Search

หวังที่ริบหรี่ของ ‘สลัมโบรี กีลา’

Borei Keila1

 

“คนมาซื้อตึกมั้ง มากันหลายคนบนรถคันใหญ่ขนาดนี้” เสียงหนุ่มวัยกลางคนสนทนากับเพื่อนในพื้นที่ชุมชนแออัดโบรี กีลา (Borei Keila) กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทันทีที่รถตู้คณะสื่อมวลชนไทยนำโดยโครงการพัฒนาการสื่อสารการทำข่าวสืบสวน สอบสวนประเด็นสุขภาวะในพื้นที่พรมแดนจอดหน้าชุมชน

 

เป็นเรื่องปกติที่ชาวชุมชนตั้งข้อสงสัยต่อคนแปลกหน้าผู้มาเยือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนต่างแวะเข้ามาสำรวจพื้นที่บ่อย ๆ แม้ชาวโบรีกีลายังระแวงต่อการถูกไล่ที่แต่ไม่ได้ปฏิเสธใคร เพราะรู้ดีว่าต่อให้แรงต่อต้านมีมากเพียงใด หากใช้อาวุธและกำลังจากภาคทหาร ตำรวจ เข้ายึดอย่างเผด็จการกำลังมือเปล่าของคนในพื้นที่คงยากจะหยุดยั้ง

 

ท่ามกลางสลัมเล็ก ๆ ที่มีผู้อาศัยอยู่กว่า 150 ครัวเรือน ยังมีตลาดที่อุดมไปด้วยสินค้าหลายอย่าง ตลอดจนมีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะอันแสดงถึงความอบอุ่นของคนในพื้นที่อย่างเต็มเปี่ยม เป็นหลักฐานการต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยได้ชัดเจนของชาวสลัมโบรีกีลา หลังจากประท้วงความไม่ยุติธรรมต่อรัฐบาลกัมพูชา โดยการนำของนายกฯ ฮุน เซน กรณีถูกไล่ที่เพื่อขายต่อนายทุนต่างชาติที่ทำธุรกิจห้องเช่าและร้านค้าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003

 

Borei Keila2

เพียะรม เจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเอกชนจากเครือข่ายต่อสู้เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยในกรุงพนมเปญ เล่าว่า ในกรุงพนมเปญมีชุมชนแออัดกว่า 500 ชุมชน ที่ถูกกดดันจากรัฐบาลในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย แต่มีเพียงไม่ถึง 10 ชุมชน ที่สร้างความแข็งแกร่งต่อสู้อยู่ได้ โดยโบรีกีลา เป็นอีกแห่งที่ยังเห็นว่ามีชาวบ้านบางส่วนยังยืนหยัดอยู่แม้จะต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางมาหลายครั้ง ขณะที่บางคนยอมทำตามคำสั่งรัฐบาลสั่งย้ายไปที่ใดก็ยอมจำนน

 

แต่เดิมชุมชนมีการครอบครองที่ดินอยู่ก่อนแล้ว ด้วยการเจรจาขอจัดสรรที่ดินภายหลังเหตุการณ์เขมรแดงครองเมืองยุติลง โดยเริ่มแรกมีมากกว่า 4,700 หลังคาเรือน แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน จำนวนตึกแถวและอาคารพาณิชย์ก็เริ่มเกิดขึ้น โดยเบื้องหลังชุมชนเป็นตึกแถวให้เช่าสำหรับนักธุรกิจและพ่อค้าทั่วไป หลังจากนั้นชาวชุมชนโบรีกีลาก็มีการแยกย้ายหาพื้นที่อยู่ใหม่ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ในกัมพูชา แต่ก็มีหลายคนที่ตัดสินใจกลับมายังพนมเปญ เพราะความสะดวกด้านการศึกษา คมนาคมและบริการสุขภาพ ชาวชุมชนโบรีกีลาจึงได้ยึดพื้นที่บางส่วนไว้โดยสร้างเป็นเพิงเล็ก ๆ พออาศัยหลบแดดหลบฝน

