Search

อาเซียนบ้านนอก : มากกว่าประชาธิปไตยคือความยุติธรรม

บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งที่พนมเปญ
บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งที่พนมเปญ

 

ณ โบรี กีลา [Borei Keila] สลัมกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พวกเราเดินแถวเรียงหนึ่งตามกันไปบนเส้นทางเล็กแคบโรยด้วยขยะ สองข้างทางคือที่อยู่ของผู้คนชนชาวสลัม เป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าบ้านคุ้มแดดคุ้มฝนทุกคนในครอบครัว ทว่าสำหรับบางคนที่ชีวิตรู้จักแต่บ้านหลังใหญ่มั่นคงแข็งแรง ตกแต่งงดงาม อาจมองว่าที่นี่ไม่ใช่บ้าน

 

เศษไม้ แผ่นพลาสติก สังกะสี ลังกระดาษ และวัสดุอื่นๆเท่าที่เก็บหาได้ คือวัสดุที่นำมาประกอบส่วนสิ่งที่เรียกว่าบ้าน

 

จากบ้านเรี่ยดินบนพื้นที่ไม่มากนัก แหงนคอตั้งบ่าขึ้นไปจะพบกับตึกสูงตระหง่าน ไกลออกไปนู้นยังมีตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หากมองมุมตานกมาจากตึกสูง หย่อมบ้านตรงนี้อาจเป็นได้แค่ขยะกองหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าจากผู้คนที่นี่ ฉันก็ถึงบางอ้อว่าไม่ใช่แค่เปรียบเหมือนกองขยะเท่านั้น ทว่าคนบนตึกมองเห็นที่ตรงนี้เป็นกองขยะจริงๆไปเสียแล้ว เพราะพวกเขามักจะโยนขยะลงมาอย่างไม่อินังขังขอบว่าจะตกลงตรงไหน หรือเฉียดกระบาลใครไปบ้าง

 

ทั้งๆที่พวกคนบนตึก ครั้งหนึ่งเขาก็เคยอาศัยอยู่ในบ้านตรงนี้ ตรงที่พวกเขาเห็นเป็นกองขยะ

 

 

ฉันจดจำปีพ.ศ.ไม่แม่นยำนัก แต่จากการพูดคุยพอจับใจความได้ว่าเกินกว่า 30 ปีแล้วที่มีผู้คนมาจับจองพื้นที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ เริ่มจากต่างคนต่างมาหางานรับจ้างเป็นกรรมกรก่อสร้างบ้าง ขายของบ้าง ที่ไหนมีงานก็อยู่กันที่นั่น กระทั่งมาปักหลักอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ฉันชอบประโยคคำพูดหนึ่งของชายสูงวัยที่บอกอย่างภาคว่า “ที่นี่มีแต่รับจ้างใช้แรงทำงานและค้าขาย ไม่มีคนที่ออกไปขอทาน” จับได้ถึงน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ

 

พวกเขาลงหลักปักฐานอยู่กันเป็นชุมชนมานานหลายสิบปี กระทั่งเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว จึงรวมตัวกันขอเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินจากรัฐบาลฮุนเซน ตามนโยบายจัดสรรที่ดิน

ต่อมารัฐบาลได้ยกสัมปทานที่ดินจำนวนหนึ่งให้บริษัทเอกชนได้สิทธิในการพัฒนาเพื่อการค้า โดยที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสรับรู้ว่าบริษัทจะเอาที่ดินไปก่อสร้างสิ่งใด เพียงแต่มีข้อแลกเปลี่ยนว่าบริษัทจะสร้างตึกให้ชาวบ้านอยู่ แต่ไปๆมาๆจำนวนตึกที่สร้างก็ไม่พอกับจำนวนชาวบ้านทั้งหมด ดราม่าเอยมันจึงซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะคนที่มีเงินจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นจึงจะมีสิทธิเข้าไปครอบครองห้องบนตึก

ชุมชนโบรี กีลา กลางกรุงพนมเปญ
ชุมชนโบรี กีลา กลางกรุงพนมเปญ

 

 

ชาวบ้านที่เหลืออีกกว่าสามร้อยครอบครัวตกค้างอยู่ในที่เดิม ซึ่งกลายเป็นที่ทิ้งขยะของคนบนตึก

 

เมื่อแรกที่รัฐบาลยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บริษัทเอกชน ชาวบ้านต่างไม่ยอมรับและร่วมกันคัดค้าน ครั้นเมื่อสร้างตึกเสร็จ เสียงคัดค้านก็เริ่มแตกแยก คุ้นๆนะว่ามันช่างเป็นเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันไปเสียหมดไปว่าจะที่ใด

 

แม้บริษัทจะมีข้อเสนอให้กับชาวบ้านที่เหลือสามร้อยกว่าครอบครัว ให้ไปอยู่นอกเมืองบนที่ดินที่บริษัทซื้อไว้ แต่ชาวบ้านยืนหยัดจะปักหลักอยู่บนที่ดินเดิม ซึ่งพวกเขาขอกรรมสิทธิ์มาด้วยตัวเอง ประกอบกับที่อยู่ใหม่นั้นไกลออกไปจากพนมเปญถึง 40 กิโลเมตร ห่างจากงานรับจ้างที่พวกเขาทำอยู่และไม่สะดวกต่อการค้าขายที่อิงอยู่กับผู้คนในสังคมเมือง อีกทั้งยังห่างไกลจากโรงพยาบาล ยากลำบากต่อการเดินทางหากเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะกับเด็กๆและคนเฒ่าคนแก่

 

แต่ทว่าบริษัทก็ไม่รีรอให้ชาวบ้านยินยอมพร้อมใจในการโยกย้าย อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาก็เอารถคันใหญ่มาขนข้าวของ เจ้าของสิ่งของจะไม่ตามไปด้วยก็เกรงว่าจะสูญเสียข้าวของที่ติดไปกับรถ ถึงกระนั้นข้าวของจำนวนหนึ่งก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย ด้วยการกระทำที่ไม่ปราณีปราศรัย เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าถึงตรงนี้ฉันกับเพื่อนร่วมทางต่างคิดตรงกันอย่างไม่ตั้งใจ ว่าช่างคล้ายการขนหมาแมวไปปล่อยวัดเสียนี่กระไร ปล่อยไปไกลๆจะได้กลับบ้านเดิมไม่ถูก

 

ในช่วงเวลาที่ฉันกับเพื่อนๆนักเขียนนักข่าวเดินทางไปพนมเปญ เป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน พวกเราจึงอดไม่ได้ที่จะอยากฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในชุมชนแออัดกลางเมือง ในฐานะที่พวกเขาผ่านการต่อสู้กับชีวิตหลังสิ้นยุคเขมรแดง หลายคนที่มาอยู่บนพื้นที่แห่งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของผู้บุกเบิกกรุงพนมเปญให้กับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากกลายเป็นเมืองร้างมาร่วม 4 ปี เมื่อเขมรแดงเข้ามายึดครองและขับปัญญาชนกับคนเมืองที่ถือว่าเสพสุขมานานให้ออกไปทำไร่ทำนาในชนบท

 

ครั้นเขมรแดงสิ้นอำนาจรัฐบาลชุดใหม่ก็มีนโยบายให้คนกลับมาอยู่ในพนมเปญอีกครั้ง ทุกคนไม่ว่าอยู่ในฐานะใดสามารถจับจองที่อยู่อาศัยได้ตามสะดวกโยธิน จนกว่าจะจัดระเบียบเมืองเสร็จสิ้น ว่ากันว่าตอนนั้นใครๆก็อยากเข้ามาอยู่ในพนมเปญ เพราะปลอดภัยกว่าอยู่ตามชนบทอันเต็มไปด้วยกับระเบิดที่ฝ่ายเขมรแดงฝังไว้ ผลพวงที่ตามมาทำให้เกิดสลัมทั่วกรุงพนมเปญร่วมๆ 500 แห่ง

 

มาสู่ยุคฮุนเซนที่มุ่งสู่การพัฒนาด้านการค้าและอุตสาหกรรม มีความต้องการใช้ที่ดินจำนวนมากเพื่อสร้างถนนหนทางและอาคารต่างๆนาๆ รัฐบาลให้เอกชนสัมปทานที่ดินและให้เช่าในระยะยาว การไล่รื้อชุมชนแออัดจึงเกิดขึ้นไม่เว้นวาง เกิดความเดือดร้อนทุกข์ยากไปทั่วหัวระแหง เพราะการขับรื้อที่อยู่ของชาวบ้านนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม บ้างถูกเผาไล่อย่างไร้มนุษยธรรม

 

ผู้นำชุมชนโบรี กีลา ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ร่วมเรียกร้องขอกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนี้มาจากรัฐบาลฮุนเซน บอกว่าพวกเขาและชาวกัมพูชาทุกคนต้องการประชาธิปไตย ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่านั้นคือความยุติธรรม ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็จริง แต่ถ้ารัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากเข้ามาปกครองประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

 

วันนี้การเลือกตั้งของกัมพูชาผ่านพ้นไปแล้ว ประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งเป็นไปตามครรลองของมัน ก็ไม่รู้ว่าจำนวนที่นั่งในรัฐสภาจะทำให้รัฐบาลเดิมตระหนักถึงสิ่งใดขึ้นมาบ้าง หวังอยู่ลึกๆเพียงว่า ความยุติธรรมกับประชาธิปไตยของชาวกัมพูชา คงมีโอกาสมาถึงพร้อมกันในไม่ช้านี้

 

——————–

โดย จิตติมา  ผลเสวก

 

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →