ประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่กำลังพัฒนามีปัญหาการกระจายที่ดินทั้งในภาคเมืองและชนบทไม่ต่างกันนัก คนรวย คนมีฐานะ คนระดับบน นักการเมือง บริษัทยักษ์ใหญ่ 20-30% ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศราว 70-80% ขณะที่คนระดับล่าง คนยากคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศกลับถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินราว 20-30%
เหมือน กันต่อมาคือ ถึงแม้ประเทศนั้นๆ จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่นักการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไม่สนับสนุนระบบภาษีที่ดินและสิ่ง ปลูกสร้าง (ภาษีทรัพย์สิน) เนื่องจากต้องการครอบครองมันไว้มากๆ เพื่อให้ราคาสินทรัพย์สะท้อนซึ่งอำนาจในสังคม ไม่อยากเสียภาษีอัตราก้าวหน้า และไม่อยากคายที่ดินซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ให้คนไร้ที่ทำกิน
เกริ่น เรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอยากเขียนถึงปัญหาการกระจายที่ดินในกัมพูชา ซึ่งมีสภาพโดยทั่วไปไม่แตกต่างกับไทยนัก เพียงแต่ระดับความรุนแรงของการเผชิญหน้ามากกว่าหลายเท่า
ข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม (Start Kampuchea Organization) รายงานเรื่อง “คนไร้บ้านและความขัดแย้งเรื่องที่ดินในกัมพูชา” ว่า ข้อมูลในปี 2547 มีประชากร 91% อาศัยในชนบทโดยพึ่งที่ดินเพื่อการเกษตรยังชีพ เจ้าของที่ดิน 20-30% ถือครองที่ดิน 70% ของทั้งหมด ขณะที่คนจนที่สุด 40% ถือครองที่ดินเพียง 10% ของทั้งหมด ครอบครัวในชนบท 20% ไม่มีที่ดิน ขณะที่ 25% มีที่ดินไม่พอทำกิน
ผลพวงจากเขมรแดงปกครองประเทศในปี 2518-2522 ที่ดินทั้งหมดถูกยึดคืน โฉนดและเอกสารสิทธิถูกทำลาย ทุกอย่างต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หลังสิ้นยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากเจ้าของบ้านเจ้าของที่ดินซึ่งเหลือรอดจะกลับมาครอบครองสิทธิเดิมของตน แล้ว รัฐบาล “เฮง สัมริน”ยังมีนโยบายให้ชาวชนบทเข้ามาจับจองที่ว่างเปล่าตรงไหนก็ได้ในเมือง พนมเปญจนกว่าจะจัดระเบียบบ้านเมืองแล้วเสร็จ
ปีแล้วปีเล่าจนเกิดเป็นชุมชนแออัดกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ทั่วกรุงกว่า 500 แห่ง
ปัจจุบัน มีเจ้าของที่ดินเพียง 20% เท่านั้นที่ได้รับเอกสารสิทธิชัดเจน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง พ่อค้าคหบดี และคนร่ำรวย
มาในยุค “ฮุน เซน” ครองอำนาจ รัฐบาลก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำสำมะโนครัวประชากร การออกเอกสารสิทธิ คนยากคนจนจากชนบทจึงกลายเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ในเมืองหลวง
กระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องที่ดินตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลเหยียบคันเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ออกนโยบายจัดหาที่ดินแปลงใหญ่มาให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนและต่างชาติลงทุนทำ โครงการพัฒนาเชิงธุรกิจ สร้างโรงแรม ศูนย์การค้า ขยายถนน ฯลฯ
เพื่อ ให้สมกับเป็นเผด็จการประชาธิปไตย รัฐบาล “ฮุน เซน” ใช้อำนาจไล่รื้อ-เผาไล่โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากชาวบ้าน ไม่เยียวยาชดเชยให้อย่างเป็นธรรม เอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจน ส.ส.ฝ่ายค้านคัดค้านอย่างไรก็ไม่ฟัง จนปัญหาลุกลามบานปลายไป ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
ผมเชื่อว่า ผลพวงจากการใช้อำนาจกึ่งเผด็จการมานาน การพัฒนาที่สร้างความเหลื่อมล้ำสุดกู่ รวยกระจุกจนกระจาย เรื่อยมาจนภาพสุดท้ายที่ติดตาชาวเมืองพนมเปญและปริมณฑลคือ ภาพหญิงถูกตำรวจทำร้ายจนแท้ง ชาวสลัมจำนวนมากบาดเจ็บ แกนนำถูกจับเข้าคุก
ในที่สุดคนส่วนใหญ่จึงตัดสินใจเทคะแนนให้พรรคกู้ชาติ (CNRP) ของ “สม รังสี”
จน กวาดที่นั่ง ส.ส.เหนือพรรครัฐบาลทั้งพนมเปญ และจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ ไพรเวง กำปงจาม และกันดาล ฝ่ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP)ของ “ฮุน เซน” ได้ ส.ส.พนมเปญเพียง 1 ที่นั่งจากทั้งหมด 12 ที่นั่ง (ผลไม่เป็นทางการ)
เสียง สนับสนุน CNRP มาจากกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี (1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) ซึ่งล้วนแต่เป็นนักศึกษา บัณฑิต คนรุ่นใหม่ ปัญญาชน รวมไปถึงคนระดับล่างในเมือง
คนกลุ่มหลังแม้มีความรู้น้อย แต่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารรับรู้ข้อเท็จจริงเร็วและลึกกว่าคนชนบท ที่สำคัญเจ็บปวดมานานกับการใช้อำนาจไม่บันยะบันยังของรัฐบาล
นักการเมืองประเทศเพื่อนบ้านจะซึมซับบทเรียนจาก “ฮุน เซน” บ้างมั้ยหนอ
——————-
โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
คอลัมน์ โลกนี้มีรากหญ้า
มติชน 20 สค.56