Borei Keila3

จากนั้นประมาณปี ค.ศ. 2003 นั้นมีบริษัท ฟานิเมกซ์ (Phanimex company) ได้สิทธิก่อสร้างและพัฒนาที่ดินจากรัฐบาลกัมพูชาในบริเวณชุมชนเดิม ชาวบ้านจึงตอบตกลงภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทสัญญาว่าจะสร้างอาคารให้พักจำนวน 10 หลัง แต่แล้วก็สร้างเพียง 8 หลัง อีก 2 หลัง อยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่ระหว่างที่สร้างได้ประมาณ 20% ก็มีข่าวว่า รัฐบาลและบริษัทได้ขายอาคารที่พักให้นายทุนรายอื่นแล้ว คาดว่าเป็นคนจีนและเวียดนาม

 

ใต้บันไดตึกสูง 6 ชั้น มีห้องเล็ก ๆ ของครอบครัว เปจ ลำคูน ผู้นำชุมชนโบรีกีลา ตัวผนังกั้นห้องเป็นสังกะสีสีเขียวด่างสนิม ฟูกเก่า ๆ และหม้อข้าววางอยู่ไม่ไกลกันนัก เขาเข้าไปจัดวางสิ่งของอย่างเป็นระเบียบเพื่อรับคณะสื่อมวลชนจากไทยก่อนจะระบายความทุกข์ของคนโบรีกีลา ว่า คนสลัมไม่มีใครมีรายได้มากพอจะซื้อห้องแถว เพราะราคาสูงมากตกราคาเมตรละเกือบ 1,000 ดอลลาร์ และยังต้องบวกค่ารายเดือนให้เจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วยประมาณเดือนละ 25 ดอลลาร์

“พวกเราจนจะตาย เงินซื้อข้าวก็แทบไม่พอ เด็ก ๆ ไปเรียนบ้างขาดบ้าง ป่วยมีเงินไปหาหมอก็รอด ไม่มีก็ตาย มองหาสวัสดิการอะไรยังยาก ซึ่งเราก็ทนเป็นคนจนอย่างนี้มาตลอด การมาอยู่สลัมใต้ตึก ใช่ว่าจะมีความสุข คนบนตึกเขาทิ้งซากขยะลงมาทำให้เรากลายเป็นพื้นที่รับสิ่งปฏิกูลโดยไร้การเหลียวแล แต่ไม่มีเงินก็เลือกไม่ได้”

 Borei Keila3

จากคำสัญญาจอมปลอมของ บ.ฟา นิเมกซ์ นั้น ที่มีการจ่ายใต้โต๊ะแน่นหนา ทำให้รัฐบาลลืมชาวสลัมไปนาน จนเกิดการประท้วงมาหลายครั้งและมีสมาชิกติดคุกไป 2-3 ราย หลายคนจึงมีความหวังอยากให้กัมพูชาเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แม้ตอนนี้คำตอบแห่งความเป็นธรรมไม่สามารถชนะความเป็นเผด็จการของฮุน เซน ได้ แต่ชาวสลัมก็เชื่อว่า พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป

 

“เรารู้ดีว่า คนจนเป็นแค่เศษประชาชนไม่เคยตั้งเป็นพลเมืองกัมพูชา สำหรับรัฐบาลฮุน เซน แต่เราก็ยังหวังว่าสักวันปาฏิหาริย์จะมีบ้าง เพื่ออย่างน้อยลูกหลานชาวสลัมได้มีชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคต ด้วยอาชีพสุจริต โดยไม่ต้องหนีร้อนไปขายแรงงานต่างบ้านเกิดเมืองนอน” เปจทิ้งท้าย.

——————–

เรื่อง : จารยา บุญมาก
ภาพ : จำนง ศรีนคร
เดลินิวส์ 1 กันยายน 2556

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →