เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ที่บริเวณลานเสาชิงช้า วัดเพชรพลี อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ถอดวรรณกรรมนิราศใจแผ่นดิน ตามรอยอาจารย์ทองใบ แท่นมณี” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายคะนึง กายสอน อดีตศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สพป.เพชรบุรี ในฐานะผู้ร่วมเดินทางสำรวจหมู่บ้านใจแผ่นดิน 2.นายสมศักดิ์ อิสมันยี หรือ “อ๊อด คีตาญชลี ศิลปินนักร้องเพชรบุรี 3.นายวุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการอิสระ 4.นายจตุพร บุญประเสริฐ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและประธานชมรมนักกลอนเมืองเพชร และมีนายอุดมเพชร เกตุแก้ว ผู้สื่อข่าว นสพ.เพชรภูมิ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมสังเกตการณ์
ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร ได้ปาฐกถาเรื่อง บทบาทและความสำคัญของชาวกะเหรี่ยงกับเมืองเพชรบุรี ว่าความแตกต่างระหว่างกะเหรี่ยงกับกะหร่างเป็นเรื่องภาษาพูด และการพูดถึงกะเหรี่ยงกับเมืองเพชร ต้องรู้จักพริกกะเหรี่ยงและพริกพรานซึ่งมีความหอมพิเศษ อย่างไรก็ตามพริกกะเหรี่ยงเป็นหลักฐานทางมานุษยวิทยาของเมืองเพชรที่มีส่วนสัมพันธ์กัน ในวัดมหาธาตุมีภาพเขียนของคนกะเหรี่ยง สมัยก่อนคนกะเหรี่ยงเดินขายของป่าในตลาดเพชร เขาแต่งตัวรู้ว่าเป็นกะเหรี่ยงกะหร่าง เมื่อพ.ศ. 2504 ตนยังเห็นอยู่ในตลาด หลักฐานที่มีภาพกะเหรี่ยงชัดเจนที่สุดเท่าที่หาได้ยังมีภาพลายรดน้ำที่ตู้พระธรรมวัดพระทรง ราว พ.ศ.2393 ถ้าไปสำรวจลายปูนปั้นก็อาจมีกะเหรี่ยงอยู่บ้าง เพราะช่างปูนปั้นบันทึกสังคมไว้เป็นธรรมเนียม นอกจากนี้มีภาพเกาะสลักไม้กะเหรี่ยงปีนต้นผึ้งที่บานประตูวัดกุฏิบางเค็ม อ.เขาย้อย โดยการตอกทอย
นายล้อมกล่าวว่า ในนิราศใจแผ่นดิน กะเหรี่ยงที่ต้นน้ำเพชรเป็นกะหร่างเพราะชอบหาปลา แต่หลักฐานทางโบราณกองทัพไทยใช้กะเหรี่ยงและมอญสืบราชการชายแดน เรียกว่ากองอาทมาต เช่น ที่จ.ตาก มีศาลพะวอ ซึ่งเป็นคนสนิทของพระนเรศวร
นายคะนึง กายสอน อดีตศึกษานิเทศก์เพชรบุรี กล่าวว่า เดินทางไปกับ อ.ทองใบ แท่นมณี เมือเดือนมีนาคม 2526 โดยนั่งรถสองแถวเข้าแก่งกระจาน และนั่งเรือทวนแม่น้ำเพชรไปที่โป่งลึก ก่อนไปถึงสามแยกบางกลอย ด้านขวาไปใจแผ่นดิน จริงๆ อ.ทองใบอยากได้ภาพต้นตาล แต่ทางรก จึงไปทางซ้ายจนถึงหมู่บ้านกลอย หลังจากนั้นก็ไม่เจอหมู่บ้านอีก โดยชาวบ้านที่นั่นใช้ชีวิตเหมือนคนในชนบททั่วไป
นายจตุพร บุญประเสริฐ กล่าวว่า คุณค่าของนิราศใจแผ่นดินคือเป็นงานเขียนที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านพื้นที่ได้ดีเยี่ยมโดยเฉพาะการสร้างตำนานผ่านพื้นที่ โดย อ.ทองใบได้แสดงทัศนะเชิงโต้แย้งไปด้วยหากเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่น แก่งกระจาน เดิมที่คิดว่า “กระจาน” คืออุปกรณ์หาปลา แต่อ.ทองใบ โต้แย้งว่าเป็นต้นกระจาน และในนิราศบอกว่าป่าแก่งกระจานคือพื้นที่สาธารณะซึ่งใครก็ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในนิราศทำให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของแก่งกระจานเป็นที่อยู่ของคนและสัตว์ ทำให้เห็นวัฒนธรรมของคนและการยังชีพด้วยเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าวไร่ พริก และมีคนอยู่ก่อนตั้งอุทยานฯและเขามีสิทธิทำไร่นา
นายสมศักดิ์ อีสมันยี กล่าวว่า หนังสือนิราศใจแผ่นดินที่ชอบมากคือมีการสะท้อนสองด้านให้คิด เช่น การยิงค่าง คนเมืองมองอย่างหนึ่งในแง่ของความสงสาร แต่คนป่าหรือคนที่เป็นพรานมองในเรื่องของการเป็นอาหาร ที่ตนชอบมากในนิราศนี้มีเชิงอรรถแทบทุกหน้าช่วยอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น โดยหนังสือเล่นนี้มุ่งไปที่เนื้อหา
นายวุฒิ บุญเลิศ กล่าวว่าคนกะเหรี่ยงอยู่เพชรบุรีนานแล้ว แต่ซ่อนเก็บตัวอยู่มามากว่า 300 ปี กะเหรี่ยงเพชรบุรีถูกอธิบายผ่านหนังสือมานาน ทั้งงานเขียนของครูมาลัย ชูพินิจ และชาลี เอี่ยมกระแสสินธุ์ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสำรวจชายแดนระหว่างสยามและอังกฤษที่บันทึกว่าเจ้าเมืองเพชรให้มีการสำรวจต้นน้ำเพชรซึ่งมีคนกะเหรี่ยงข้ามไปข้ามมา คนเหล่านี้ช่วยชี้แนวเขตซโดยมีหลักฐานบันทึก เมื่อ พ.ศ. 2444 กรมพระยาดำรงราชานุภาพให้สั่งให้มีการสำรวจ พบว่ามีคนกะเหรี่ยงที่บ้านลิ้นช้าง และสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวต่างชาติได้วาดรูปกะเหรี่ยงที่ อ.เขาย้อย จะเห็นได้ว่ามีการบันทึกเกี่ยวกับกะเหรี่ยงต่อเนื่องกันมา
“ยังมี่เรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงในเพชรบุรีมากมาย ผมเป็นหลานของคนเมืองเพชร เพราะย่าทวดเป็นคนสองพี่น้อง คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตามภูเขา คำว่ากะหร่างเป็นคนข้างนอกเรียกเขา ซึ่งได้ยินตั้งแต่ จ.ตาก ลงมาถึงจ.ประจวบฯ” นายวุฒิ กล่าว