Search

ไม่ได้อานิสงส์จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ชาวเลวิกฤตหนักไม่มีเงินซื้อข้าว-หาปลาได้แต่ไม่มีใครซื้อ-ชุมชนราไวย์แปรรูปปลาดองเค็มแลกข้าว นักวิชาการแนะฉวยจังหวะท่องเที่ยวซบพัฒนาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรับมืออย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 น.ส.พรสุดา ประโมงกิจ ชาวเลชุมชนแหลมตง เกาะพีพี จ.กระบี่ตกงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวเลที่อาศัยอยู่ในชุมชนแหลมตงร้อยละ 80 ในจำนวนทั้งหมด 138 คน 45 ครอบครัว กำลังขาดแคลนข้าวสาร แม้ชาวบ้านยังพอหาปลาได้แต่กลับไม่มีข้าวสารกินเพราะไม่มีรายได้ใดๆ และปลาที่หามาได้ก็ไม่รู้จะขายใคร ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวคือเป็นลูกจ้างตามเรือและรีสอร์ท โดยชาวเลเกินร้อยละ 50 ไม่มีเงินเก็บ จึงต้องติดหนี้ร้านค้าไว้ก่อน ขณะที่ทางการก็ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลืออะไรมากนัก

“ตอนแรกพวกเราคิดว่าการท่องเที่ยวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่จนสิ้นปีก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ชาวบ้านส่วนใหญ่เลยหันมาทำประมงกันเยอะ แต่เมื่อได้ปลามาก็ไม่มีตลาดรองรับ ถ้าขนเอามาขายบนฝั่งก็ไม่คุ้มค่าน้ำมัน ตอนนี้พวกเราเลยเป็นหนี้สินเยอะ”น.ส.พรสุดา กล่าว และว่าส่วนเด็กๆซึ่งแม้โรงเรียนจะเปิดแล้ว แต่ก็ไม่มีเงินไปโรงเรียนกันเลย แม้ที่โรงเรียนจะมีข้าวให้กิน แต่ค่าชุดนักเรียนหรือแม้กระทั่งรองเท้าและถุงเท้า พ่อแม่ก็ไม่มีเงินซื้อให้ลูกๆ

ชาวเลราไวย์ช่วยกันแปรรูปทำปลาเค็มดองเพื่อแลกข้าว

นายวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า ปัญหาของชาวเลเกิดจากการหารายได้ไม่ได้และทรัพยากรน้อยลง เนื่องจากคนที่ตกงานบางส่วนกลับมาก็หากินแบบล้างผลาญคือจับหมดทั้งสัตว์น้ำตัวเล็กตัวใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปคงยิ่งลำบากอย่างถาวรแน่ ขณะที่ชาวเลเกาะสุรินทร์ อุทยานฯห้ามจับขาย ทั้งๆที่เขามีวิถีจับปลาแลกข้าวสารอาหารแห้ง สถานการณ์หนักขนาดไม่มีอะไรกิน และต้องขอแบ่งข้าวสารจากเพื่อน บางส่วนต้องพึ่งจากข้าวสารจากการบริจาคจากองค์ต่างๆเป็นหลัก

นายวิทวัสกล่าวว่า ช่วงก่อนหน้ามรสุมปีนี้ ชาวเลเกาะสุรินทร์แทบไม่มีเงินเก็บเพราะเกิดโควิดและก่อนหน้านั้น แม้ชาวบ้านบางส่วนมีบัตรประชาชน แต่ไม่สะดวกเพราะชาวบ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ การรักษาพยาบาลก็ลำบากเพราะอยู่ไกล ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าคือทำให้เขาอยู่ได้คือข้าวสาร มีเรือถูกไฟไหม้ 3-4 ลำยังไม่ได้ซ่อม ไม่มีใครพูดถึงหรือช่วยเหลือเลย บ้าน 95 หลัง ชาวบ้าน 360 คน ที่จริงอบต.และอุทยานฯพร้อมช่วยเพื่อให้ได้เลขที่บ้าน แต่ชาวบ้านบางส่วนเป็นบัตรเลขศูนย์ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

“ชาวบ้านไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ ถ้ากฎหมายไม่ไปครอบเขา ให้เขาได้หากินตามวิถีใช้เครื่องมือประมง 7 ชนิดที่ตกลงกันไว้ ผมเชื่อว่าเขาอยู่กันได้”นายวิทวัส กล่าว

ชาวเลราไวย์ช่วยกันแปรรูปทำปลาเค็มดองเพื่อแลกข้าว

นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์ของชาวเลยังลำบากเพราะไม่มีรายได้และปลาที่หามาได้ก็ขายไม่ได้ ตอนนี้จึงพยายามทำโครงการข้าวแลกปลาโดยการนำปลามาแปรรูป เช่น ตากแห้ง ทำปลาดองเค็ม แต่ก็ไม่มีตลาดที่แลกเปลี่ยนมากนัก หากใครต้องการสามารถติดต่อมาที่ชาวเลชุมชนราไวย์ได้ และตอนนี้กำลังขยายผลไปยังชาวเลเกาะพีพีเพราะที่นั่นชาวเลก็ลำบากมากเนื่องจากพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวชาวบ้านก็ต้องหันมาจับปลา แต่ก็ไม่มีที่ขายเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องพยายามหาปลาเพื่อแลกข้าว

เมื่อถามถึงโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ของรัฐบาลส่งผลดีกับชาวเลบ้างหรือไม่ นายสนิทกล่าวว่าไม่เลย เพราะวิธีการดังกล่าวมุ่งไปยังธุรกิจขนาดใหญ่โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติไปพักตามโรงแรมที่ได้มาตรฐานการท่องเที่ยว ขณะที่ชุมชนชาวเลนั้น นักท่องเที่ยวที่สนใจคือผู้ที่อยากท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน

“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ควรกระจายนักท่องเที่ยวด้วย วันนี้บริเวณหาดราไวแม้ยังมีแผงขายปลาสด เงียบเหงา ขายได้แต่นักท่องเที่ยวในจังหวัด ไม่มีต่างชาติเลย แม้ตอนนี้ภายในชุมชนราไวย์ส่วนใหญ่ชาวเลได้ฉีดวัคซีนคนละ 2 เข็มแล้วก็ตาม แต่ที่เรากลัวคือหากเกิดการระบาดระลอก 4 ซึ่งไม่รู้ว่าเชื้อโรคจะกลายพันธุ์ไปอย่างไรบ้าง หากมีชาวเลติดสักคนคงตายกันหมดเพราะพวกเราอยู่กันอย่างแออัด”นายสนิท กล่าว

แม่เฒ่าชาวเลในบ้านโย้เย้ได้รับความช่วยเหลือสร้างบ้านหลังใหม่ให้แล้ว

น.ส.รสิตา ซุ่ยยัง อดีตคนไทยพลัดถิ่นซึ่งทำงานภาคประชาชนใน จ.ระนอง กล่าวว่า ได้มีโอกาสลงพื้นที่เกาะพยาม จ.ระนอง และรู้สึกแปลกใจที่เห็นเด็กนักเรียนชาวเลเดินลุยน้ำข้ามคลองกว้างราว 120 เมตรเพื่อโรงเรียนเกาะพยาม โดยบริเวณดังกล่าวมีเสาปูนที่ก่อสร้างสะพาน แต่สร้างไม่เสร็จของกรมโยธาธิการซึ่งก่อสร้างเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อลงไปที่ชุมชนชาวมอแกนที่มีประมาณ 80 คน 35 ครอบครัว ได้ข้อมูลว่าเกิดการฟ้องร้องกันทำให้การก่อสร้างสะพานไม่แล้วเสร็จจึงได้ระดมทุนสร้างใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นสะพานให้เด็กๆได้ใช้เดินข้ามคลองไปโรงเรียนโดยไม่เปียกน้ำ

“สถานการณ์ชาวมอแกนที่นี่ย่ำแย่กว่าหลายพื้นที่ที่เคยไปมา ไม่มีเรือ มีอยู่ 2-3 ลำ เวลาหาปลาก็ถูกกดราคา มีบัตรประชาชนไม่ถึงครึ่ง อยู่กันตามมีตามเกิดและมีคนไปแจกข้าว เราอยากเข้าไปช่วยเหลือทำกระชังและฟาร์มเสตย์ให้มีคนมาเที่ยว

“การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีผู้เฒ่าคนหนึ่งนอนเปียกทั้งคืนเพราะบ้านใช้ผ้าพลาสติกคุมเอาไว้ พอลมพัดก็ขาด เลยคุยกันว่าแก้ป้ญหาอย่างไรไม่ให้เปียกฝน ระดมผ้าห่มที่นอน หมอน ไปให้ ตอนนี้ระดมทุนหากระเบื้องไปให้ ที่นี่ทางเข้าไปลำบากมาก ชาวบ้านไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลย เงินเยียวยาต่างๆก็ไม่ได้ ที่นี่หนักกว่าที่อื่นเยอะเลย น่าเห็นใจมาก แม้เกาะพยามเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ชาวมอแกนกับไม่เป็นที่รู้จักและได้รับการช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตใดๆ

ด้าน ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชุมชนชาวเลแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างชาวเกาะพีพีไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ชาวเลเกือบทั้งหมดมีบัตรประชาชนแล้ว แต่พื้นที่อยู่อาศัยถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ  ส่วนใหญ่ชาวเลเป็นลูกจ้างด้านการท่องเที่ยว หากใช้ช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตโควิดนี้พัฒนาให้เขาจัดการท่องเที่ยวทำชุมชนให้เป็นท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ถึงมีนักท่องเที่ยวน้อยก็ไม่ต้องไปพึ่งภายนอกมาก เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ แต่การท่องเที่ยวในมิตินี้ไม่เคยมีอยู่ในเกาะพีพี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มุ่งมาอาบแดด ดำดูปะการัง ดื่มกิน ซึ่งก็เหมือนกับหลายๆพื้นที่ในอันดามันที่ชาวเลถูกกลืนหายไปกับการท่องเที่ยว

เด็กนักเรียนชาวเลบนเกาะพยามลุยน้ำข้ามไปเรียนหนังสือ

“ชาวเลเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่บนเกาะพีพี แต่วันนี้พื้นที่อยู่อาศัยของเขากลับเหลือเพียงนิดเดียว หากเราตั้งหลักกันใหม่ในช่วงที่การท่องเที่ยวซบเซานี้ ถ้าเราดึงเอาชุมชนเข้ามาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวก็จะทันการเปลี่ยนแปลงและรับมือในระยะยาวได้ และตอบโจทย์คุณภาพชีวิตถึงลูกหลาน ดีกว่ามัวแต่มองว่าเมื่อไหร่การท่องเที่ยวจะกลับมา อยากให้รัฐสนับสนุนแนวทางนี้มากกว่านี้ ควรหวนกลับมามองชุมชน แม้เกาะพีพีจะสวยงามแต่ไม่ได้มองถึงเรื่องวัฒนธรรมเลย”ดร.นฤมล กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่า สำหรับชาวเลที่เกาะพยามนั้น พื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนที่ถูกบีบให้ดิ้นรนตั้งแต่ต้น เพราะอยู่เหมือนสุดเกาะแล้ว และวิถีประมงก็มีน้อยเพราะมีเรือไม่กี่ลำ ชาวเลต้องพลอยกันไปหาปลา แต่โชคดีที่มีคนเข้ามาสนับสนุนให้ชาวเลได้เลี้ยงไก่และพัฒนาด้านการเกษตรเล็กๆ เพื่อให้เด็กๆได้มีอาหาร ซึ่งเป็นการดิ้นรนต่อสู้ของคนๆเดียวไม่มีแรงหนุน และเป็นการมองอนาคตในแง่อาหาร จริงๆที่นี่ก็มีประวัติศาสตร์ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน เพราะสามารถเชื่อมโยงกับชาวมอแกนเกาะช้าง เกาะเหลา และชาวมอแกนฝั่งพม่า หากเราพยายามสร้างเข้าใจเรื่องถิ่นที่อยู่ ก็จะเห็นได้ว่าชาวมอแกนกลุ่มนี้สมัยก่อนก่อนเขาเป็นเจ้าของทะเลกว้างใหญ่ สามารถทำมาหากินในระบบนิเวศย่อยๆแถบนี้ได้อย่างปกติสุข

ดร.นฤมล กล่าวถึงชุมชนชาวเลที่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ว่าเป็นชาวมอแกนที่ยังรักษาวิถีวัฒนธรรมได้ดีที่สุดของกลุ่มมอแกน ทั้งในเรื่องของภาษาและพิธีกรรม รวมถึงการสร้างเรือกาบาง โดยผู้เฒ่าผู้แก่ยังมีความรู้เรื่องการทำมาหากินแบบคนสมัยก่อน และมีความพยายามถ่ายทอดแต่ยังไม่พอ ที่ผ่านมา 9 หน่วยงานได้ร่วมกันลงนามเพื่อให้พื้นที่เกาะสุรินทร์เป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรม

“ถ้านักท่องเที่ยวมีเป็นโปรแกรมว่ามีการจัดการท่องเที่ยวชุมชนชาวเล จะทำให้เขาสร้างระบบการท่องเที่ยวแบบพึ่งพาได้ และไม่เหมือนสวนสัตว์มนุษย์ให้คนมาถ่ายภาพ การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน คนที่ใกล้ตัวที่สุดคืออุทยานฯ ต้องสนับสนุนชาวบ้านหากเขาต้องการเอาปลามาแลกข้าวก็ควรอยู่กันแบบเอื้อเฟื้อ เหมือนสมัยก่อนที่อยู่กันแบบพึ่งพากัน ชาวมอแกนมักเอาปลาแลกกับข้าวสารและเครื่องใช้ในครัว ถ้ามีระบบแบบนี้ก็ดีเพราะไม่เน้นเรื่องการขอและการให้ ชาวเลเก่งในบางด้าน แต่บางที่ก็ต้องอะลุ่มอล่วยกัน ถ้าห้ามเลยก็ไม่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย” ดร.นฤมล กล่าว


On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →