Search

“เมืองงอย”คอยรัก

ngoi

ภาคประชาชนเชียงของ จ.เชียงราย มีสายสัมพันธ์อันดีกับภาคประชาชน (ไทบ้าน) เมืองงอย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ต่างผลัดกันเยี่ยมยาม 2-3 ปีครั้ง

 

รอบนี้เป็นคิวชาวเชียงของ นำโดย “ครูตี๋” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา

 

ทีมสื่อมวลชน ถือโอกาสตามไปสมทบ นอกจากเป็นสักขีพยานการเชื่อมร้อยสัมพันธ์แล้ว ยังไปดูระบบนิเวศและสถานการณ์แม่น้ำอู หลังบริษัทไซโนไฮโดรของจีนเริ่มสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2 จากทั้งหมด 7 แห่งกั้นแม่น้ำอู

 

เช้าตรู่วันแรก พวกเราส่วนหนึ่งนั่งรถอีแต๊กไปถ้ำพระกลาง ระยะทางราว 4 กิโลเมตร ถ้ำนี้เป็นหนึ่งในสองแห่งที่ชาวเมืองงอยใช้หลบภัยสงครามกลางเมืองลาว ระหว่างปี 2496-2518 ช่วงนั้น สหรัฐขยันทิ้งระเบิดลงตัวเมือง พวกเขาจึงต้องอพยพมาหลบในถ้ำลึก ช่วงไหนซาลงหน่อยก็ออกมาปลูกข้าว ปลูกผัก จับปลา สะสมเสบียงตุนไว้ในถ้ำ อยู่กันแบบนี้หลายปีกว่าสงครามจะสงบ

 

ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนซึ่งเคยอยู่ร่วมสมัยเล่าว่า ชีวิตช่วงนั้นลำบากเหลือเกิน แต่ทุกคนกัดฟันสู้จนผ่านมันไปได้

 

หน้าถ้ำพระกลางมีลำธารไหลผ่าน มีสะพานไม้ข้ามไปยังกระท่อมหลังเล็กซึ่งทำเป็นโฮมสเตย์ รองรับนักท่องเที่ยวแวะพักค้างแรมระหว่างเดินท่องชนบท

 

ข้างกระท่อมเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ มีภูเขาสูงแต้มแต่งด้วยม่านหมอกเป็นฉากอลังการกั้นระหว่างสีเขียวกับสีฟ้า ในช่วงสงครามกลางเมือง ทุ่งนาบริเวณนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญรองรับผู้อพยพหนีภัยจากตัวเมือง

 

กลับจากถ้ำมากินมื้อเช้า พอสายหน่อย แกนนำไทบ้านเมืองงอยพาคณะทั้งหมดกว่า 20 คน นั่งเรือย้อนขึ้นเหนือ ดูแหล่งจับกุ้งริมสองฝั่งแม่น้ำอู ดูสภาพแวดล้อมบริเวณก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแห่งที่ 3

 

จากนั้น แวะเยือนหมู่บ้านสบแจมดูงานทอผ้า และพูดคุยกับพวกเขา นอกจากเกษตรกรรมและประมงแล้ว ชาวบ้านที่นี่ยังมีรายได้เสริมจากโฮมสเตย์ และขายผ้าทอฝีมือดี

 

คำผุย อดีตนายบ้านสบแจมบอกว่า ช่วงฤดูหนาว ชาวตะวันตกจำนวนมากจะแวะมานอนพักที่นี่ และใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน ลงเกี่ยวข้าว ทำไร่ จับปลา ช่วยให้คนในหมู่บ้านมีรายได้ช่วงนี้มาก เช่น ขายผ้าทอได้สูงถึง 500,000 กีบ (2,000 บาท) ต่อครัวเรือน เป็นต้น

 

เราร่ำลาชาวสบแจมแล้ว นั่งเรือกลับลงมาแวะกินมื้อเที่ยงริมแม่น้ำ บรรยากาศรอบข้างทำให้มื้อนี้เอร็ดอร่อยเพิ่มขึ้น

 

ตกเย็น ชาวเมืองจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้ฝ่ายไทย เสร็จพิธีรับประทานอาหารร่วมกัน ปิดท้ายด้วยรำวงกระชับสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ แม่หญิงลาวสาธิตการเต้นลีลาศ (บัดสลบ) ให้ผู้มาเยือนเต้นตาม บางคนลองอยู่สักพักก็เลิก

 

ดูเหมือน พวกเราจะถนัดรำวงแบบไร้กระบวนท่า (รำมั่ว) มากกว่า

 

เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าของบ่อนำกุ้งสดมาส่งตามนัด เราซื้อราว 2 กิโลกรัมไปปรุงมื้อเช้า เมนูแรกกุ้งแช่น้ำปลา จุ่มน้ำจิ้มแซ่บแนมกระเทียมใส่ปากว่าเอร็ดอร่อยแล้ว แต่ “กุ้งอั่ว” ฝีมือภรรยา “เซียง กระแต” แกนนำไทบ้านเมืองงอยยิ่งอร่อยกว่า

 

เธอได้ทีมเชียงของเป็นผู้ช่วยเก็บสมุนไพรรอบบ้านมาโขลก ก่อนลงมือปรุงเครื่องอั่วด้วยตัวเอง เสร็จแล้วเลือกกุ้งตัวใหญ่ (เท่านิ้วโป้ง) ยัดเครื่องอั่วลงในหัวและตัว พันด้วยสมุนไพรชนิดหนึ่งคล้ายใบตะไคร้แล้วเสียบไม้มัดตอก วางลงตะแกรงย่างไฟอ่อนๆ จนเกรียมติดไหม้

 

หยิบใส่ปากเคี้ยวกรุบกรอบตลอดหัวยันหาง หอมเครื่องปรุงเจือกลิ่นมันกุ้งคลุ้งจมูก ไม่มีกลิ่นสารเคมีรบกวน โอ้โห..อร่อยไม่รู้ลืมจริงๆ

 

กุ้งแม่น้ำอูถือเป็นเมนูสุดยอดประจำเมือง คุณมีโอกาสลองลิ้มชิมรสได้เพียงปีละครั้ง คือระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มันจะว่ายจากแม่น้ำหาหลืบหรือช่องน้ำใสที่ไหลออกมาจาก 2 ฝั่งเข้าไปวางไข่แพร่พันธุ์ ชาวบ้านจึงสร้างกำแพงไผ่กั้นและทำช่องให้มันว่ายเข้าไปติดกับดัก (คล้ายลอบหรือไซแต่ถี่กว่า)

 

พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า *อั่วกุ้ง* คือหนึ่งในไฮไลต์ของทริปนี้

 

เสียดาย เราคลาด “ตลาดนัดชนเผ่า” ไปเพียงหนึ่งวัน เขาจัดทุก 10 วันครั้ง ชาวบ้านจากทั่วทุกพื้นที่จะนำสินค้านานาชนิดมาวางขาย โดยเฉพาะลาวสูง ลาวเทิงในชุดพื้นเมืองหลากสีสัน จะนำผลิตผลจากทุ่งนาป่าเขาลงมาแจม

 

เดิมรายได้หลักของเมืองมาจากผลผลิตการเกษตรอันดับหนึ่ง ตามด้วยประมง และหัตถกรรม จนกระทั่งเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เสียงร่ำลือด้านความสวยงามของธรรมชาติ วิถีเรียบง่ายและเงียบสงบ แพร่ออกไปทั้งปากต่อปากและผ่านโลกออนไลน์ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกหลั่งไหลมา

 

คำหล้า วิจิตทำ นายบ้านเมืองงอย บอกว่า รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และโฮมสเตย์ผุดขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยว ยิ่งในช่วงฤดูหนาวมีจำนวนหลายหมื่นคนทีเดียว ส่งผลให้รายได้ด้านนี้พุ่งขึ้นเป็นอันดับสองรองจากเกษตรกรรม บางปีแซงเป็นแชมป์ ชาวบ้านมีเงินเก็บออมมากขึ้น ปัจจุบันยอดทุนสะสมในกลุ่มทอนเงิน (สหกรณ์ออมทรัพย์) สูงถึง 4 ล้านบาท (1 บาท =250 กีบ) บางคนมีมากถึงขนาดซื้อทัวร์เที่ยวสิงคโปร์และมาเลเซีย

 

อย่างไรก็ดี แม้หลายคนมีรายได้มากขึ้น มีเงินออมมากขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่ยังยึดหลักพอเพียง ปลูกข้าว ปลูกผัก จับปลา บางวันแทบไม่ต้องใช้เงิน วันไหนว่างจากทำนาหาปลา ก็นั่งซ่อมอุปกรณ์ยังชีพ ทอผ้า ทำขนมขาย ฯลฯ

 

วันเวลาของที่นี่ผ่านไปช้าๆ ด้วยท่วงทำนองสวยงาม

 

สิ่งที่ทำให้คนต่างถิ่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกประทับใจที่นี่มาก นอกจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ขุนเขาแต้มเมฆหมอกรายล้อมอยู่ทุกด้าน ความสงบเงียบ ไร้มลภาวะเจือปนแล้ว

 

ชาวเมืองยังมีรอยยิ้มเปื้อนบนใบหน้าเป็นนิตย์ มีน้ำใจอันอบอุ่น พร้อมหยิบยื่นมิตรภาพให้แก่ผู้มาเยือนก่อนเสมอ

 

เราจะได้ยินคำว่า “ซำบายดีเจ้า..” จากปากแทบทุกคน ยามเดินสวนกัน และยิ้มให้ หลายคนเอ่ยปากชวนสนทนาก่อน

 

ถึงเป็นห้วงเวลาแสนสั้น แต่ทั้งหมดเป็นความประทับใจที่มีต่อผู้คนและเมืองกลางหุบเขาตอนเหนือของลาว

 

หากเปรียบไปก็คล้ายสายลมกับมิตรภาพ พัดและผ่านมาให้ความสุขใจสบายกายชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ผ่านไป

 

ต่างกันตรงแต่..มิตรภาพทิ้งความประทับใจไว้ในความทรงจำมิรู้ลืม

 

เมืองนี้มีอดีต

 

“เมืองงอย” มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปราว 600 ปี อยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรล้านช้างโบราณ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ.1859-1936) ปฐมกษัตริย์แห่งล้านช้าง ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สมัยรัชกาลที่ 5 กองทัพไทยเคยตั้งทัพที่นี่ระหว่างยกพลไปช่วยลาวปราบกบฏฮ่อ

 

เล่าสืบต่อกันมาว่า ชื่อเมืองแผลงมาจากชื่อ “ท้าวกาดวอย” เจ้าเมืองยุคแรกๆ ชาวบ้านเรียกเมืองท้าวกาดวอย ต่อมาค่อยๆ เหลือเพียง “เมืองวอย” ก่อนจะเพี้ยนเป็น “งอย” ในที่สุด คำว่า “งอย” แปลว่า “ใกล้จะตก” ชื่อนี้ยังใช้เรียกแม่น้ำสาขาที่ไหลบรรจบแม่น้ำอูอีกด้วย

 

ถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางทหารตั้งแต่อดีตจนถึงสงครามอินโดจีน และสงครามระหว่างรัฐบาลฝ่ายขวากับพรรคประชาชนปฏิวัติลาว แต่ละฝ่ายจะพยายามยึดเป็นฐานที่มั่นให้ได้ เพราะแม่น้ำอูถือเป็นเส้นทางลำเลียงพลและยุทธปัจจัยระหว่างเมืองทางตอนเหนือกับเมืองหลวงพระบางที่สะดวกที่สุด

 

เมืองงอยห่างจากเมืองหลวงพระบางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 140 กิโลเมตร จากหลวงพระบางนั่งรถไปเมืองหนองเขียว 3 ชั่วโมง จากนั้น ลงเรือล่องย้อนขึ้นเหนือมาตามลำน้ำอู 1 ชั่วโมง

 

เฉพาะในตัวเมืองมีประมาณ 150 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 700 คน ส่วนใหญ่เป็นลาวลุ่ม ส่วนชุมชนในชนบทไกลออกไปโดยรอบเป็นลาวสูง ในกลุ่มนี้ยังแตกออกไปอีกหลายชาติพันธุ์

 

นักท่องเที่ยวสไตล์แบ๊กแพคนิยมมาอยู่กับธรรมชาติ และความสันโดษที่นี่ ส่วนหนึ่งท่องป่าเดินเขาตามหมู่บ้านลาวบน สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือจะผจญภัย เช่น ปีนเขา สำรวจถ้ำผาน้อย ถ้ำพระกลาง และถ้ำพระแก้ว ก็ได้

 

บางส่วนชอบนั่งเรือล่องน้ำอู ดูวิถีชาวประมงตลอด 2 ฟากฝั่ง แวะเยือนหมู่บ้านรายทาง หาซื้อสินค้าพื้นเมืองฝีมือดีเป็นของฝาก

 

——–

โดย ภาคภูมิ ป้องภัย
คอลัมน์ บันทึกเดินทาง
มติชน

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →