ชนบทรอบเมืองเสียมราบเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ เป็น “อู่ข้าวอู่น้ำเลี้่ยง”อาณาจักรกัมพูชาโบราณต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
พอเดือน 9 ฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมทุ่งนาไร่กว้างไกลไปจนถึงโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) ปลาหลากหลายสายพันธุ์จะเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างบึงใหญ่น้อยในที่ราบลุ่มกับโตนเลสาบ
ในอดีตชุกชุมกินไม่มีหมด มาวันนี้ เราไม่อาจนำมาเทียบได้ เมื่อเมืองเจริญขึ้น ผู้คนมากขึ้น ความต้องการบริโภคมากขึ้น ปลาเล็กโตไม่ทันใหญ่ก็ถูกจับกินหมด
วิธีปล่อยพันธุ์ปลาดูจะง่ายและสะดวกที่สุดสำหรับหน่วยราชการกัมพูชา ง่ายกว่าห้ามจีนลาวสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ง่ายกว่าไล่จับนายทุนเวียดนาม ง่ายกว่าไล่จับชาวบ้านหาปลาฤดูวางไข่
ปลายกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมและเพื่อนนักข่าวจากเมืองไทยข้ามไปสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนประมงริมโตนเลสาบ ต่อด้วยดูการอนุรักษ์พันธุ์ปลาของภาคประชาชนที่หมู่บ้าน “ไปรเติงเหิม” ต.แกปัว ห่างจากเมืองเสียบเรียบไป 15 กิโลเมตร ห่างจากโตนเลสาบ 7 กิโลเมตร
ไปร แปลว่า “ป่า” เติงเหิม แปลว่า “ลมหายใจ”
ปัจจุบันเหลือเพียงท้องทุ่งนาสลับบึงใหญ่น้อยแผ่ออกไปกว้างสุดลูกหูลูกหา มีดงไม้เล็กโผล่แซมเป็นหย่อมๆ ไม่เหลือสภาพป่าแห่งลมหายใจอีกแล้ว
ทีมสื่อมวลชน นัดแนะกับองค์กรพัฒนาเอกชนกัมพูชา Fisheries Action Coalition Team (Fact) ไปร่วมพิธีบวงสรวง “บึงสลักเพรียะ” บึงใหญ่ประจำหมู่บ้านไปรเติงเหิม
วันนั้น มีตัวแทน 8 หมู่บ้านโดยรอบมาร่วมงานด้วย เสร็จพิธีกรรมแล้ว ทั้งหมดร่วมปล่อยปลาช่อนขนาดฝ่ามือราว 200 ตัวลงสู่บึงด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ถือเป็นการปล่อยพันธุ์ปลาครั้งแรกในละแวกนี้ หลังจาก Fact เข้ามาจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ระหว่างชุมชน และช่วยประสานขอพันธุ์ปลาจากกรมประมงให้
ซอด ออม ชาวบ้านไปรเติงเหิม วัย 52 ปี เล่าว่า ปกติช่วงฤดูปลาชุก ชาวบ้านหาได้วันละ 50 กิโลกรัม/วัน/ครอบครัว เพียงพอยังชีพ เหลือก็ส่งขายตลาด แต่เมื่อต่างคนต่างหากันมากๆก็กลัวมันจะหมด ดีใจที่ทางการนำพันธุ์ปลามาให้ พอถึงเดือน 9 น้ำจะท่วมผืนนา ปลาจะแพร่กระจายไปทั่ว เชื่อว่าต่อไปชาวบ้านจะไม่ขาดแคลน
ขากลับ รถวิ่งผ่านกลางหมู่บ้าน สังเกตเห็นเกือบทุกหลังยกพื้นด้วยเสาสูงตั้งแต่ 1-3 เมตรเพื่อรองรับหน้าน้ำหลาก ใต้ถุนมีเรือหลังละลำ นี่คือวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล ต่างกับเมืองไทย กลายเป็นบ้านจัดสรรบ้านกล่องตั้งขวางทางน้ำไปหมด
เช้ามืดวันรุ่งขึ้น เราไปตลาด “ซากรอม” กลางเมืองเสียมราบ ดูบรรยากาศค้าขายปลาสด
พูดคุยกับเจ้าของแผงได้ความว่า ทุกวันนี้ เนื้อวัว หมู ไก่แทบจะยึดแผงหมดแล้ว เพราะที่นี่มีแต่ปลาเลี้ยงในกระชังเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คนชอบปลาธรรมชาติมากกว่า แต่หามันยากขึ้นเรื่อยๆ สภาพเช่นนี้ไม่ต่างจากตลาดสดเมืองไทยเท่าใดนัก
ใครอยากกินปลาธรรมชาติ ต้องไปหาจับกินเอง!
———————-
โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน
6 สิงหาคม พ.ศ. 2556