Search

เขื่อน”น้ำอู”

nam u 1

อาทิตย์ที่แล้ว ผมกับทีมสื่อมวลชน นั่งเรือจากเมืองงอยขึ้นเหนือไปตามแม่น้ำอูราว 7 กิโลเมตร เพื่อดูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมสองฟากฝั่งจนถึงบริเวณก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ หมายเลข 3

 

ช่วงน้ำหลากในฤดูฝน (ชาวลาวเรียกน้ำใหญ่) น้ำสีแดงขุ่นคลักไหลแรง ความเร็วของกระแสน้ำไม่ต่ำกว่า 4,000 ลูกบาศก์เมตร/ต่อวินาที

 

เช่นนี้นี่เอง รัฐบาลจีนจึงเกลี้ยกล่อมรัฐบาลลาวจนเคลิ้มกับตำแหน่ง “หม้อไฟแห่งเอเชีย” (Battery of Asia) ยินยอมให้ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอูแบบ “ขั้นบันได” ถึง 7 แห่งในระยะเวลา 10 ปี แลกเม็ดเงินจากการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ขณะนี้ บริษัทรัฐวิสาหกิจจีน “ไซโนไฮโดร” (Sinohydro) กำลังสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนหมายเลข 2 (ใต้เมืองหนองเขียว) และหมายเลข 5 (เหนือเมืองขัว)

 

ผู้เชี่ยวชาญซีกเอ็นจีโอประเมินว่า โครงการทั้ง 7 จะส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน 2 ฟากฝั่งและประชากรในพื้นที่ทั้งหมด 89 หมู่บ้าน สภาพธรรมชาติ และระบบนิเวศตลอดลำน้ำยาว 448 กิโลเมตรจะเปลี่ยนแปลงและแปรปรวน

 

ทั้งยังมีผลกระทบต่อพันธุ์ปลา 84 ชนิด ในจำนวนนี้ 29 ชนิดพบเฉพาะในแม่น้ำอูเท่านั้น เนื่องจากปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยในระบบนิเวศน้ำไหล ไม่สามารถอยู่ในน้ำนิ่ง หรือแอ่งเก็บน้ำเหนือเขื่อน

nam u 2

ผมหลับตาจินตนาการภาพเขื่อนในอนาคตแล้วลืมตากวาดมองสองฟากฝั่ง ณ ปัจจุบัน เมฆปกคลุมทิวเขา ชาวบ้านลอยเรือจับปลาตามชายฝั่ง บ้างนั่งในเพิงบนตลิ่งเฝ้าบ่อกุ้ง เด็กน้อยวิ่งเล่นบนหาดทราย

 

เห็นแล้วรู้สึกเสียดายแทนผู้คน วิถีชีวิต และธรรมชาติในเมืองลาวตอนเหนือที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ

 

ระหว่างทาง ไทบ้านเมืองงอยพาไปดูการจับกุ้งที่บ่อของเขา หนึ่งปี จะหากินกุ้งน้ำอูได้เพียงช่วงเดียว ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ช่วงนี้ กุ้งจะว่ายจากแม่น้ำเข้าไปวางแพร่พันธุ์ตามถ้ำและลำห้วยสายเล็กที่ไหลลงมาจากเทือกเขา ชาวบ้านจึงสร้างกำแพงไม้ไผ่ปิดกั้นทางเข้า จากนั้นเจาะเป็นช่องใส่อุปกรณ์ (คล้ายลอบแต่ถี่กว่า)ดักกุ้งที่ว่ายทวนน้ำใสแจ๋วเข้าไป ช่วงชุกชุมคือเดือนสิงหาคม จับได้สูงสุด 40 กิโลกรัมต่อวัน นำไปขายในเมืองกิโลกรัมละ 400-450 บาท

 

แน่นอนว่า กุ้งและอาชีพจับกุ้งน้ำอูจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนอย่างแน่นอน

ผมเลียบๆเคียงๆคุยกับแกนนำชุมชนว่าด้วยเรื่องนโยบายรัฐ มักได้รับคำตอบเชิงบวก เมื่อถามเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อน คู่สนทนาตอบสั้นๆเชิงสงวนท่าที ทำให้ผมกระดากใจเกินกว่าจะถามเรื่องนี้ต่อ

 

แต่เชื่อเถอะ พวกเขาพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอีกไม่เกิน 10 ปี และอยู่กับมันได้ด้วยวิถีชีวิตเรียบง่ายและพอเพียง

 

ส่วนแม่น้ำอูและธรรมชาติโดยรอบน่ะหรือ.. รับรองได้เลยว่า มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

———————————-

โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน” ฉบับอังคารที่ 10 กันยายน 2556

 

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →