Search

นักวิชาการแนะรัฐบาลสร้างสมดุล-อย่าเอียงข้างทหารพม่ามากกว่ามนุษยธรรม เผยข้อมูลศูนย์สั่งการชายแดนอำพรางตัวเลข-ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงในพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม  2564 รายงานข่าวความคืบหน้าถึงสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่าและทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ทำให้มีชาวบ้านนับพันคนต้องอพยพหนีภัยข้ามแม่น้ำสาละวินมาพักพิงฝั่งไทยเพื่อความปลอดภัย ซึ่งล่าสุดทหารไทยได้ผลักดันชาวบ้านเหล่านี้กลับฝั่งกะเหรี่ยงแล้วเป็นสวนใหญ่ โดยอ้างว่าสถานการณ์สงบแล้ว ขณะที่ชาวบ้านยืนยันกับนักข่าวว่ายังไม่รู้สึกปลอดภัยเนื่องจากมีการสู้รบกันข้างใน นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินรบและโดรนของพม่าบินลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ล่าสุดศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกเอกสารข่าวประจำวันระบุว่า จากการที่พม่าได้ประกาศหยุดยิงทั่วประเทศส่งผลให้สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีการสู้รบในฝั่งพม่า และการปฎิบัติการทางอากาศในพื้นที่ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน เป็นระยะเวลากว่า  10 วันเหตุการณ์ทั่วไปปกติ

ชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบหนีข้ามมาหลบภัยฝั่งไทยนับพันคนแต่ทางการแจ้งว่าเหลือ 38 คน

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุด้วยว่านับตั้งแต่วันที่  28 เมษายน ที่มีชาวบ้านเมียนมาเดินทางข้ามมายังประเทศไทยและทหารได้จัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชัวคราว คณะทำงาน จ.แม่ฮ่องสอน ได้ชี้แจงให้ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวพม่าส่วนใหญ่เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยและได้เดินทางกลับไปยังฝั่งพม่าเพื่อเตรียมการเพาะปลูกในฤดูกาล ทำให้มีชาวบ้านที่พักอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเหลืออยู่ 38 คน ส่วนราษฎรไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบนั้น ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาทั้งหมดแล้ว เนื่องจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตามรายงานของศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า กลับสวนกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยล่าพื้นที่หมู่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย ยังคงถูกสั่งห้ามไม่ยอมให้คนภายนอกเข้าไป โดยมีด่านทหารไทยตั้งด่านสกัดกั้นเอาไว้โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่ยังคงไม่ปลอดภัย และทหารไทยยังคงห้ามไม่ให้เรือวิ่งเรือในแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ความช่วยเหลือที่ภาคประชาชนส่งไปให้ผู้หนีภัยยังเป็นไปได้ยากมาก ทั้งนี้ยังคงมีชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบนับพันคน ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และผู้ป่วย โดยไม่ต่ำกว่า 40 คนกำลังท้อง ในจำนวนนี้มีหญิงท้องแก่ 9 เดือน 2 คน ที่อาจจะคลอดลูกในอีกไม่กี่ข้างหน้า ซึ่งทั้งหมด

หลบพักพิงอยู่ฝั่งไทยบริเวณริมแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามกับบ้านแม่นือท่า ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง โดยชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้

เป็นชาวบ้านจากชุมชนเดปูโหน่ เขตมือตรอ ฐานที่มั่นของกองพล 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ KNLA สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU  และหมู่บ้านใกล้เคียง ที่ต้องหลบหนีระเบิด จากการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. และข้ามมาประเทศไทยครั้งหนึ่งแล้ว แต่ถูกผลักดันกลับและเมื่อกองทัพพม่าส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดในพื้นที่ใกล้ชุมชนเดปูโหน่ ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงได้อพยพหนีข้ามมาหลบภัยฝั่งไทยอีกครั้ง 

แม่เฒ่าชาวกะเหรี่ยงรายหนึ่งกล่าวว่า ลูกๆได้หามเม่เฒ่าใส่เปลมาเพราะตาบอด โดยอพยพข้ามน้ำสาละวิน ซึ่การอพยพกลับไป-กลับมา จึงเป็นความยากลำบากหนึ่ง และห่วงว่าเพิงพักจะพังลงเมื่อมีฝนตกหนัก แต่ก็ยังปลอดภัยกว่าการนอนรอความตาย

ขณะที่หญิงแม่ลูกอ่อนรายหนึ่ง กล่าวว่าเครื่องบินยังมาตลอด ทำให้ไม่กล้ากลับ โดยลูกป่วยท้องร่วง และ สามีก็เป็นไข้มาลาเรีย

“พวกเราก็อยากกลับบ้าน ไม่อยากอยู่ที่นี่นาน แต่ตอนนี้ยังไม่ปลอดภัยจริงๆ ขอเจ้าหน้าที่ไทยเห็นใจเราด้วย และตอนนี้เราเองก็ยังทราบข่าวว่า จะมีชาวบ้านอีกจำนวนมาก ที่อยากหนีจากในป่าออกมาด้วย เพราะพวกเขาไม่มีอาหาร” ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง กล่าว

ชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบหนีข้ามมาหลบภัยฝั่งไทยนับพันคนแต่ทางการแจ้งว่าเหลือ 38 คน

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่าก่อนหน้านี้ได้ทราบข่าวจากเพื่อนๆที่ได้ลงพื้นที่ว่ากองทัพไทยได้สั่งให้ชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบกลับฝั่งพม่าภายใน  72  ชั่วโมง ทำให้เกิดคำถามทันทีว่าเป็นนโยบายชัดเจนหรือเป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเองซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหากยังมีการสู้รบอยู่ ซึ่งผิดหลักการการไม่ผลักดันกลับ ในขณะที่ยังไม่มีความปลอดภัย โดยที่ผ่านมาผู้แทนรัฐบาลไทยได้ยืนหยัดในแทบทุกเวทีนานาชาติแม้กระทั่งเวทีของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้รัฐบาลไทยไม่ยอมให้ผู้อพยพเหล่านี้เข้ามา แต่ถามว่าจะป้องกันได้อย่างไร หากคนนับพันถูกผลักดันให้กลับไป แต่เขากลับเข้ามาใหม่ทีละครอบครัวโดยไปอยู่กับญาติๆ ฝั่งไทย ส่วนข้ออ้างในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดนั้น ยิ่งน่ากังวลเพราะหากให้คนเหล่านี้เข้ามาพักพิงและมีการตรวจคัดกรองอย่างเป็นระบบก็น่าจะดีกว่าการปล่อยให้กระจัดกระจายไป

บ้านแม่สามแลบเงียบเหงาเพราะทหารสั่งห้ามคนนอกเข้าพื้นที่

“เราควรเปิดชายแดนให้คนเหล่านี้เข้ามา เพราะเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมล้วนๆ ถ้ารัฐบาลทำไม่ได้ก็ควรประสานกับองค์กรระหว่างประเทศที่เขามีประสบการด้านนี้ เช่น กาชาดสากล UNHCR รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เขาทำเรื่องนี้อยู่” ดร.ศรีประภา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นควรเป็นอย่างไร นักวิชาการสุาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษากล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำคือ 1. พูดคุยกับทุกภาคส่วน อย่าปล่อยให้ตกอยู่ในสภาพอึมครึมเพราะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆมาร่วมหารือ  2.รัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางทหารกับหลักการมนุษยธรรม เพราะขณะนี้สมดุลได้เอียงไปในทิศทางสนับสนุนทหารพม่าที่ยึดอำนาจ การที่ทำให้คนทั้งโลกเห็นถึงความเอนเอียงนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยเพราะทั่วโลกอยากให้รัฐบาลไทยเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน 3.เมื่อรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนก็ควรปล่อยให้องค์กรระหว่างประเทศทำหน้าที่อย่างแท้จริงและทำงานอย่างมีอิสระ

__________

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →