
เปรย หมายถึงป่า เติงเฮิม แปลว่าลมหายใจ
ชาวบ้านกัมพูชาหมู่บ้านเปรยเติงเฮิม บอกความหมายของชื่อหมู่บ้าน ขณะที่พิธีกรรมปล่อยปลาลงสระกำลังเริ่มขึ้น ในเช้าวันหนึ่งของฤดูหาเสียง ที่กองทัพมอเตอร์ไซค์หาเสียงแล่นเป็นแถวยาวมาตามถนนเข้าสู่ชุมชน
ฉันพยายามเรียบเรียงความหมายชื่อหมู่บ้าน จะเป็นลมหายใจแห่งป่าหรือป่าแห่งลมหายใจดีนะ ส่วนสายตาก็ส่ายหาผืนป่า ที่น่าจะเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ทว่าพบแต่ต้นไม้ใหญ่เพียงไม่กี่ต้น แลเลยไปไกลตาก็เห็นแต่ท้องทุ่งกับสระน้ำ หรือว่าป่าหายกลายเป็นบ้านเรือนหมดแล้ว อีกทีป่าอาจจะอยู่ไกลออกไปจากชุมชนในที่ซึ่งเรายังไปไม่ถึง ไม่ควรตัดสินอะไรจากสิ่งที่มาสัมผัสเพียงแค่โฉบผ่านไม่กี่ชั่วโมง
ฉันกับเพื่อนร่วมทาง มากันที่นี่ตามคำชักชวนของเจ้าหน้าที่องค์กร Fisheries Action Coalition Team (Fact) ซึ่งทำงานอยู่กับชาวบ้านในชุมชนรอบโตนเลสาบ วันนี้ทางกรมประมงของเสียมเรียบจะนำพันธุ์ปลามาปล่อยลงในสระของหมู่บ้าน ซึ่งกันไว้เป็นวังปลาหรือพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลา เพื่อรักษาแหล่งปลาอาหารสำคัญของชาวบ้านหลายหมู่บ้าน
สระ บึง หรือภาษาเขมรเรียก พิเรี๊ยก เป็นสระสาธารณะที่สะสมความอุดมสมบูรณ์มาไม่รู้จักกี่ชั่วรุ่น ทุกวันนี้มีผู้คน 8 หมู่บ้านที่ได้อยู่ได้กินจากสระแห่งนี้ กระนั้นแม้จะมีปลาก่ายกองเพียงใดก็อาจจะหนีไม่พ้นวังวนของความขาดแคลน เมื่อหลายปัจจัยมาพ้องต้องกันพอดี อันประกอบด้วยผู้คนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่สภาพแวดล้อมเลวร้ายลง ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งอาหารของมนุษย์เริ่มขาดความมั่นคง ไม่ว่าที่ใดล้วนเผชิญปัญหาเดียวกัน
การปล่อยพันธุ์ปลานับเป็นหนึ่งในความพยายามผ่อนเบาปัญหา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เห็นว่ามีความพยายาม พิเรี๊ยกที่เป็นวังปลาอนุรักษ์เคยมีกฎห้ามจับปลา ต่อมาผ่อนปรนให้จับแค่พอกินในครัวเรือน ห้ามจับเพื่อค้าขาย

เดิมทีสระปลาสงวนจะมีการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้กันทุกปี แต่ไม่เคยมีการปล่อยพันธุ์ปลามาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กรมประมงเข้ามาปล่อยพันธุ์ปลา โดยมีการตกลงกันว่าเมื่อถึงฤดูหาปลา ชาวบ้านจะบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการขายปลาสำหรับบำรุงวัดเปรยเติงเฮิม วัดประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านบอกว่าปลาที่นี่ไม่เคยลดลง แต่ที่ปล่อยพันธุ์ปลาเพราะคิดถึงวันข้างหน้า อีกทั้งการมาร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา ยังถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลรักษาแหล่งทรัพยากรอาหารของหมู่บ้าน ไม่ใช่ต่างคนต่างมาหาจับปลาตัวใครตัวมันอย่างเมื่อก่อน
เมื่อแรกได้เห็นสระที่เขาเตรียมไว้สำหรับปล่อยปลา แล้วได้รู้ข้อมูลว่าพิเรี๊ยกนี้หล่อเลี้ยงผู้คนถึง 8 หมู่บ้าน ฉันค่อนข้างประหลาดใจปนเปกับความไม่มั่นใจว่าฟังข้อมูลผิดพลาด สระที่เห็นพื้นที่ไม่มากนักเลี้ยงผู้คนแค่หมู่บ้านเปรยเติงเฮิมแห่งเดียว ก็ยังไม่รู้ว่าจะพอปากกันหรือเปล่า ต่อเมื่อได้ฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านผู้หนึ่ง จึงรู้ว่าที่เห็นนั้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสระหรือพิเรี๊ยก
ช่วงแล้งน้ำลดระดับจนเห็นแต่เพียงหย่อมสระ ท้องทุ่ง หนทาง ทว่ายามน้ำหลากช่วงประมาณเดือน 9 สระเล็กสระใหญ่จะเชื่อมเป็นผืนน้ำเดียวกัน ท่วมทุ่งที่เห็นจนมิด พอถึงเวลานั้นพันธุ์ปลาที่ปล่อยไว้ก็จะแหวกว่ายไปทั่วอย่างสำเริงสำราญ ชาวบ้านก็จะได้จับปลากันอย่างทั่วถึง
หมู่บ้านเปรยเติงเฮิมตั้งอยู่ห่างจากพื้นที่โตนเลสาบประมาณไม่ถึง 10 กิโลเมตร ในหน้าน้ำหลากเชื่อมถึงกันไปจดโตนเลสาบ ผู้คนที่นี่สามารถใช้เรือเป็นพาหนะไปถึงโตนเลสาบ แต่ยามแล้งน้ำแห้งก็ต้องหันมาใช้รถแล้วไปต่อเรืออีกที วิถีปฏิบัติเป็นไปตามฤดูกาลที่ผู้คนย่านนี้คุ้นชิน
เป็นความโชคดีของหมู่บ้านแห่งนี้ที่มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูก ทำนาปลูกข้าวกินเอง แล้วยังมีผืนน้ำให้หาปลาไว้กินไว้ขาย ในยามน้ำลดมีปลาให้จับไม่มากก็พากันไปจับปลาในโตนเลสาบ เรียกว่าจะฤดูไหนก็ไม่มีอด เลยทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำรอบโตนเลสาบ พวกเขาไม่มีผืนดินเพาะปลูก อาศัยจับปลาเพียงอย่างเดียว ความขาดแคลนที่ย่างกรายเข้ามาสู่โตนเลสาบทำให้เกิดความวิตกกังวล กระทั่งแทบจะกลายเป็นความขัดเคืองใจกันระหว่างผู้คน ซึ่งแท้จริงแล้วล้วนพึ่งพิงผืนน้ำเดียวกัน
ที่ควรเคืองฉันว่าน่าจะเป็นพวกนักสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงมากกว่า ที่ทำให้น้ำโขงขึ้นลงผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ พัดพาตะกอนดินมาตกอยู่ก้นทะเลสาบจนตื้นเขินผิดปกติ และปิดกั้นการเดินทางของปลาที่จะเข้ามาวางไข่ในโตนเลสาบ ทำให้ปลาหายหน้าไปจำนวนมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว น่าใจหายน้อยเสียเมื่อไหร่เมื่อได้ฟังจากปากคำของชาวโตนเลสาบ ที่เคยจับปลาได้วันละหลายสิบกิโลกรัม ว่าเดี๋ยวนี้จับได้สัก 1 กิโลกรัมก็ดีใจแล้ว
หมู่บ้านที่อยู่รอบโตนเลสาบหรือทะเลสาบเขมร ส่วนหนึ่งเป็นชาวเวียดนามที่เข้ามาสมัยช่วยรบกับเขมรแดง อีกส่วนหนึ่งเป็นชาวเขมรแท้ๆที่อพยพเข้ายุคเขมรแดงเรืองอำนาจเข้ายึดพนมเปญ และอีกปัญหาหนึ่งของโตนเลสาบคือเครื่องมือหาปลาขนาดใหญ่ที่ทำลายระบบนิเวศ มักจะมาจากเรือหาปลาของชาวเวียดนาม ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลจากคนของทางการหนุนหลังอยู่
ชาวบ้านเชื้อชาติเขมรแท้รำพึงว่าถ้าทะเลสาบล่มไม่มีปลาให้หาอีกต่อไป พวกเขาคงต้องกลายเป็นผู้อพยพอีกครั้ง หนนี้ไม่ได้หนีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่อพยพเพราะขาดความมั่นคงทางอาหาร
ฟังแล้วก็ชวนหดหู่หัวใจ แม้จะหวังว่าทุกปัญหามีทางออกไม่ต่างสายน้ำที่มีทางไหล และที่สำคัญตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ – เปรยเติงเฮิม
—————
โดย จิตติมา ผลเสวก