูนย์หรือพื้นที่ดูแลเขาให้เป็นระบบ จริงๆ แล้วถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ทหารพม่าไม่โจมตีเคเอ็นยูแล้ว พวกเขาก็อยากกลับ” นายอดิศร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกรณีที่ทหารกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปบริจาคจข้าวของ นายอดิศรกล่าวว่าเป็นเพราะตอนนี้ไม่มีมาตรการที่ชัดเจน เพราะเมื่อให้ทหารจัดการก็กังวลใจในมุมของทหาร และไม่มีการจัดการเป็นระบบ เกิดการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้มีปัญหา แต่หากมีแนวชัดเจนให้เป็นระบบจะดีกว่า ไม่เช่นนั้นก็กลายเป็นภาพยื้อกันไปมา

On Key

Related Posts

“สารหนู”น้ำกกพ่นพิษหมู่บ้านท่องเที่ยว“กะเหรี่ยงรวมมิตร”ซบหนักยอดหาย 80% ต้องปล่อยช้างหากินในป่า-เผยชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลยังคงใช้น้ำปนเปื้อนในวิถีชีวิต-ประมงจังหวัดส่งตัวอย่างปลาตรวจ คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายดา ควานช้างปางช้างบ้Read More →

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →