Search

ชุมชนพึ่งตนเอง ชุมชนริมทางรถไฟตรัง

เรื่องและภาพโดยบัณฑิตา อย่างดี ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานล่าง ทำให้คนที่มีฐานะยากจนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และประสบกับปัญหาหนี้สิน ในขณะที่ภาครัฐเน้นการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้า ขาดการสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ ชุมชนจึงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่สามารถรอคอยการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

ชุมชนริมทางรถไฟจังหวัดตรัง 11 ชุมชน กว่า 500 ครอบครัว ในพื้นที่อำเภอเมือง ห้วยยอด และรัษฎา ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายสลัมสี่ภาค เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางก เนื่องจากเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น รับจ้างทั่วไป รับจ้างกรีดยางพารา เก็บขยะ และไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ต้องอาศัยที่ดินรถไฟ โดยอยู่ระหว่างการเรียกร้องให้มีการทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟ ซึ่งบางคนกำลังถูกไล่รื้อดำเนินคดี

ชุมชนริมทางรถไฟจังหวัดตรัง มีการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโดยการจัดตั้งกลุ่ม เช่น กลุ่มปลูกผักเลี้ยงปลา กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มจำหน่ายพันธุ์ไม้ กลุ่มแปรรูปอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สามารถช่วยเหลือสมาชิกให้มีความมั่นคงทางอาหาร โดยการปลูกผักผลไม้แบบแปลงรวม การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเงินผ่อนในราคาถูก และช่วยให้สมาชิกมีรายได้เสริม รวมถึงการปรับเปลี่ยนอาชีพ

นายวิโรจน์ บุญเรือง ชาวบ้านชุมชนทางล้อ ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เล่าว่า ช่วงนี้เศรษฐกิจแย่ เพราะว่าทำงานรับจ้าง ไม่มีคนจ้าง ในช่วงโควิดรอบแรกมีการช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ยื่นมือมาช่วยสมาชิกเรา แต่ในช่วงโควิดรอบ 2-3 ได้รับผลกระทบกันทั่ว ชุมชนพยายามพึ่งตนเอง ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงหอย แบ่งปันกันกิน เรื่องอาหารในครัวเรือนเราไม่ค่อยเดือดร้อน แม้วิกฤตโควิดเขาปิดตลาด เขาล็อกดาวน์ แต่ชุมชนเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอาหาร

นายทักษิณ เพชรรัตน์ ชาวบ้านชุมชนทุ่งเขานุ้ย ต.ปากคม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เล่าว่า ในช่วงโควิดไม่ต้องไปตลาด รับจ้างเลี้ยงวัว แล้วก็นำขี้วัวมาปลูกผัก เพื่อนบ้านได้กินด้วย อยากกินผัดกะเพรา ซื้อหมูมา 30-40 บาท มาเก็บพริก ใบกะเพรา ก็อยู่ได้แล้ว ไม่ต้องเป็นภาระคนอื่น ช่วยกันดูแลพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียง

ขณะที่ ‘ยายเหมีย’ หรือนางมาลี บัวรักษ์ ชาวบ้านชุมชนบ่อสีเสียด ต.นาท่ามเหนือ อ.เมือง จ.ตรัง เล่าว่าเคยยืมเงินนอกระบบมาซื้อกับข้าว แต่หลังจากชุมชนมีการตั้งกลุ่มร้านค้าชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้แก่สมาชิกในกลุ่ม โดยเน้นครอบครัวที่มีความเปราะบางมากที่สุดในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ถูกไล่รื้อจากที่ดิน ทำให้ไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบอีกต่อไป

“เคยยืมเงินนอกระบบ ดอกเบี้ยแพง ร้อยละ 60 ก็มี ถ้ายืม 1,000 จ่ายดอกเบี้ย 600 เราได้ใช้แค่ 400 แต่ตอนนี้ไม่ต้องยืมเงินนอกระบบ รู้สึกว่าผ่อนคลายไปได้อย่างมาก เขาให้เอามากินมาใช้ก่อน พอมีเราก็เอาไปคืนชุมชน ไม่ต้องมาคิดว่าวันนี้ไม่มีกิน ไม่รู้จะกินอะไร เงินมีอยู่เล็กน้อยได้นำไปซื้อของสดกับข้าวมากิน งวดนี้ไม่เอาของถ้าเอาเป็นเงินมาซื้อกับข้าวสัก 500 หรือ 1,000 ได้มั้ย เขาบอกว่าได้ 1,000 ในระยะเวลา 15 วัน คิด 30 บาท ถือว่าไม่แพง พอได้เอามากินมาใช้มาจ่าย พอครบ 15 วันก็เอาไปผ่อน ไม่โหด” ยายเหมียเล่าให้ฟัง

ทั้งนี้ ยายเหมียมีฐานะยากจน อาศัยเบี้ยยังชีพคนชรา เนื่องจากมีอายุ 68 ปี และป่วยเป็นโรคมะเร็ง ส่วนสามีมีรายได้เล็กน้อยจากการทำงานรับจ้างก่อสร้าง ยายเหมียไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง อาศัยอยู่บนที่ดินรถไฟ และถูกฟ้องร้องให้ออกจากที่ดิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการชะลอบังคับคดี ยายเหมียมีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีความมั่นคงในที่ดิน โดยมีการทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟ ดังนั้น ร้านค้าชุมชนจึงช่วยผ่อนคลายภาวะทางเศรษฐกิจที่ตึงเครียดของยายเหมียไปได้ในระดับหนึ่ง

ด้านนายนิธิป คงทอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าว่า บางวันคนในชุมชนได้ค่าจ้างไม่พอกับรายจ่ายในครัวเรือน ลูกที่รออยู่ที่บ้านจะไม่มีอาหารกิน และส่วนใหญ่ชาวบ้านจะซื้อสินค้าแบบเงินเชื่อโดยหมุนเวียนร้านค้า จึงเกิดแนวคิดจัดตั้งร้านค้าชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนได้มีกินมีใช้ เน้นอาหาร เช่น ข้าวสาร น้ำปลา น้ำมัน ไข่ ปลากระป๋อง อาหารแห้งต่างๆ ทุกอย่างคิดกำไรอย่างละ 1 บาท

ตอนนี้มีร้านค้าลักษณะนี้ในจังหวัดตรัง จำนวน 6 ชุมชน ทำมาประมาณ 2 ปี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ บางชุมชนมีความลำบากเรื่องอุปกรณ์ในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว กาน้ำร้อน เป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันในยามลำบาก ในอนาคตจะยกระดับเป็นสหกรณ์ แบ่งปันสู่คนข้างนอก รวมถึงจะมีการเปิดตลาดนัดขนาดย่อยของชุมชน และตลาดนัดของเครือข่าย เพื่อรองรับสินค้าของชุมชน เช่น ผัก ปลา อาหารแปรรูป


On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →