Search

ไทยส่อแห้ว-มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน IUCN เสนอ คกก.ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปอีก 3 ปี เหตุไม่สามารถแก้ปัญหาชุมชนดั้งเดิม-กะเหรี่ยงบางกลอยได้ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอให้ถอนคดีอาญาชาวบ้านก่อนบินไปประชุมที่จีน

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เวปไซต์ของเครือข่ายสื่อชนเผ่าเมือง (https://imnvoices.com)ได้เผยแพร่เอกสารข่าวซึ่งเป็นรายงานของ IUCNระบุว่า “ป่าแก่งกระจาน ส่อชวดมรดกโลก หลัง IUCN เสนอให้เลื่อนอีก” โดยมีเนื้อหาระบุว่าเป็นเวลา 10 ปีแล้วที่รัฐบาลไทยได้พยายามขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ก็ถูกคณะกรรมการมรดกโลกตีกลับมาแล้วถึง 3 ครั้ง เพื่อให้รัฐบาลกลับมาเพิ่มเติมข้อมูลและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน การพิจารณาจะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่เมืองฟู่โจวประเทศจีน แต่ก็อาจสอบตกอีก หลังองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เสนอให้เลื่อนออกไป โดยยกข้อกังวลในประเด็นเรื่องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง

ในรายงานระบุว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำภาชี ถูกเสนอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ด้วยเหตุผลที่ว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นถิ่นที่อาศัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ มีชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งต่อการอนุรักษ์และทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาทางกรมอุทยานฯ ได้ขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี 2558 แต่คณะกรรมการมรดกโลกยังไม่พิจารณาอนุมัติเนื่องจากเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะเรื่องการอพยพชาวกะเหรี่ยงจากใจแผ่นดินและบางกลอยบนลงมาอยู่ที่บางกลอยล่าง รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานยังไม่เพียงพอ และเสนอให้ทางกรมอุทยานดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR) (2557) ให้ได้ข้อยุติก่อน

ในเวปไซต์ระบุว่า จากมติและข้อเสนอแนะดังกล่าวทางกรมอุทยานฯ ได้จัดทำโรดแมบเพื่อจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติมทั้งหมด 5 ครั้งในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 และเสนอให้คณะกรรมการมรดกพิจารณาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2559 แต่คณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยครั้งที่ 40 ที่กรุงปารีสยังมีมติเหมือนเดิม คือให้เลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกออกไปอีก และให้ยืดระยะเวลาออกไป 3 ปี เพื่อที่จะได้มีเวลาดำเนินการตามข้อเสนอของ UN OHCHR และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเสนอให้มีการขอฉันทานุมัติ (FPIC) จากชุมชนด้วย

ข่าวแจ้งว่ารัฐบาลไทยได้เสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาอีกครั้งในสมัยการประชุมครั้งที่ 43 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไปจัน ปี 2562 ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกก็ยังยืนยันมติเดิม คือ ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปโดยให้ประเทศไทยกลับมาปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้แล้วเสร็จก่อน สำหรับการประชุมครั้งที่ 44  ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 จนต้องเลื่อนจากกำหนดเดิมในปี พ.ศ. 2563 มาเป็นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่เมืองฟู่โจว ประเทศจีน โดยจะมีวาระการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนของกลุ่มป่าแก่งกระจานรวมอยู่ด้วย

“อาจมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มป่าแก่งกระจานจะพลาดโอกาสขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีก เนื่องจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาคณะกรรมการมรดกโลกเสนอให้เลื่อนการขอขึ้นทะเบียนออกไปก่อน เพื่อให้รัฐบาลไทยกลับมาแก้ไขข้อกังวลในประเด็นเรื่องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง”เวปไซต์เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ระบุ

รายงานข่าวของสื่อชนเผ่าพื้นเมืองชิ้นนี้ยังระบุว่า ข้อเสนอของ IUCN ต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน ในการประชุมครั้งที่ 44 ที่เมืองฟู่โจว ประเทศจีนในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ดังนี้ ให้เลื่อนการเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานออกไป (Deferral) และทำข้อมูลเสนอมาใหม่เนื่องจากยังไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของแนวทางการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลก ในย่อหน้าที่ 77 และ ย่อหน้าที่ 78 รวมทั้งให้มีการแก้ไขข้อกังวลในประเด็นเรื่องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง ตามแนวทางการดำเนินงาน “Operational Guidelines” ในย่อหน้าที่ 123 และตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 39 COM 8B.5  ครั้งที่ 40 COM 8B.11 และครั้งที่ 43 COM 8B.5 (เกี่ยวกับการขอฉันทานุมัติ หรือ FPIC จากชุมชนในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก) นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการทำงานและปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เสนอโดยผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง คณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือไม่สมัครใจ ผู้จัดทำรายงานพิเศษสหประชาชาติในด้านพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการได้รับสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ถูกสุขอนามัย และยั่งยืน (Special Rapporteur on the issue of human rights obligations relating to the enjoyment of a safe, clean, healthy and sustainable environment)  และผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ให้มีการประเมินผลของการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการสำรวจการถือครองที่ดิน การทำแผนที่ขอบเขตการจัดการสำหรับการอนุรักษ์ใหม่ การให้ความมั่นคงในเรื่องการถือครองที่ดินและการดำรงชีวิตตามพรบ.อุทยานแห่งชาติ พรบ.สงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับปรับปรุงใหม่ รวมทั้งปรับปรุงการมีส่วนร่วมของผู้แทนชุมชนท้องถิ่นในคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครอง ที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ของการปรึกษาหารือและกระบวนการตัดสินใจที่เป็นอิสระเกี่ยวกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ ข้อเสนอของ IUCN เป็นเพียงเอกสารส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการมรดกโลกจะใช้พิจารณาประกอบกับข้อมูลด้านอื่น ๆ รวมทั้งเงื่อนไขและคุณสมบัติที่กำหนดไว้ด้วย ที่สำคัญในปีนี้มีผู้แทนของประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมพิจารณาด้วย ดังนั้นจึงยังต้องลุ้นกันต่อกับสถานการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าแก่งกระจาน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในรายงานของ IUCN ได้ระบุไว้ในเนื้อหาด้วยว่า แม้ประเทศไทยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของขนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น แต่หลักฐานปรากฏว่า ชาวบ้านยังคงมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน การดำรงชีวิตและเรื่องอื่นๆ และฉันทามติของการสนับสนุนที่สอดคล้องกับหลักการของการให้ความยินยอมและแจ้งข้อมูลล่วงหน้าไม่ปรากฎว่ามีการแสดงความเห็นเป็นเอกฉันท์เนื่องจากอัตราการมีส่วนร่วมน้อยกว่า 10% และมีความจำเป็นต้องพัฒนาเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นของคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครองตามที่ระบุไว้โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว กล่าวว่า รายงานของ IUCN สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ข้อเสนอแนะกล่าวย้ำมาแล้ว 3 ครั้งแต่ก็เป็นความดื้อดึงของรัฐบาลและกรมอุทยานฯที่ยังไม่ปฎิบัติตาม อย่างไรก็ตามคำตัดสินครั้งนี้ขึ้นอยู่ที่คณะกรรมมรดกโลกซึ่งจะประชุมที่ประชุมจีน

“ถ้าอยากเป็นมรดกโลก เราต้องทำอย่างไรก็ได้ทั้ งใช้กลไกในประเทศและที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมได้อยู่ในผืนป่าแก่งกระจานอย่างมีศักดิ์ศรีร่วมกับพื้นที่มรดกโลก ไม่ใช้อ้างกฎหมายอุทยานฯไปจับเขา ซึงไม่ใช่เหตุผลของการเข้าร่วมเป็นมรดกโลก จะใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ รวมถึงควรยกเลิกคดีอาญาที่แจ้งความดำเนินกับชาวบ้านก่อนที่จะไปร่วมประชุมที่จีน เพราะอายเขา คุณจะไปยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่ไปจับชาวบ้านชุมชนดั้งเดิมเป็นคดีอาญา เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่าได้” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →