น้ำ คีตาญชลี

เราได้รับข้อความในตอนเช้าวันที่ 17 เมษายน 2564 ว่าวันนี้พี่น้องชาวบางกลอยตกลงใจกันว่าจะจัดพิธีรำลึกถึงบิลลี่ที่ด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากที่คืนก่อนหน้านี้ทางภาคีเซฟบางกลอยตกลงและทดลองระบบการถ่ายทอดออนไลน์กิจกรรมในหัวข้อเดียวกันตอนเย็น

ฉันตัดสินใจทันทีว่าจะลงพื้นที่โดยพี่ชายกะเหรี่ยงคนสนิทเป็นผู้มารับจากบ้าน ในขณะที่ฉันเขียนบทความเพื่อโพสต์ลงเฟสบุ๊ค ที่พาให้ตัวเองเสียน้ำตากับความเจ็บปวดในระบบยุติธรรมที่พังทลายของสังคมไทย แต่อีกใจก็ลิงโลดที่จะได้ไปพบเจอพี่น้องบางกลอยที่แสนคิดถึง

กีต้าร์ญี่ปุ่นคู่ใจของฉันอยู่ที่กรุงเทพ โดยแรกฉันคิดว่าจะเอากีต้าร์ของพ่อไปเล่นเหมือนเคย แต่พอเดินเข้าห้องที่เก็บกีต้าร์ ฉันเลือกหยิบกีต้าร์คลาสสิค ตัวที่ฉันใช้เรียนมาจนจบปริญญาตรี หรือเป็นกีต้าร์ผู้สร้างฉันขึ้นมาให้เป็นนักกีต้าร์ในวันนี้ เป็นตัวที่อาจารย์โต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ ได้มอบให้ฉันเพื่อใช้ในการศึกษาคณะดุริยางค์ หลังจากฉันทำกีต้าร์ของป้าที่ยืมมาเรียนหายไปกับแท๊กซี่ตั้งแต่ปี 1 เทอมแรก

ลุงโต้งเคยพูดกับเราไว้ หลังจบงานคอนเสิร์ตที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นช่วงหลังจาก”บิลลี่” พอลละจี รักจงเจริญ หายไปไม่กี่เดือน แกพูดด้วยน้ำเสียงดุดันปนเศร้า ในแววตามุงมั่นที่ฉันจำไม่เคยลืมว่า “มันใจร้ายมาก ลุงจะเอาผิดมันให้ได้”

ฉันเดินไปจับกีต้าร์อาแมนซ่า เพื่อนรักในครั้งเป็นนักเรียนดนตรีตะวันตกขึ้นมาปัดฝุ่น พลางคิดในใจ ว่าจะใช้เสียงของกีต้าร์ตัวนี้ สื่อสารแทนเสียงของลุงโต้ง นักต่อสู้ผู้เป็นที่รักของพวกเราซึ่งจากไปเมื่อปีก่อน ว่าพวกเราและลุงโต้งยังคงมุ่งมั่นเอาผิด ผู้ที่กระทำผิดให้จงได้

เสียงหมาเห่าและแตรรถที่ฉันคุ้นเคยดังมาจากหน้าบ้าน เป็นสัญญาณจาก “พี่ป๊อก”นิยม เที่ยวพราย พี่ชายกะเหรี่ยงคนสนิท ที่ฉันคุ้นเคยดี ว่าถึงเวลาออกเดินทาง มุ่งหน้าสู่ป่าแก่งกระจาน ชาวบ้านนัดกันตอนบ่าย 2 แต่เราไปถึงกันตั้งแต่เที่ยง จึงตัดสินใจกินก๋วยเตี๋ยวกันก่อนขึ้นไปในเขตอุทยาน

เมื่อไปถึงด่านมะเร็ว ฉันโผเข้ากอดพี่กิ๊บ 1 ในผู้ต้องหาที่มีบทบาทสำคัญ แม่ของเจ้าจัน น้องสาวจอมซนและจอพือพึ เด็กชายตัวเล็กขวัญใจของพวกเรา

ตามการนัดหมาย การวางดอกไม้และจุดเทียนจะเริ่มขึ้นเมื่อมึนอและลูกๆมาถึง ระหว่างรอมึนอ พวกเราช่วยกันเขียนข้อความบนกระดาษ ที่มี “หลิง”ช่วยตกแต่งรูปคังดง หรือโมบายกะเหรี่ยง ให้ดูสวยงาม ไม่ทันเสร็จ ฝนก็ลงเม็ด พวกเรารีบหอบกระดาษขึ้นรถ เพราะเกรงว่าหมึกจะเลอะ ส่วนคนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม วิ่งไปหลบที่ศาลาองค์พระส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไปที่ฝั่งป้อมยามด่านมะเร็ว

ฝนเทลงมาหนัก พี่ไผ่-เพียรพร ดีเทศน์ ปูเสื่อให้ชาวบ้านและเด็กๆเข้ามาหลบฝนที่ศาลาองค์พระ ฉันเห็นแม่ๆ 3-4 คนเกรงใจไม่กล้าเข้ามานั่งในเสื่อและอยู่ตรงที่ที่ฝนสาด ฉันเลยลากแม่ๆไปนั่งข้างใน บอกว่าถ้าแม่ไม่เข้าไปหนูก็ไม่ได้นั่ง แม่ๆจึงยอมเข้าไปนั่งในเสื่อ

ฝนเทราวกับฟ้ารั่ว ทุกครั้งที่เราอยู่ในงานเรียกขวัญหรืองานระรึกถึงบิลลี่ในแก่งกระจาน ฉันนึกย้อนไปถึงครั้งแรกในพิธี “180 วัน คิดถึงบิลลี่” ที่เราทำพิธีเรียกขวัญและผูกคังดงหลากสีสันตรงสะพานหน้าหมูบ้านบางกลอย โดยปู่คออี้เป็นผู้ทำพิธี ฝนก็เทแบบนี้ “พี่ชิ” สุวิชาญ ศิลปิน แปลคำจากผู้เฒ่ามาให้พวกเราฟังว่า ในพิธีเรียกขวัญ หากฝนตกแปลว่าขวัญจะกลับมา หรือหากผู้นั้นได้จากไปแล้ว ก็แปลว่าวิญญาณของเขาได้กลับมาที่นี่

มึนอและลูกๆมาถึงตอนที่ฝนยังคงเทจากฟ้าสีเทาทึบ พวกเราตัดสินใจกันว่าจะทำพิธีที่ศาลาองค์พระที่ค่อนข้างแคบนี้แหละ ช่วยกันจัดพิธีไปในขณะที่สมาชิกผู้ร่วมงาน 2 คนสุดท้ายกำลังตามมา

รูปบิลลี่จากมือมึนอถูกจัดวาง พร้อมๆกันกับดอกไม้สีขาวทวางเรียงอยูข้างๆรูปภาพที่ตั้งอยู่หน้าองค์พระ ป้ายกระดาษที่พวกเราเขียนทั้ง 2 แผ่นถูกวางขนาบข้าง

“7 ปี คดีไปถึงไหน” ,“ที่นี่มีคนหาย” เวลาเดียวกันกับที่ลูกๆและมึนอ บรรจงเขียนข้อความลงกระดาษอีกสองแผ่นที่เตรียมไว้ “7 ปี บิลลี่ยังอยู่ในใจเสมอ” จากมึนอ

 “คิดถึงอยากให้พ่อกลับมา” จากโอ๊ะ ลูกสาวคนโต ,“หนูยังไม่เคยลืมคุณพ่อ” จากเบญ และ “หนูรักพ่อเหมือนเดิม” จากโอ

ฉันมองดูถ้อยคำเหล่านั้นด้วยหัวใจที่เงียบงัน มันดูเป็นประโยคที่เรียบง่าย แต่ความเจ็บปวดนั้นลึกจนฉันเองก็ไม่สามารถหยั่งถึง

ข้าวต้มที่ห่อด้วยใบตองถูกวางด้านล่างหน้ารูปขอบิลลี่ เราเห็นบางส่วนยังเป็นข้าวที่ไม่สุก จึงถามมึนอว่านี่หุงไม่สุกจริงๆหรือเป็นเทคนิคอะไรสำหรับพิธีหรือไม่ มึนอว่า “หุงไม่สุกจริงๆค่ะ” แต่เชื่อว่าถ้าข้าวไม่สุกแบบนี้แปลว่าวิญญาณของเขามากินข้าวแล้ว

หลังจากสมาชิกทั้งหมดก็มาครบ ทุกคนฝ่าฝนมารวมกันที่ศาลาองค์พระ มีจังหวะฝนซาเม็ด ฉันรีบวิ่งไปเอากีต้าร์มาเตรียมไว้

พิธีเริ่มด้วยพะตีนอแอะเข้าไปไหว้รูปบิลลี่พร้อมบทสวดเรียกขวัญ หลังจากนั้นชาวบ้านจึงค่อยๆทยอยจุดเทียน ในขณะที่ฝนเริ่มเทลงมาอีกครั้ง หลังจากหยุดไปชั่วครู่ให้พวกเราได้ถ่ายรูปเล่นกันบ้าง หากแต่เมฆยังคงถูกเคลือบไปด้วยสีเทาทึบ

