
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ พีมูฟ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ เพื่อหารือเรื่องกรอบการแก้ไขปัญหาและยุติการดำเนินการตรวจยึดที่ดินชุมชนในระหว่างการแก้ไข เนื่องจากได้เกิดปัญหากรณีชุมชนบ้านสบลาน หมู่ที่ 6 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไร่หมุนเวียนของพะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้อาวุโสปกาเกอะญอ ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ห้ามทำไร่ทั้งที่เป็นที่ดินดั้งเดิมของพะตีตาแยะมากว่า 30 ปี
ทั้งนี้ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและรักษาป่าไม้ที่ 11 (สะเมิง) นำโดยนายอนุสรณ์ ทองโคตร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 กว่านาย เข้าตรวจยึดแปลงที่ดินทำกิน 1 แปลงเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ในพื้นที่บ้านแม่ลานคำ (หย่อมบ้านสบลาน) หมู่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ชุมชนได้ปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาด ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับราษฎรหย่อมบ้านสบลานว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและอ้างว่าพบว่าพื้นที่แผ้วถางใหม่ จำนวน 1 แปลงและจะดำเนินการเป็นคดีแห้ง โดยห้ามทำประโยชน์ในแปลงดังกล่าวนี้ต่อไป
หนังสือระบุด้วยว่า แม้ชุมชนจะพยายามชี้แจงให้ทราบว่าแปลงที่ดินดังกล่าว เป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนเก่าที่เคยมีการทำประโยชน์มาก่อนและเว้นช่วงทิ้งไว้ ระยะเวลาถึง 4 ปี แล้วหมุนรอบกลับมาทำในปีปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่อ้างอิงถึงข้อมูลแปลงดังกล่าวตามใบคำร้องแจ้งการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง เมื่อปี พ.ศ. 2542 ของนายต่าแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ที่ระบุจำนวนเนื้อที่การถือครองและจำนวนแปลงที่ดินประกอบยื่นคำร้องพร้อมระบุชื่อ และข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตามแนวทางการสำรวจการยื่นขอโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 ซึ่งหลักฐานตามปรากฎนั้นแสดงให้ถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวอย่างชัดเจน อีกทั้งกรณีหย่อมบ้านสบลาน ยังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลภายใต้ปัญหาที่อยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน และคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1220/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาของ ขปส. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 นั้น

หนังสือระบุว่า เพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของพีมูฟ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4 ภาค คณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหากรณีอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมประกาศ) เรามีข้อเสนอ 1.ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ยุติการเข้าไปคุกคาม หรือกระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกรอบข้อตกลง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งชุมชนมีความวิตก
และป้องกันมิให้คนภายนอกเข้าไป เพราะอาจทำให้โรคโควิด แพร่ระบาดในชุมชนได้ 2.ให้ยุติการเข้าไปดำเนินการตรวจยึดแปลงและไม่นำแปลงที่ดินดังกล่าวไปสู่การดำเนินตามกฎหมาย(คดีแห้ง) โดยให้ใช้กลไกคณะทำงานฯ หาแนวทางการแก้ไข
ปัญหาตามกรอบข้อตกลงต่อไป 3.ในเบื้องต้นระหว่างรอสถานการณ์โรคโควิดระบาดคลี่คลาย การดำเนินการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมและมีการชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดำเนินการปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการพูดคุยและหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ขณะที่พะตีตาแยะ กล่าวว่าเมื่อวันก่อนได้มีการประชุมหมู่ รวมถึงหย่อมบ้านพิจารณาเรื่องที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยึดพื้นที่ของชาวบ้าน 2 แปลง โดยที่ประชุมมีมติยืนยันสิทธิของชาวบ้านและไม่ต้องการให้ป่าไม้ใช้วิธีการเช่นนี้ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการหย่อมบ้านเพื่อหามาตการต่อไป และพื้นที่นี้ได้ประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษแล้ว แต่กลับถูกป่าไม้มายึด โดยเราเก็บข้อมูลโฉนดชุมชนเมื่อปี 2554 และขึ้นทะเบียนไว้กับกรมป่าไม้เมื่อปี 2542
“ถ้าเจ้าหน้าที่ทำแบบนี้ เขตวัฒนธรรมพิเศษแทบไม่มีความหมายเลย เช่นเดียวกับกรณีที่พวกเราบวชป่าซึ่งตอนนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้และนายอำเภอก็มาร่วมด้วย เราชี้ให้เขาดูเขตต่างๆ พวกเรากังวลใจว่า เขาจะยึดที่ดินเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่สู้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เรามีข้อมูลยืนยันมากมาย จริงๆ แล้วหากไม่ติดเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด เราอยากจัดเวทีร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อหาทางออกร่วมกัน” พะตีตาแยะ กล่าว