Search

นักวิชาการ-อดีต รมว.ตป.-เครือข่ายภาคประชาชน ร่อนหนังสือถึง “บิ๊กตู่”เปิดพรมแดนรับผู้หนีภัยจากพม่า-ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้านชายแดนแม่สอด DKBA-กองทัพพม่ารบกันหนัก ชาวกะเหรี่ยง 400 ชีวิตทะลักข้ามน้ำเมย

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564  ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และนักวิชาการ อาทิ ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์โรตารี่เพื่อสันติภาพ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.ลดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานมูลนิธิร่วมมิตรภาพไทย-พม่า นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ดร.ชยันต์ วรรธนภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคและสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยังยืน  ได้ส่งถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ( สมช.) เรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ตามที่ได้มีเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้มีการใช้กำลังอาวุธปราบปราม ออกหมายจับ และไล่กวาดล้างชาวเมียนมาผู้เห็นต่างอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งบัดนี้ทั้งที่ประชาคมโลก โดยองค์การสหประชาชาติ และประชาคมอาเซียนได้ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายกองทัพเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขัง และยุติการคุกคามประชาชนพลเมืองชาวเมียนมาที่ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนออกจากถิ่นฐาน และการอพยพหนีภัยมาสู่ชายแดนไทยและอินเดีย

หนังสือระบุว่า คาดว่าจำนวนประชาชนที่อพยพมาจากพม่าจะเพิ่มขึ้นรวมเป็นถึง 3-4 ล้านคน และจะตกอยู่ในสภาพของการขาดรายได้ ขาดอาหาร ขาดน้ำ ขาดเวชภัณฑ์ และเครื่องใช้สอยประจำวัน ซึ่งการระดมการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมทั้งภายในประเทศเมียนมา และตามบริเวณชายแดนประสบกับประเด็นปัญหาของการขาดความร่วมมือ หรือได้รับการขัดขวางจากฝ่ายกองทัพเมียนมา เป็นผลให้การลำเลียง และการกระจายความช่วยเหลือต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก  นอกจากนั้นการจัดส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการดูแล เช่นการให้ที่พักพิงชั่วคราว และการดูแลทางด้านชีวิตประจำวันและการสาธารณสุข  ทางด้านฝ่ายไทยก็ยังประสบปัญหากับความไม่แน่ชัดของนโยบายและมาตรการ และกระบวนการสั่งการ การติดต่อและประสานงานระหว่างส่วนกลาง กับส่วนทางด้านชายแดน และระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของฝ่ายไทยด้วยกันเอง และกับองค์การสหประชาชาติและเครือข่าย รวมทั้งองค์กรที่มิใช่รัฐ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

“ในการนี้พวกเราบรรดากลุ่มองค์กรที่มิใช่รัฐ หรือที่ไม่แสวงหากำไร รวมทั้งแวดวงวิชาการ และสื่อ รวมทั้งชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณากำหนดแนวทางนโยบายโดยคำนึงถึงมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ด้วยเห็นได้ว่าชาวเมียนมาตกอยู่ในสภาวะลำบากยากเข็ญ และจะต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”หนังสือระบุ

ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยการสู้รบจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยงข้ามแม่น้ำเมยมาหลบภัยฝั่งไทยด้านชายแดนจังหวัดตาก

ในหนังสือที่ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุข้อเสนอแนะไว้ดังนี้ 1.ประกาศเขตห้ามการบิน (No fly zone)โดยฝ่ายยานบินเมียนมา ใกล้ประชิดเขตแดนไทย-เมียนมา ทั้งเพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงของอธิปไตยของไทย 2.  ขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ผู้หลบหนีการสู้รบและความขัดแย้งทางการเมืองจากประเทศเมียนมา ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่รองรับบริเวณชายแดนที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดให้ และภายใต้มาตรการการควบคุมโรคติดต่อตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

3. เพื่อให้เกิดการดูแลและคุ้มครองผู้หนีภัยความขัดแย้งจากประเทศเมียนมาอย่างเป็นระบบและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรมีการจัดตั้งคณะทำงานประสานงานดูแล ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยความขัดแย้งจากประเทศเมียนมาในระดับชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทางการดูแล จัดระบบและประสานงานการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยจากความขัดแย้งในประเทศเมียนมาระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่

4. ประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างมากมายเป็นที่จดจำและยกย่องจากประชาคมโลก อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรับชาวเวียดนามสมัยสงครามอินโดจีน-ฝรั่งเศส  ชาวเวียดนามจากสงครามกลางเมือง ชาวเวียดนามที่หลั่งไหลเข้ามาทางทะเล ชาวกัมพูชาที่เข้ามาทั้งในช่วงการกดขี่ของฝ่ายเขมรแดง  การยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม และสงครามกลางเมือง  การให้ความช่วยเหลือชาวลาวโดยเฉพาะชาวลาวชาติพันธุ์ม้ง และชาวเมียนมาในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา และยังคั่งค้างอยู่ที่ค่ายอพยพอยู่อีกกว่าแสนคน และล่าสุดชาวเมียนมาชาติพันธุ์โรฮิงญา และชาวเมียนมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ศกนี้ เป็นแนวทางการดำเนินการที่เปิดเขตแดนอ้าแขนต้อนรับด้วยหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ที่พึงได้รับการพัฒนาต่อยอดต่อไป

5. รัฐบาลไทยและอาเซียนควรให้การรับรองคณะรัฐบาลสหภาพแห่งชาติ (National Union Government of Myanmar: NUG) ในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยการสู้รบจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยงข้ามแม่น้ำเมยมาหลบภัยฝั่งไทยด้านชายแดนจังหวัดตาก

ขณะที่เพจมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน โพสว่า การสู้รบกันระหว่างกองทัพประชาธิปไตยชาวกะเหรี่ยงพุทธ (Democratic Karen Buddhist Army หรือ DHBA) กลุ่มโกล้ทูบอ ภายใต้การนำของโบ จอ เต็ต กับกองทัพพม่าร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ที่พลู โพ ใกล้กับหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงและไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านจากอำเภอดูปลายา (เมียวดี)รัฐกะเหรี่ยง หนีข้ามแม่น้ำเมยมาหลบภัยในประเทศไทย ในต.มหาวัน ด้านใต้ของอ.แม่สอด จ.ตาก ราว 400 คน โดยเบื้องต้น ฝ่ายความมั่นคงแม่สอดได้ให้ชาวบ้านได้พักพิงชั่วคราวใกล้ชายแดน มีการตรวจวัดไข้และแจกหน้ากากอนามัยตามมาตรการที่เคยมีการแถลงต่อสื่อมวลชนไว้  นอกจากนี้ ชุมชนท้องถิ่นยังระดมความช่วยเหลือฉุกเฉินเช่นอาหารและเสื้อผ้าไปให้ เนื่องจากเป็นการหนีภัยการสู้รบที่ไม่มีเวลาเตรียมข้าวของใด ๆ

ในเพจมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนระบุว่า การสู้รบระหว่างทหารสองฝ่ายนี้ ยังไม่ได้ขยายไปสู่การพุ่งเป้าไปที่พลเรือนดังเช่นปฏิบัติการของกองทัพพม่าในอำเภอมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยง ที่ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยหนีข้ามมายังอ.แม่สะเรียงและสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ดังนั้น ชาวบ้านจึงเพียงพักพอให้การปะทะสงบลงอย่างแท้จริง เพื่อจะได้กลับไปดูแลบ้านและไร่ของตนได้ ต่างจากผู้ลี้ภัยจากมื่อตรอ ที่ตกเป็นเป้าสำคัญของการโจมตี

“เพื่อนไร้พรมแดนหวังว่า ผู้ลี้ภัยราว 400 คนนี้ จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐไทยอย่างเหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมต่อไป มิได้ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 2 เดือนที่ผ่านมากับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในแม่สะเรียง-สบเมย”เพจดังกล่าวระบุ

ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยการสู้รบจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยงข้ามแม่น้ำเมยมาหลบภัยฝั่งไทยด้านชายแดนจังหวัดตาก

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →