ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบหรือ “เสียมราฐ” ประเทศกัมพูชา ประมาณ 17 กม. เป็นที่ตั้งของชุมชนทะเลสาบเขมร “กัมปงพลุก” อันเป็นมรดกทางธรรมชาติที่น่าสนใจอีกแห่ง ด้วยเพิ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ไม่ถึง 4 ปี จึงกลายเป็นแหล่งดึงดูดชาวต่างชาติที่สนใจด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและศึกษาวิถีชีวิตแห่งใหม่ให้เข้ามาเยือนจำนวนหนึ่ง “โครงการพัฒนาการสื่อสารการทำข่าวสืบสวน สอบสวนประเด็นสื่อสุขภาวะข้ามพรมแดน” จึงได้ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์ตามไปดูวิถีชีวิตเพื่อนบ้านร่วมแม่น้ำโขง ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
เบื้องหน้าของทะเลสาบเขมร หรือ “โตนเลสาบ” ที่ครอบคลุม 5 จังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ ยังคงมีเรือหลากสีสันที่จอดหน้าบ้านเสาสูงเรียงรายไปสุดสายตา อีกทั้งยังหนาแน่นไปด้วยป่าเขียวชอุ่มที่ชื่อว่า “เปรยกม” อันเป็นแหล่งชมสัตว์ป่า ทั้งนก ลิง ค่าง ฯลฯ รวมทั้งไม้ยืนต้นอายุกว่า 180 ปีอย่าง “ต้นมะเรี้ยะ” หรือคนไทยเรียกว่าต้นกระโดน ที่สร้างความเพลินตาแก่นักท่องเที่ยวอย่างมาก
ทว่าเบื้องหลังกลับซุกซ่อนไปด้วยความทุกข์และความเศร้าของผู้คนริมทะเลสาบล่องลอยอยู่อย่างเงียบๆ เพราะชาวประมงในพื้นที่กำลังเผชิญวิกฤติน้ำในทะลสาบแห้ง ปลาลดลงและเผชิญกับผู้บุกรุกล่าสัตว์น้ำโดยอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เคราะห์ร้ายยังเจอกับปัญหาสารพิษจากผู้ทำไร่ ทำนา ที่ปล่อยน้ำไหลเข้ามาในทะเลสาบด้วย
เติม รวม วัย 48 ปี ชาวบ้าน “คน็อดกอมบ๊อด” สะท้อนต้นกำเนิดและวิถีชีวิตชาวกัมปงพลุกระหว่างนั่งโม่ถั่วเขียวเตรียมทำของหวานว่า ชุมชนกัมปงพลุกเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเขมรแดงครองเมืองพนมเปญประมาณ ปี 2517 ชาวบ้านเป็นเชื้อชาติขแมร์แท้ บ้างมีบัตรประจำตัวประชาชน บ้างไม่มี โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ริมทะเลสาบเมือง ประกอบไปด้วย 3 หมู่บ้าน คือ กวกกะดอล เดยกะฮอม และคน็อดกอมบ๊อด มีพลเมืองเกือบ 700 ครัวเรือน โดยสร้างบ้านในรูปแบบบ้านลอยน้ำ มีเสาสูงเกือบ 10 เมตร เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ได้ในฤดูน้ำหลาก โดยแต่ละปีน้ำท่วมจะยาวนานประมาณ 10-20 วัน อาศัยการจับปลาเพื่อยังชีพ
ต่อมาพัฒนาเป็นอาชีพประมงอย่างจริงจังและส่งขายให้พ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับปลาในทะเลสาบ นอกจากนี้ชาวบ้านยังนิยมลูกผักในครัวเรือน เช่น ฟักแฟง ถัวเขียว แตงกวา และถั่วฝักยาว กะเพรา โหระพา เพื่อประกอบอาหารภายในครอบครัวและลดภาระค่าอาหาร
เติมเล่าต่อว่า แม้จะชาวประมงกัมปงพลุกจะมีรายได้จากการหาปลา ในทะเลสาบแต่ใช่ว่าจะมีฐานะร่ำรวย เพราะทุกคนต้องแบ่งเงินซื้อข้าวสารที่ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2 พันเรียล หรือ ประมาณ 14 บาทไทย และเสียค่าเสาสร้างบ้าน กรณีพัง ทรุด หลังจากน้ำท่วมประมาณต้นละ 5 หมื่นถึง 1 แสนเรียล หรือประมาณ 365-730 บาท ทำให้ชาวประมงต้องทำงานหนักตลอดปี แต่ครั้นพอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป น้ำทะเลสาบแห้ง มีผู้แย่งอาชีพประมงเกิดขึ้น และมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น สารเคมี น้ำเน่าเสีย ปลาเป็นโรค ก็ทำให้ชาวประมงเริ่มขาดแคลนรายได้ หลายคนหันมาเลี้ยงปลาในกระชัง ต้องลงทุนสร้างกระชัง ซื้ออาหารปลา และขับเรือนำเที่ยว ซึ่งต้องลงทุนเสียค่าน้ำมันเพิ่มเติม หลายครัวเรือนจึงประสบปัญหาหนี้สินตามมา
“ช่วงนี้ต้องขยัน ไม่ขยันอดแน่ๆ บางวันฉันขายถั่วเขียวกับน้ำตาลเชื่อม บางวันฉันไปหาปลากับสามี ช่วยๆ กันทำมาหากิน ก่อนน้ำขึ้นแล้วจะทำอะไรลำบาก ปลูกพืชไม่ได้ ออกไปซื้อข้าวสารยาก ก็ต้องเร่งมือทำงานอย่างแข็งขันในช่วงน้ำลด แล้วปลาก็ต้องถนอมอาหารไว้กิน ไม่งั้นอดตาย” แม่บ้านวัย 48 เล่าถึงการใช้ชีวิตในทะเลสาบ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลง
“ป่าสวยและเขียวตลอดปี ช่วงหน้าฝนคนขะแมร์จะมาเด็ดยอดอ่อนต้นมะเรี้ยะไปกินกับน้ำพริก ส่วนหน้าแล้งจะตัดกิ่งไปทำฟืน ป่าทุกตารางนิ้วเป็นวังปลาชั้นดี สมัยที่ทะเลยังอุดมสมบูรณ์นั้น ปลาก็มากมาย ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาขาว มีมากมาย แต่ระดับน้ำเปลี่ยนเท่านั้นแหละ ป่าเปรยกมก็ดูเสื่อมลงไป ปลาไม่ชุมเหมือนก่อน ชาวบ้านต้องหนีไปรับจ้างขายแรงงานบ้าง ไปขับเรือท่องเที่ยวบ้าง เพื่อให้มีกินมีใช้” ชาวประมงวัย 37 อธิบาย
ระหว่างทางล่องเรือในพื้นที่ทะเลสาบช่วงเย็น ชาวขะแมร์หลายคนกำลังชุลมุนกับการชั่งปลาขายให้พ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อปลาจากชาวบ้านที่เพิ่งกลับเข้าบ้านหลังออกทะเลไปเก็บปลาจากกับดัก
วอน ฮอด เครือข่ายองค์กรชาวบ้านซึ่งทำงานเกี่ยวกับการสำรวจสถานการณ์การทำประมงภายใต้องค์กร Fishery Action Coalition Team หรือ FACT เสริมว่าปัจจุบันชาวบ้านทะเลสาบต้องรวมกลุ่มกัน 3-5 ครอบครัว เพื่อนำปลามาขายให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยแต่ละกลุ่มหาได้ประมาณ 50 กก.ต่อวัน ราคาของปลาเริ่ม กก.ละ 30-45 บาท ขณะที่เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วชาวประมงหาได้กลุ่มละประมาณ 100-200 กก. ถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก
เรื่องเล่าของชาวประมงริมทะเลสาบดูเหมือนมีชีวิตที่เรียบง่าย ทว่าอดีตที่สวยงามกับปัจจุบันที่เริ่มเข้าสู่วิกฤติ ไม่ต่างจากชาวไทยที่อาศัยแม่น้ำสายสำคัญ เช่น โขง ชี มูล เพื่อการดำรงชีวิต แต่กลับถูกคุกคามด้วยภัยสารพัดทั้งอุตสาหกรรม ทั้งเขื่อนล้วนรุกรานวิถีชีวิตผู้คนจนน่าเศร้า “วอน” ย้ำว่าการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว ไทย ล้วนเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การคุกคามจากเรือประมงของชาวเวียดนาม ที่ฝ่าฝืนกฎหมายของกัมพูชา นำอุปกรณ์หาปลาขนาดใหญ่มาล่าสัตว์น้ำในทะเลสาบ ก็ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญทั้งสิ้น เมื่อชาวประมงหาปลาได้ไม่มากเท่าที่ควร ไม่แปลกที่ในตลาดของเสียมราฐหลายแห่งที่เคยเป็นแหล่งค้าปลาน้ำจืด รวมทั้งภัตตาคารน้อยใหญ่ในกัมพูชา เริ่มนำเข้าปลาจากประเทศไทยและใช้ปลาเลี้ยงในกระชังค้าขายแทนปลาที่ได้จากธรรมชาติ
ทั้งนี้ทะเลสาบเขมรเป็นแม่น้ำสาขาหนึ่งที่รับน้ำจากแม่น้ำโขง ซึ่งปลาบางส่วนเป็นปลาอพยพจากแม่น้ำโขง เช่น ปลาบึก ปลาชะโด แต่เมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนไปจากบทเรียนของชาวบ้านรู้ดีว่า เป็นเพราะแม่น้ำโขงถูกขวางกั้นอย่างไม่เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยจำนวนเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างที่องค์กรแม่น้ำนานาชาติและคณะกรรมาธิการน้ำโขงระบุไว้ทั้งในส่วนที่ก่อสร้างแล้วและอยู่ระหว่างแผนการศึกษาเพื่อก่อสร้างในอนาคต ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากชม เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนปากแบง เขื่อนท้าค้อ เขื่อนดอนสะฮอง ประเทศลาว เขื่อนซำบอ และเขื่อนสตึงเตร็ง ประเทศกัมพูชา เขื่อนบ้านกุ่มชายแดนไทย-ลาว
เขื่อนดังกล่าวที่ระบุข้างต้น วอน ยอมรับว่า ชาวกัมพูชาหลายคนไม่ทราบในหลักการว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และอะไรดำเนินการไปกี่ขั้นตอนแล้วบ้าง แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นว่า อะไรก็ตามที่ขวางกั้นเส้นทางธรรมชาติของสายน้ำ ไม่ให้ไหลผ่านอย่างเสรี ล้วนแล้วแต่เป็นหายนะต่อแม่น้ำทั้งสิ้น
“พวกเรารู้ ประเทศข้างๆ เขาเตรียมสร้างเขื่อนกันมากมาย ขณะที่ประเทศกัมพูชามีแผนสร้างอยู่บ้าง แต่รัฐบาลก็ไม่เคยเอาเรื่องเขื่อนมาพูดกับเรา พวกเราไม่รู้รายละเอียด รู้แค่ว่า ทางน้ำมันเปลี่ยน แสดงว่าแม่น้ำโขงถูกขวาง หากขอร้องทุกประเทศได้ อยากขอให้เห็นใจเราชาวขะแมร์ อย่ากดเราให้ต่ำลงกว่านี้อีกเลย ทุกวันนี้ก็จนจะแย่แล้ว แต่ดีมีผัก มีปลาให้หากินจากแม่น้ำได้บ้าง แต่คุณภาพชีวิตของเรามันต้องต่ำลงกว่านี้แน่ๆ หากสิ้นหนทางทำมาหากินในทะเลสาบ” วอน ทิ้งท้าย
ขณะที่ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของปลา ประเทศไทย ระบุว่า ทะเลสาบเขมรถือเป็นแหล่งครัวปลาน้ำจืดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และถือเป็นแหล่งปลาน้ำจืดอันดับหนึ่งในประเทศลุ่มน้ำโขง ประกอบไปด้วยปลาชนิดต่างๆ กว่า 300 ชนิด สัตว์น้ำจืดจากทะเลสาบทั้งสดและแห้ง จะถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย
โดยในปี 2551 ข้อมูลของเว็บไซต์คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำพบว่า ชาวประมงของทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงมีการหาสัตว์น้ำจืดได้แต่ละปีมากกว่าสหรัฐอเมริกา โดยกว่า 50% หาได้จากทะเลสาบเขมร ซึ่งหากเปรียบเทียบไปแล้วแค่เฉพาะจำนวนปลาที่หาได้ในทะเลสาบเขมรนั้นคิดเป็น 2% ของการจับปลาทั่วโลก ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากในอดีต
ตรงข้ามกับสถานการณ์ปัจจุบันที่น่าห่วงคือ ปริมาณน้ำของแม่น้ำโขงที่เริ่มแห้งไป อันเกิดจากการสร้างเขื่อนต่างๆ ส่งผลให้ทะเลสาบอันเป็นปลายน้ำแห้งลงทุกปี ชาวประมงหาปลาได้น้อยลง
ทั้งนี้ สำหรับโครงการสร้างเขื่อนที่อาจจะกระทบต่อระดับน้ำและพันธุ์ปลาในทะเลสาบและลุ่มน้ำโขงมากที่สุดก็คือ แผนการสร้างเขื่อนซำบอ ที่กัมพูชามีการร่างแผนไว้ แต่ยังไม่มีใครรู้จักมากนัก โดยหากมีการสร้างจะสร้างทางกรุงกระแจะ อยู่ทางตอนใต้ของสตึงเตร็ง ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการรื้อแผนเพื่อดำเนินการสร้างในอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้หากมีการสร้างเขื่อนแห่งใดก็ตามในประเทศลาว ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อทะเลสาบได้ เพราะเป็นแหล่งรับน้ำทางตอนใต้ และพื้นที่อันดับสองที่ได้รับผลกระทบตามมา คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงทางใต้ของเวียดนาม อาจกล่าวได้ว่า เขื่อนใดก็ตามที่สร้างในลาวและกัมพูชา ล้วนนำหายนะมาสู่ระบบนิเวศในทะเลสาบทั้งสิ้น
“ตอนนี้แค่เขื่อนในไทย จีนก็ทำลายพันธุ์ปลาสำคัญอย่างปลาบึก ปลาตะเพียนจีน และทำลายคุณภาพชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงไปมากแล้ว หากเขื่อนในสองประเทศทั้งลาว กัมพูชา เกิดขึ้น รับรองว่า ครัวปลาของโลกล้มแน่นอน”
สำหรับปลาที่เป็นตัวชี้วัดว่าทะเลสาบและน้ำโขงเริ่มวิกฤติในขณะนี้ อันมีสาเหตุมาจากการสร้างเขื่อนและการตัดไม้ทำลายป่า จนระดับน้ำแห้งลง ประกอบกับอุตสาหกรรมล่าสัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ ที่ทำการประมงทับถมชีวิตประมงพื้นบ้านนั้น ได้แก่ สถานการณ์การสูญพันธุ์และใกล้สูญพันธ์ของปลาฉนาก ปลาสะนากและปลาเสือตอ โดยปลาฉนากนั้นถือว่าเป็นปลาที่ขนาดใหญ่มาก เมื่อโตเต็มที่ราว 6 เมตร หนักได้ถึง 600 กก. พบได้ทั้งปากแม่น้ำคงคา ปากแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันปลาฉนากหายไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว
ดร.ชวลิตระบุว่า ทางออกของการรักษาแหล่งปลาน้ำจืดระยะยาวก็คือ การหยุดสร้างเขื่อนเพื่อกั้นแม่น้ำโขง และลดการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนระยะเร่งด่วนโดยเฉพาะในทะเลสาบ อันเป็นครัวปลาของประเทศลุ่มน้ำโขงและประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็คงต้องลดเรื่องการสัมปทานประมงขนาดใหญ่ รวมทั้งรณรงค์ให้มีการทำประมงพื้นบ้านตามฤดูกาลที่เหมาะสมด้วย
————————–
ไทยโพสต์ 4 สิงหาคม 2556