เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศร่วมจัดกิจกรรมวันชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยแต่ละพื้นที่ 5 ภูมิภาค มีการจัดกิจกรรมย่อยเพื่อเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งในช่วงเวลา 10.30 น. มีเวทีเสวนาออนไลน์ “สานพลังผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” โดยมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง และตัวแทนองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมกันเสวนา
นายวิทวัส เทพสง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้ กล่าวว่า เหตุผลที่จำเป็นต้องมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากกฎหมายไทยมีนโยบายที่เหลื่อมล้ำ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาทางสังคมและไม่สามารถมีส่วนร่วม โดยเฉพาะชาวเลมอแกนจำนวนมากยังไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่มีสิทธิเข้าถึงบริการจากรัฐ รวมถึงการประกาศเขตอนุรักษ์ทับพื้นที่ของชนเผ่าพื้นเมือง ได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตพี่น้องที่มีวิถีชีวิตพึ่งพากับทรัพยากรธรรมชาติ เช่นปัญหาที่อยู่อาศัย บางชุมชนไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ได้ ที่ทำกินทั้งบนฝั่งและในทะเลก็กระทบกับชาวเล ต้องออกหากินในทะเลไกลมากขึ้น เสี่ยงโรคน้ำหนีบ ชุมชนถูกอุทยานแห่งชาติประกาศทับ ไม่นำทรัพยากรในพื้นที่มาสร้างหรือซ่อมบ้านได้ จนยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ออกคำสั่งหลายฉบับไล่พี่น้องออกจากพื้นที่ดั้งเดิม ที่ผ่านมาเครือข่ายได้ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ในหลายระดับจนเกิดมติ ครม.ที่มีต่อกลุ่มชาวเลและชาวกะเหรี่ยงในปี 2553 แต่ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังไม่จางหาย

นายเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคตะวันตก กล่าวว่า หลังจากการระดมความเห็นในเวทีพี่น้องสะท้อนตรงกันว่าสถานการณ์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์วันนี้ยังมีความไม่เป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำสูง เชื่อว่าการผลักดันร่างกฎหมายร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง จะทำให้สังคมไทยเริ่มเปิดพื้นที่ยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น พี่น้องจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนนำไปสู่รูปธรรม ซึ่งการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์เกินผู้อื่นในสังคม แต่เป็นการสร้างพื้นที่รูปธรรมแสดงถึงความมั่นคงของสังคมไทย และสามารถเชื่อมโยงกับพลวัตของโลกได้ ทั้งการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีชุมชนกะเหรี่ยงป่าแป๋ ที่กำหนดเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม ชุมชนช่วยกันดูแลป่า 20,000 ไร่ แต่ใช้ที่ทำกินไม่เกิน 1,000 ไร่เท่านั้น เพื่อให้ธรรมชาติคงสมดุลยั่งยืน
“การจัดการตัวเองไม่ได้หมายถึงการปกครองตัวเอง แต่เป็นการร่วมมือกับรัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐมีระบบการทำงานสั่งการจากบนลงล่างแต่กลับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าวันนี้เปิดพื้นที่ให้พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งก็จะแก้ปัญหาได้” นายเกรียงไกร กล่าว
นายศุรวิษฐ์ ศิริพาณิชย์ศกุนต์ ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคอีสาน กล่าวว่า เครือข่ายของอีสานจัดรับฟังความเห็นชนเผ่าพื้นเมือง 10 กลุ่ม ทำให้ได้รวบรวมข้อมูลบริบทของภาคอีสานและเพื่อการพัฒนาฐานข้อมูลในด้านต่างๆ ทำให้เห็นปัญหาได้ชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาคือการส่งต่อทางวัฒนธรรมแก่คนรุ่นต่อไป ด้านภาษาในบางกลุ่มอีก 5 ปี อาจไม่มีการส่งต่อภาษาแล้ว เพราะบางชนเผ่าเหลือประชากร 100-200 คน ซึ่งชนใดไม่สามารถส่งต่อภาษาได้ก็เสมือนการล่มสลายทางชาติพันธุ์ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ทุกคนเห็นว่าร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มีความสำคัญช่วยส่งเสริมศักยภาพทางวัฒนธรรม ทำอย่างไรจะช่วยให้เกิดการส่งต่อวัฒนธรรมภาษาให้ลูกหลายอย่างยั่งยืนได้
“ประวัติศาสตร์ชุมชนเราต้องรู้รากเหง้าเป็นใครมีที่มาอย่างไร มรดกภูมิปัญหาทางวัฒนธรรม เรามีปราชญ์ด้านต่างๆ วัฒนธรรม อาหาร ดนตรี เราต้องทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการสานต่อ มีศูนย์เรียนรู้ให้ มีวัฒนธรรมกินได้ ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดี คนรุ่นใหม่จะได้สานต่อ โดยเห็นด้วยกับร่างกฎหมายทุกฉบับ” นายศุรวิษฐ์ กล่าว

นางวนิจชญา กันทะยวง ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือพื้นที่ราบ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของชนเผ่าพื้นเมืองคือสิทธิที่ทำกิน และการรักษาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต เช่น ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนอยู่ในเขตป่าเกือบทั้งหมด ซึ่งรัฐสามารถเอาผิดได้ แต่เราอยู่ก่อนมีการประกาศกฎหมายป่าไม้ ดังนั้นกฎหมายต้องให้สิทธิการดำรงวิถีชีวิตอย่างมีความสุขแก่ชาวบ้านด้วย ด้านปัญหาสัญชาติที่แม้หลายคนได้รับสัญชาติไทยตามสิทธิที่ต้องได้รับแล้ว แต่บางกรณียังถูกข่มขู่ยึดคืนบัตรประชาชนจากรัฐ หรือยังถูกสังคมมองว่าไม่ใช่คนไทยเต็มร้อย นอกจากนี้ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังตกสำรวจสถานะทางกฎหมาย การจัดการตัวเองคือการกำหนดอนาคตตัวเอง ตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ใช่ว่าเราอยากอยู่เหนือคนอื่น แต่เราอยากกำหนดอนาคตตัวเอง
นายสุพจ หลี่จา ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองพื้นที่สูง กล่าวว่า ชาวบ้านกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่ไม่เอื้อต่อบริบทและความต้องการพี่น้องชุมชนบนที่สูง แต่ปัจจุบันนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้พี่น้องได้รับผลกระทบ คนวัยแรงงานต้องกลับชุมชนมาทำการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต แต่กลับไม่มีสิทธิเข้าถึงที่ดินอย่างเหมาะสม ไม่สามารถสร้างความมั่งคงทางอาหารให้กับชุมชนได้ ทำให้ต้องดิ้นรนต่อสู้กับข้อจำกัดมากมาย ที่ผ่านมาพยายามพูดเรื่องนี้ทุกเวที แต่กลับไม่สามารถสร้างความเข้าใจต่อสังคมไทยให้เข้าใจระบบเกษตรไร่หมุนเวียน หรือภูมิปัญหาในการจัดการการทรัพยากรธรรมชาติของชนเผ่าพื้นเมืองได้
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นทรัพยากรและที่ดิน รวมทั้งเรื่องสัญชาติ ในการตรวจสอบนั้น กสม.จัดทำรายงานข้อเท็จจริงเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาไปที่นายกรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กสม.ยังได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องเป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไทยเป็นภาคีไว้หรือไม่ สำหรับเรื่องกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กสม.ได้เก็บข้อมูลรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อรัฐบาลและกฤษฎีกา รวมไปถึงการหยิบยกปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยขึ้นมาตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ภายหลังจากเคยมีการทำรายงานการตรวจสอบไปแล้ว
“การที่พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองยืนยันว่าอยู่มาก่อนมีกฎหมายต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องยืนยันให้หนักแน่น การที่ปี 2553 มีมติ ครม.ของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ก็เป็นการนับหนึ่งที่สำคัญ ตอนนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่สามารถขยายผลให้มติ ครม. เป็นกฎหมายที่ให้คุ้มครองไปถึงอีก 70 กว่าชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ” นางปรีดา กล่าว
นายอภินันท์ ธรรมเสนา ตัวแทนศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มชาติพันธุ์จำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง คือ 1.กลุ่มชาติพันธุ์เป็นพลเมืองของชาติต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะพลเมือง 2.วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นมรดกของชาติต้องได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม 3.กลุ่มชาติพันธุ์มีศักยภาพหากมีกฎหมายส่งเสริมจะกลายเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ 4.รัฐธรรมนูญของไทยมีหลักการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จึงต้องมีกฎหมายลูกที่กำหนดแนวทางคุ้มครองที่ชัดเจน 5.กระแสโลกให้ความสำคัญกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งร่างกฎหมายทุกฉบับที่กำลังมีการผลักดันล้วนถือหลักการเหมือนกัน คือทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับไม่ถูกเลือกปฏิบัติ มรดกทางวัฒนธรรมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริม เกิดความมั่งคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณ ทำให้เข้าถึงการบริการพื้นฐานจากรัฐ และนำไปสู่สิทธิจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการพัฒนา
นายอภินันท์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สังคมไทยจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้เกิดการสร้างรายได้จากทุนวัฒนธรรม ประหยัดงบประมาณของรัฐเพราะกลุ่มชาติพันธุ์สามารถพึ่งพาตนเองได้ ประเทศมีความมั่นคงโดยลดความเหลื่อมล้ำ ทรัพยากรธรรมชาติจะมีความยั่งยืน และประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการคุ้มครองความหลากหลาย
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายของรัฐไทยจะไม่บัญญัติเนื้อหาด้านสิทธิไว้ในกฎหมาย แต่จะบัญญัติอำนาจหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก ดังนั้นร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอจะแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะจะกำหนดขอบเขตของสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปเพื่อให้ครอบคลุมตัวเนื้อหาให้เป็นไปตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ รวมถึงสิทธิที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศหลายฉบับที่รัฐบาลไทยเป็นภาคีมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นสองส่วนจะบรรจุในกฎหมายฉบับภาคประชาชนนี้ เช่น สิทธิวัฒนธรรมการศึกษา สิทธิที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิการกำหนดอัตลักษณ์ตามวิถีดั้งเดิม สิทธิความเสมอภาคการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และสิทธิทางการมีส่วนร่วม และสิทธิในการบริการของรัฐ ทั้งหมดจึงเป็นความสำคัญในการดำรงวิถีชีวิตและดำรงอัตลักษณ์ไว้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคตให้ดีขึ้น
นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ด้านชาติพันธุ์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในสภาฯ มีการทำรายงานผลการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการส่งเสริมการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ไทยผ่านมติสภาฯ และได้ส่งถึงฝ่ายบริหารแล้ว โดยหนึ่งในข้อเสนอของรายงานระบุต้องมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรม และอีกประเด็นคือระงับการดำเนินคดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะที่ดำรงชีวิตตามวิถีบนที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม รวมถึงรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ
“ผมเห็นว่าปัญหาทั้งหมด เรามีวิถีชีวิตดั้งเดิมตามปกติวิสัยและวัฒนธรรมของตัวเองเหมือนกับทุกกลุ่มวัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งปฏิญญาสากลที่รัฐไทยได้ลงนาม รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ส่งเสริม ดังนั้นปัญหาคือกฎหมายลูกต่างๆ จึงจำเป็นต้องร่างกฎหมายที่ส่งเสริม และคุ้มครอง ซึ่ง 3 ฉบับที่เข้าสู่สภาแล้วคือ 1.ร่างกฎหมายของสภาชนเผ่าฯ กำลังมีการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2.คือร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล และร่างกฎหมายของ กมธ.เข้าอยู่ในกระบวนการของรัฐสภาแล้ว ยังเหลืออีกสองร่างที่เตรียมยื่นเข้าสภา” นานณัฐพล กล่าว
ในช่วงบ่ายได้มีกิจกรรมให้กำลังใจชาวบ้านบางกลอย โดยนักวิชาการ ศิลปินและชนพื้นเมือง ทั้งไทยและหลายประเทศทั่วโลก