Search

ปลา’โตนเลสาบ’ หายไปอยู่บนปราสาท

 

บ้านเรือนในหมู่บ้าน "คนอด-กอม-บอด" สร้างไว้สูงรับฤดูน้ำหลาก
บ้านเรือนในหมู่บ้าน “คนอด-กอม-บอด” สร้างไว้สูงรับฤดูน้ำหลาก

 

ภาพสลักนูนต่ำบนระเบียงคดรอบปราสาทนครวัด และปราสาทบายน หลายภาพแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารขนาดมหึมา บ่งบอกความสำคัญของ “โตนเลสาบ” (ทะเลสาบเขมร) ในฐานะพลังหล่อเลี้ยงประชากร เศรษฐกิจ และสังคมกัมพูชาโบราณ จนเป็นมหาอาณาจักรยิ่งใหญ่เมื่อพันปีก่อน

 

น่าเสียดาย…มาวันนี้ ปลาในโตนเลสาบโตไม่ทันคนจับ เหลือแค่ปลาเล็กปลาน้อยให้บริโภคแบบวันชนวัน

 

วิถีชีวิตชาวประมงริมโตนเลสาบชานเมืองเสียมราฐยังไม่แปรเปลี่ยนมากนักในวันที่ทีมสื่อมวลชนลงพื้นที่หมู่บ้าน “คนอด-กอม-บอด” และหมู่บ้าน “กำปงพลก” พูดคุยกับแกนนำรับทราบสภาพวิกฤตทรัพยากรในน้ำ

 

2 หมู่บ้านเป็นส่วนหนึ่งใน 64 ชุมชน (จาก 27 ตำบล 18 อำเภอรอบโตนเลสาบ) ที่มีองค์กรภาคประชาชนกำกับดูแลการทำประมงพื้นบ้านให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วม จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ บริหารเงินกองทุนทำกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนกัมพูชา Fisheries Action Coalition Team (Fact) คอยเป็นพี่เลี้ยง

 

ภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทบายน แสดงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในโตนเลสาบ (ที่มา http://humidfruit.wordpress.com)
ภาพสลักนูนต่ำที่ปราสาทบายน แสดงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในโตนเลสาบ (ที่มา http://humidfruit.wordpress.com)

นั่งเรือเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิม เทียบกับเมืองไทยคงต้องย้อนไปสัก 30-40 ปีที่แล้ว

 

สาวน้อยนั่งเกี่ยวเหยื่อสดในลอบจับกุ้งกองใหญ่ กลุ่มชายฉกรรจ์ช่วยกันเลื่อยไม้สร้างบ้าน ชายสูงวัยยืนตอกหมันปะเรือผุ หญิงชราทำครัวบนบ้านเรือใกล้พัง เป็นชีวิตประจำวันแสนเรียบง่าย ธรรมดา

 

ออกจาก “คนอด-กอม-บอด” นั่งเรือผ่าน “กำปงพลก” ผ่านสวนป่าเก่าแก่อายุกว่า 180 ปีชื่อ “เปรยกม” มีเนื้อที่ 48 เฮกตาร์ (292 ไร่) ป่าเต็มไปด้วยต้นมะเรียงใหญ่ ลำต้นกิ่งก้านหงิกหงอพลิ้วไหวคล้ายต้นบอนไซ สวยงามแปลกตา มีเสน่ห์ลึกลับน่าผจญภัย

 

พ้นป่าเปรยกมเป็นโตนเลสาบขนาด 2,700 ตารางกิโลเมตร แลเห็นเรือประมงพื้นบ้านหลายลำเก็บปลาจาก “มอง” (คอกแหดักปลาในน้ำ) บ้างวางลอบลงน้ำ ขณะลำหนึ่งแล่นสวนมา มองท้องเรือเห็นแต่กองปลาตัวเล็ก

 

ปลาส่วนใหญ่ในตลาดสดเมืองเสียมราฐเป็นปลาเลี้ยงในกระชัง

 

“20 ปีก่อน เราจับได้ 100 กิโลกรัม/ครัว/วัน มาราวปี 2544-2547 ลดเหลือ 10 กิโลกรัม/ครัว/วัน เมื่อก่อนปลาช่อน ปลาชะโดตัวใหญ่ขนาด 10-20 กิโลกรัม แต่เดี๋ยวนี้ได้แค่ 1 กิโลกรัม ก็ดีใจแล้ว มันน้อยลงจนน่าตกใจ” แกนนำชาวบ้านหญิงเล่าให้ฟัง

 

“เตี๊ยบ เสม็ด” เจ้าหน้าที่ Fact และแกนนำ 2 ชุมชน ยังเล่าให้ฟังถึงวิกฤตพันธุ์ปลาในโตนเลสาบว่า เกิดจากหลายปัจจัย

 

1.การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนทั้งในจีน และลาว ทำให้กระแสน้ำและระดับน้ำเปลี่ยนแปลงผิดปกติ เกิดตะกอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนหน้าแล้งน้ำลึกแค่ 1 เมตร (หน้าน้ำลึก 8-9 เมตร) สภาพป่าชายน้ำเปลี่ยนแปลง ตื้นเขิน ปลาหาที่ทำรัง วางไข่ยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์แล้ว อีกหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์

 

2.นายทุนเวียดนามใช้เรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทันสมัยลักลอบจับปลา ใช้อวนลาก อวนลุนกวาดเอาปลาใหญ่น้อยกลับไป เหตุเพราะเจ้าหน้าที่น้อย โทษเบา

 

3.เกษตรกรรอบโตนเลสาบใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงในแปลงข้าว แปลงพืชผัก คราบสารเคมีไหลลงโตนเลสาบ ส่งผลให้สัตว์น้ำเกิดโรค บริโภคนานๆ เสี่ยงอันตราย

 

แกนนำหมู่บ้าน “คนอด-กอม-บอด” ประเมินว่า ในอดีตประชากร 95% ใน 6 อำเภอรอบโตนเลสาบทำประมง ปัจจุบันเหลือไม่ถึงครึ่ง ที่เหลือหันไปรับจ้าง ข้ามไปทำงานในไทย

 

พวกเขาเชื่อว่า ถ้าเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนกั้นฮูสะฮอง ในสีพันดอน ประเทศลาว แล้วเสร็จ วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่นี่อาจถึงขั้นล่มสลาย

 

วันนี้…ปลาจากโตนเลสาบไม่พอบริโภคภายใน และแทบไม่เหลือพอส่งออก ต้องใช้ปลาเลี้ยง และปลานำเข้าจากไทย ลาว และเวียดนามมารองรับพลเมืองและนักท่องเที่ยว

 

ใครอยากเห็นภาพปลาขนาดใหญ่จำนวนมากจากโตนเลสาบ คงต้องไปเดินดูตามผนังระเบียงคดใน “นครวัด-นครธม” เท่านั้น

————-

โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชนรายวัน ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 36 ฉบับที่ 12936 

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →