Search

โควิดระลอก 3 -วัน “เผาจริง”ของคนชายขอบ คนสลัม-พนักงานบริหาร-ชาวเล-แรงงานข้ามชาติ เดือดร้อน “สาหัส”

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นางนุชนาถ แท่นทอง ชาวชุมชนทองสุข ย่านแพรกษา จ.สมุทรปราการ และที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอก 3  ชาวบ้านในสลัมลำบากกันมากกว่าโควิดระลอก 1 โดยตอนนี้เหมือนตกอยู่ในสถานการณ์สงคราม เพราะต้องระมัดระวังตัวทุกฝีก้าว ขณะที่ทุกคนต้องหาเช้ากินค่ำ พอออกไปไหนไม่ได้ ค้าขายไม่ได้ บางคนออกไปขายก็ไม่มีใครซื้อ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรในเมื่อไม่มีรายได้เลย

“แม้มีคนช่วยเหลืออยู่บ้างแต่ไม่มากเหมือนโควิดระลอกแรกเพราะผู้ประกอบการเองต่างก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน ยิ่งชุมชนแออัดถูกมองว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว และไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้พวกเราต้องทำครัวแจกอาหารเพราะชาวบ้านไม่มีรายได้เลย โดยมีมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ทำงานเรื่องลดขยะอาหาร ก่อนอาหารหมดอายุเขานำมาบริจาคให้ชุมชน เราก็นำมาปรุง ส่วนเครื่องปรุงก็มีคนเอามาช่วย ตอนแรกๆ ควักเงินจ่ายกันเอง 

ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าวว่า ทุกวันนี้บรรยากาศในชุมชนต่างคนต่างอยู่บ้านของตัวเอง ไม่มีใครอยากออกจากบ้านเพราะกลัวติดโควิด แม้รัฐบาลเปิดให้มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีน แต่บางคนก็ไม่อยากฉีดเพราะไม่ไว้วางใจวัคซีนบางตัว ขณะเดียวกันชุมชนก็ต้องเฝ้าระวังและช่วยเหลือกันเอง ด้วยสภาพที่ต้องอยู่กันอย่างแออัด หากใครเป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ก็ไม่มีห้องแยกส่วนตัว 

“หลายชุมชนเลยคิดเรื่องใช้พื้นที่ศูนย์ของชุมชนเป็นที่กักตัว หากใครเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ให้แยกไปกักตัว เราตั้งไว้ 13 จุด พวกเราไปอบรมและเป็นอาสาสมัครคอยประสานเอง มีเครื่องวัดออกซิเจนเอง ถ้าใครที่มีเค้าว่าได้รับเชื้อโควิดแน่ เราจะแจ้งหน่วยพยาบาลให้ช่วยวินิจฉัยอีกที หรือจะส่งไปที่โรงพยาบาลสนามหรือไม่” นางนุชนาถ กล่าว

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนคืออะไร นางนุชนาถกล่าวว่า “เราพยายามทำให้เห็นว่าประชาชนพึ่งตัวเองแล้ว ดังนั้นรัฐต้องรีบเอาวัคซีนมาให้เร็วที่สุดเพื่อให้ชาวบ้านทำมาหากินได้” 

ขณะที่ น.ส.ไหม จันตา ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า โควิดรอบแรกเป็นระยะแรกที่สถานบันเทิงถูกสั่งปิด แต่พนักงานบริการบางส่วนยังพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง บางคนมีทองก็ขายทอง พอโควิดระลอก 2 เราไม่เหลือเงินเก็บแล้ว พอได้รับอนุญาตให้เปิดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วถึงเดือนมกราคมปีนี้ เรากลับไปทำงานแต่ไม่มีลูกค้า พนักงานบริการทำงานยังไม่ทันได้อะไรก็ต้องหยุดอีกในระลอก 3 ผลกระทบจึงมากเพราะพนักงานบริการไม่มีกินแล้ว โดยรอบแรกรัฐบาลยังจ่ายเงินเยียวยาให้ 1.5 หมื่นบาท  รอบสองจ่าย 7 พันบาท แต่มารอบนี้เหลือเพียง 2 พัน

“ตอนนี้ติดต่อกับเพื่อนๆ ในต่างจังหวัดราว 600 คน เพื่อช่วยเหลือกัน บางคนเขาลำบากมากเพราะต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัวและจ่ายค่าเช่าบ้าน อย่างกลุ่มแถวคลองหลอดในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้าไปทำมาหากินและเช่าบ้านอยู่ โควิดรอบแรกเขายังพอทำงานได้ แต่พอมารอบนี้ทำงานไม่ได้เลย เราจึงต้องช่วยเหลือเขาในเบื้องต้น” น.ส.ไหม กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานบริการกล่าวว่า การระบาดของโควิดในรอบ 3 กลุ่มที่ถูกทอดทิ้งยังคงเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติและชาติพันธุ์  โดยธุรกิจที่รัฐรัฐปิดนานที่สุดคือสถานบริการและรอบนี้ก็เหมือนกัน เพราะ คลัสเตอร์ ใหญ่ๆ อยู่ที่คริสตรัลคลับ ทำให้พนักงานบริการตกเป็นแพะในสังคมที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

ส่วนนายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่ช่วงนี้ขายปลาได้ยากอีกแล้วตั้งแต่ปิดเมืองภูเก็ต โดยบุคคลที่จะเดินทางเข้ามาต้องตรวจโควิดหรือฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้ไม่มีร้านอาหารเปิด ส่งผลให้ชาวเลขายปลาไม่ได้ และชาวบ้านมีปัญหาเรื่องขาดแคลนข้าวเหมือนเดิม

“ตอนเดือนเมษายนมีข่าวว่าชาวเลราไวย์ติดโควิด แต่พอไปตรวจดูแล้วเขาไม่ได้เป็นชาวเลที่นี่ เขามีบ้านอยู่แถวแหลมพรหมเทพ ตอนนี้รัฐบาลเลยเร่งฉีดวัคซีนให้ชาวราไวย์ ตอนนี้ฉีดเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ฉีดไปได้ประมาณ 60% ของคนในหมู่บ้าน และจะฉีดเข็มสองในวันที่ 28 เดือนนี้” นายสนิท กล่าว

เมื่อถามถึงความจำเป็นเร่งด่วน นายสนิทกล่าวว่า “ข้าวสาร” เพราะตอนนี้ชาวบ้านไม่มีรายได้ แถมยังหาปลาได้น้อยเนื่องจากเป็นฤดูมรสุม 

“ชาวเลเราหาเช้ากินค่ำและไม่มีเงินเก็บ ตอนโควิดรอบแรกหนักๆ ชาวเลที่ออกไปหางานทำที่อื่นก็ทยอยกลับมาอยู่บ้าน ทำให้คนเยอะขึ้น ตอนนี้ในชุมชนมีราวๆ 1,223 คน รัฐมีแผนเรื่องวัคซีนอย่างเดียว แต่แผนช่วยเหลืออื่นๆ ยังไม่มี ในเบื้องต้นเราอยากให้พัฒนาสังคมจังหวัดช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินก่อน” นายสนิท กล่าว

ด้านนายออง ทู (นามสมมุติ) แรงงานข้ามชาติจากจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่าขบวนการค้าแรงงานยังคงเกิดขึ้นจนทุกวันนี้ถามว่าแรงงานเหล่านี้พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่เขาสามารถเข้ามาถึงกรุงเทพ มหาชัย ปทุมธานี สมุทรปราการ ได้อย่างไรถ้าไม่มีคนพามา ทุกวันนี้ยังมีคนแอบเข้ามาเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์ความไม่สงบในพม่าจึงหนีเข้าไทย พวกเขามีช่องทางเข้ามาเสมอ

“พวกเราเห็นอยู่ว่ามีเพื่อนคนงานหน้าใหม่ๆ เข้ามา แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราเองก็กลัวโควิด เราพูดอะไรไม่ได้ จะแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐก็รู้สึกหวาดกลัว เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร” ออง ทู กล่าว และว่า “ ทุกวันนี้พวกเรายังต้องอยู่กันอย่างแออัด หน้ากากและแอลกอฮอล์ล้างมือก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง แม้พวกเราพยายามเซฟตัวเอง แต่ครั้งนี้ก็ไม่รู้ป้องกันอย่างไร หลายพื้นที่ที่ติดเชื้อเป็นชุมชนแออัดและติดกันเยอะมาก”

“เราพักกันอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งที่มีแต่แรงงานข้ามชาติ เพื่อนผมครอบครัวหนึ่งทำงานอยู่ในโรงงานแถวบางนาตราด พอเขาติดโควิดและเมียก็ติดจากเขา เมียเขาทำงานอยู่ในโรงงานแถวนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ทำให้คนงานแถวนั้นอีก 4-5 แห่งได้รับเชื้อไปด้วย และกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่” นายออง ทู กล่าว

“ที่น่าเป็นห่วงสุดคือเมื่อเป็นโควิดแล้วรักษาที่ไหน ทุกวันนี้ไม่มีใครให้ความรู้พวกเรา ไม่มีใครแนะนำ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายจ้าง แม้บางโรงงานมีการประชาสัมพันธ์ให้คนงานรับรู้อยู่บ้าง แต่ยังน้อยมาก ที่สำคัญหากพวกเราต้องหยุดงาน 14 วันเพื่อกักตัวหรือรักษาตัว เราไม่ได้รับค่าจ้าง ทุกวันนี้ใครที่ติดเชื้อต้องรับผิดชอบตัวเอง บางคนพอกักตัวเสร็จต้องตกงานเพราะนายจ้างไม่รับเข้าทำงานแล้ว เขากลัว แถมเจ้าของบ้านเช่าก็ไม่ให้อยู่ต่ออีกเพราะกลัวเราจะแพร่โรคเช่นกัน”

เมื่อถามถึงความต้องการช่วยเหลือเร่งด่วนคืออะไร ออง ทู บอกว่าอยากให้รัฐบาลเจรจากับเจ้าของที่พักอาศัยเพื่อให้ลดค่าเช่าห้อง หรือรัฐช่วยประสานลดค่าน้ำค่าไฟให้บ้าง

“เชื่อมั้ยพวกเราส่งเงินสมทบให้สำนักประกันสังคมทุกเดือน แต่เราไม่เคยได้ใช้ประกันว่างงานเลย พอเราตกงานหากไม่มีนายจ้างใหม่แค่ 1 เดือนเราก็อยู่อย่างผิดกฎหมายแล้ว ไม่มีโอกาสได้ใช้ประกันว่างงาน สำนักงานประกันสังคมไม่เคยช่วยเหลือเราเลย แต่เก็บเงินเราไปทุกเดือน กรณีชราภาพก็เช่นกัน เราส่งเงินสมทบไปแต่ไม่มีใครได้ใช้หรอก เพราะเดี๋ยวพวกเราก็กลับประเทศ ไม่มีใครตั้งใจจะทำงานจนแก่หรอก”

เมื่อถามว่าแรงงานข้ามชาติได้รับการติดต่อให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดบ้างหรือไม่ นายออง ทู กล่าวว่ายังไม่เคยได้ยินจากทางการ แต่บางโรงงานก็ให้คนงานลงทะเบียนไว้ บางโรงงานนายจ้างก็เก็บเงินจากลูกจ้างโดยบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการประสานงานเรื่องวัคซีน 


On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →