สถานการณ์ที่ล่อแหลมของชุมชนชายขอบได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 การระบาดของโรคทำให้เกิดความจำเป็นในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งในหลายๆครั้งมักจะไม่เกิดขึ้น และนำไปสู่ผลกระทบที่ตามมา เช่น อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น
ผลกระทบที่รุนแรงดังกล่าวถูกแสดงออกมาจากการที่ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม อัตราความยากจนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและความยากจนจากหนี้สินได้ผลักดันให้หลายคนฆ่าตัวตาย ความจำเป็นในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นที่ประจักษ์ในการแก้ไขปัญหาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของความทุกข์ยากที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันและความยากจน อย่างไรก็ตาม ความไร้ประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลได้ถูกตั้งคำถาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความยุ่งยากที่ประเทศไทยเผชิญในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ยากจนที่สุดในสังคม รัฐบาลถึงขนาดต้องเรียกร้องให้นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางโรคระบาดได้รับการถ่ายทอดโดยนักข่าวที่ทำงานในเรื่องความไม่เท่าเทียม
ความอยุติธรรม และความยากจน ซึ่งผลงานข่าวของพวกเขาได้รับการนำเสนอในงาน “Journalism for an Equitable Asia Award” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดย Asia Center และ Oxfam in Asia ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย กลุ่มนักข่าวที่ได้รับการคัดเลือกได้เปิดเผยถึงความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่ภายในและระหว่างสังคม พวกเขาแสดงให้เห็นว่าการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้ความเสี่ยงและความเปราะบางของคนหลายกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเยาวชน ชนพื้นเมือง ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และสตรี
โดยการนำหลักการทำข่าวแบบดั้งเดิมเข้ามาใช้ กล่าวคือ รับฟังและมีปฏิสัมพันธ์กับเหยื่อด้วยตัวเอง พวกเขาบันทึกความกล้าหาญของกลุ่มคนชายขอบที่เผชิญกับการปฏิบัติที่รุนแรงและเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม: ผู้หญิงที่ทำงานตามบ้าน, ภาคการขนส่ง, ผู้หญิงที่ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล, คนงานผู้หญิงตามบ้าน, ผู้หญิงและเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง, เกษตรกรในชนบทจากชนกลุ่มน้อย, ผู้ลี้ภัยที่ไร้สัญชาติ, และชุมชนข้ามเพศที่ถูกกีดกันจากแหล่งรายได้ในการประทังชีวิต
นักข่าวได้บันทึกเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงที่ยากจน ซึ่งได้รับการสะท้อนให้เห็นในผลงานข่าวที่ได้รับการคัดเลือก เช่น ผู้หญิงที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารของปากีสถานต้องเผชิญกับอคติในสังคมที่มีชายเป็นใหญ่ พวกเธอทำงานโดยแทบไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องในเรื่องของการป้องกันและรักษาโรคโควิด -19 ในช่วงแรกๆ กระแสความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดได้ทำให้พวกเธอถูกตีตราว่าเป็น “พาหนะของเชื้อโรคโปลิโอ”
กลุ่มบุคคลข้ามเพศในสิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางและการปิดเมืองทำให้พวกเธอไม่สามารถทำงานในสถานที่ที่พวกเธอสามารถมอบสินค้าอย่างเดียวที่สังคมคาดหวังจากพวกเธอได้ นั่นคือความงามของพวกเธอ เนื่องจากสถานบันเทิงปิดให้บริการเป็นเวลานาน การไม่สามารถเข้าถึงภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจ ทำให้พวกเธอตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางเป็นอย่างมาก
ผู้หญิงและเด็กที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งในฟิลิปปินส์ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลขั้นพื้นฐานทั้งก่อนและหลังคลอดได้ พวกเขามีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งทางกายภาพและเชิงโครงสร้าง ภาคส่วนแรงงานในครัวเรือนในปากีสถาน ซึ่งร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง ขาดสวัสดิการขั้นพื้นฐานและความมั่นคงทางสังคม พวกเขาผลักดันอย่างกล้าหาญเพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะ ‘คนงาน’ และเสนอร่างกฎหมายเพื่อปกป้องและรับรองสิทธิ การสูญเสียงานและการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง เกิดขึ้นในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ที่ซึ่งมีการตัดเงินเดือนโบนัสค่าล่วงเวลาและประกันสุขภาพ นอกจากนี้ความเปราะบางของพวกเขายังทำให้พวกตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรรมที่ฉกฉวยเงินของพวกเขาผ่านเว็บไซต์จัดหางานปลอม
ภาคการขนส่งในฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 เนื่องจากคนงานของรถสองแถวไม่สามารถทำงานได้อย่างกะทันหันภายใต้มาตรการจำกัดการเดินทางและการปิดเมือง เนื่องด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนอยู่แล้ว ความสิ้นหวังของพวกเขาถูกทำให้แย่ลงด้วยแผนของรัฐบาลในการยกเครื่องภาคการขนส่งและมุ่งสู่ภาคการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการแทนที่รถสองแถวในปัจจุบันด้วยรุ่นที่ทันสมัยกว่าและก่อมลพิษน้อยกว่า ทว่าค่าใช้จ่ายของการเปลี่ยนแปลงนี้ถูกผลักภาระไปที่คนขับรถสองแถว โดยที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ทั่วเอเชีย แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในอาชีพอิสระ หรือ แรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันขั้นพื้นฐานและสวัสดิการทางสังคมได้
เรื่องราวและผลงานของนักข่าวได้นำมาสู่ความตระหนักรู้ในหน้าที่ของรัฐบาลในการเคารพสิทธิและมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐานภายใต้กฎหมายแรงงานและกฏกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ: เสรีภาพในการรวมตัวและชุมนุม สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกัน การห้ามการบังคับใช้แรงงานไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ข้อห้ามในการใช้แรงงานเด็ก การห้ามการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และสิทธิในการได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน
เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่สูงของประเทศในเอเชีย ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลักฐานที่ชัดเจนซึ่งเรียบเรียงและนำเสนอโดยนักข่าวทั่วเอเชียชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลต่างๆ ต้องให้ความสำคัญในการจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และหลีกเลี่ยงการหวนกลับไปใช้รูปแบบเศรษฐกิจที่มีข้อบกพร่องซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนร่ำรวยเพียงไม่กี่คน โดยคนจนผู้หญิงและชุมชนชายขอบเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่าย รูปแบบโครงสร้างเศรษฐกิจที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้และไม่ยั่งยืนอีกต่อไป เพราะฉะนั้นการใช้โอกาสนี้ในการสร้างเส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่บูรณาการผู้คนและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
หน้าที่ของนักข่าว คือการเปิดเผยความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมในสังคมอย่างต่อเนื่อง และทำให้มั่นใจถึงการมีอยู่ของหลักความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาขน สิ่งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากแต่ทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคที่สื่อกระแสหลักเองต้องเผชิญกับเกิดวิกฤติศรัทธาและถูกตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นนี่คือคุณค่าของ Journalism for an Equitable Asia Award – เพื่อส่งเสริมและให้รางวัลแก่ผลงานข่าวที่มีคุณภาพและตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง
การเสนอชื่อสำหรับรอบ 2021-2022 จะเริ่มขึ้นในปลายปีนี้
—————-