พิธีเสร็จสิ้นในเวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยที่กีต้าร์ของฉันยังนอนอยู่ข้างหลังองค์พระอย่างเงียบๆ ในขณะที่ทุกคนไปถ่ายรูปรวมกัน ฉันคิดในใจว่าวันนี้ไม่ได้เล่นคงไม่เป็นไร ถือว่าขึ้นมาดูบรรยากาศ แต่นึกอีกที ฉันเล่นเพลง “กลอยใจ” ที่แก้วใส เพื่อนนักดนตรีจากวงสามัญชน แต่งขึ้นเพื่อให้ฉันร้องจากเรื่องราวของบิลลี่กับมึนอ ฉันร้องมันมาจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ร้องให้เจ้าตัวฟังเลย ซึ่งจริงๆแล้ว มึนอคือคนที่ฉันอยากเล่นเพลงนี้ให้ฟังมากที่สุดตั้งแต่แรก

“ขอหนูเล่นเพลงหนึ่งทันมั้ย” “ฉันหันไปถามพี่ชายคนหนึ่ง “ทันสิ” เขาตอบ พร้อมกับเสียงฟ้าร้อง ฉันรีบวิ่งไปหยิบกีต้าร์ ในขณะที่พี่ชายคนนั้นบอกทุกคนให้อยู่ฟังดนตรีของฉันก่อน

ฉันนั่งลงที่พื้นปูนตรงป้อมฝั่งตรงข้าม โดยมีมึนอและลูกๆ รวมถึงพี่น้องบางกลอยส่วนหนึ่งยืนอยู่ข้างหลังฉัน “ฟังดนตรี ไปยืนข้างหลังจะดีเหรอ” มีคนถาม “ไม่เป็นไรค่ะ หนูอยากยืน” มึนอตอบ เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเบาๆจากพวกเรา

เมื่อโน้ตแรกเริ่มบรรเลง สีเทาที่รายล้อมเราอยู่ก็ค่อยๆถูกแทรกด้วยสีทอง ฟ้าค่อยๆเปิดขึ้นเรื่อยๆ จนฉันต้องแหงนมองฟ้าว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันเห็นเมฆค่อยๆแยกตัวจากกัน เส้นแสงส่องผ่านมาจากช่องว่างนั้น ต้นไม้ที่สูงที่สุดในสายตาฉัน 3 ต้น เอนตัวไปทางซ้ายที ขวาทีพร้อมๆกันตามจังหวะเพลงที่ฉันเล่น ฉันจินตนาการในใจ ว่าคงไม่ใช่แค่ผู้คนตรงนี้เท่านั้นที่รับฟังดนตรีของฉัน แต่ยังมี “อาจารย์ป๊อด”ทัศน์กมล โอบอ้อม, “บิลลี่”พอลละจี รักจงเจริญ และ “ลุงโต้ง”ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ มาร่วมฟังเพลงของฉันด้วย พวกเขาอยู่ในต้นไม้ 3 ต้นนั้น ที่โยกไหวไปตามบทเพลงของฉัน

เมื่อจบเพลงกลอยใจ มึนอขอฟังอีก 1 เพลง คือเพลงวิถีชีวิต น่าอายและน่าเสียดายที่ฉันเล่นและร้องเพลงนี้ไม่ได้เสียที ฉันจึงเลือกเพลง เลเล เตหน่ากู ของศิลปินปาเกอญอ จากลำพูน “ดีปุ๊นุ” ได้เขียนไว้ในภาษาของเขา และพวกเราเอามาขับร้องเป็นภาษาบางกลอยตั้งแต่คราวก่อน แรกเริ่มเป็นไปอย่างตะกุกตะกักทีเดียว เพราะฉันเองก็จำเนื้อเพลงไม่ได้ พอวนไปถึงรอบที่ 4 ที่ทุกคนเริ่มร้องได้แล้ว เมฆก็เคลื่อนตัวปิดแสงสว่าง ฝนปรอยลงมาในประโยคเกือบสุดท้ายของเพลงพอดี

พวกเรารีบกอดร่ำลากันก่อนฝนเทหนักอีกรอบ  ทันทีที่พวกเราพ้นจากพื้นที่ ฝนก็เทราวกับฟ้ารั่วอีกครั้งตามคาด ราวบิลลี่มาทักทาย และส่งลาพวกเราด้วยสายฝน อย่างทุกครั้งที่เป็นมา

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.