เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ที่ศูนย์ราชการใหม่ ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี ภาคี Saveบางกลอย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรียกร้องให้หามาตรการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนผู้ถูกคุมขังคดีการเมือง ขอสิทธิประกันตัว และตรวจสอบมาตรการดูแลรวมถึงอาการป่วยจากไวรัสโควิด-19 ของนักกิจกรรมทางการเมืองในเรือนจำ หลังทราบข่าว นายธัชพงศ์หรือชาติชาย แกดำ หรือ บอย สมาชิกภาคีฯ ติดโควิด-19 ในเรือนจำและมีอาการน่าเป็นห่วง โดยมี นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ และ นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ภาคีฯ ระบุว่า เนื่องด้วย นายธัชพงศ์ ที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชน เรียกร้องความเป็นคนที่เท่ากันให้พี่น้องชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง มีหมายจับและเข้ามอบตัว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ในข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.ควบคุมโรค ของสถานีตำรวจ คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี นายธัชพงศ์ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน จึงเป็นการเข้าเรือนจำครั้งแรก ตามหมายจับของสถานีตำรวจคลอง 5 เขตอำนาจศาลธัญบุรี เมื่อศาลธัญบุรีมีคำสั่งฝากขังและคัดค้านการประกันตัว ในเวลาต่อมานายธัชพงศ์ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ที่กำลังระบาดในเรือนจำทั่วประเทศ
“ขณะนี้เขามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หมอสั่งให้ระวังห้ามกระแทกมีบาดแผลเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ธัชพงศ์ยังมีอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ไอ ความดันโลหิตสูง แพทย์ให้ใช้ออกซิเจนในการช่วยหายใจ แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในเรือนจำมีหลายคน จึงต้องใช้สลับกับนักโทษคนอื่นๆ” ภาคีเซฟบางกลอย ระบุ
ภาคีฯ ระบุอีกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเป็นสิทธิที่มาจากหลักการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงเรียกร้องให้ กสม. เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการป่วยของนายธัชพงศ์และผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆ เสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ด้านนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. ประสานงานกับกรมราชทัณฑ์อย่างไม่เป็นทางการมาตลอดว่าจะมีช่องทางช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งเป็นการประสานงานคุ้มครองสิทธิ ไม่ใช่การตรวจสอบ เพราะว่าต้องการที่จะรู้ว่าอาการของนายธัชพงศ์ น่าเป็นห่วงหรือไม่ หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ได้ให้ข่าวมา กสม. จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยการประสานงานให้เกิดการประชุมออนไลน์
“ตอนนี้ กสม. ได้เตรียมแผนนัดประชุมผ่านซูมกับทางราชทัณฑ์ เพราะว่าทางราชทัณฑ์ไม่ให้เราเข้าไปเยี่ยม กสม. พยายามต่อไปหลายรอบแล้ว แต่เขามีนโยบายห้ามเยี่ยม ก็เลยแก้ปัญหาว่าถ้าอย่างนั้นต้องมีการประชุมซูมว่าราชทัณฑ์มีมาตรการอย่างไรต่อผู้ชุมนุมที่ร้องเรียนมาว่าเขาติดโควิด ส่วนกรณีนี้เร่งด่วนต้องขอปรึกษาหารือกับราชทัณฑ์อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อเรื่องนี้” นางสาวศยามล กล่าว
นางสาว ศยามล กล่าวอีกว่า ผู้ต้องขังไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ควรจะได้รับการประกันตัว การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ควรต้องถึงขั้นถูกจับกุม การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการชุมนุมโดยเปิดเผย รัฐควรจะดูแลจัดการเรื่องความเรียบร้อยมากกว่าการควบคุมหรือสลายการชุมนุมด้วยอาวุธ กสม. ตระหนักดี และคิดว่าควรจะต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและราชทัณฑ์ที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะรับเรื่องไว้แล้วปรึกษากับ กสม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน ญาติและทนายเข้าเยี่ยมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พบว่านายธัชพงศ์มีอาการไอหนัก ปวดหัว หายใจยังติดขัด แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ มีไข้และความดันลดลง ค่าออกซิเจน 99-100 ใช้ออกซิเจนตลอดเวลา เพิ่งได้นอน ก่อนหน้านี้นอนไม่ได้ ทานอาหารได้ไม่มาก ส่วนผลตรวจเลือดและติดตามค่าเกล็ดเลือดนั้น ผลยังไม่ออก สำหรับผลการเอกซเรย์ปอด 2 ครั้ง แพทย์ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่
ขณะที่ในวันนี้ 2 กันยายน ญาติและทนายเข้าเยี่ยมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในเวลา 13.30 น. พบว่านายธัชพงศ์ มีอาการไอ เวียนหัว มีไข้ ความดันลดลง และเหนื่อยหอบจนต้องให้ออกซิเจน ส่วนผลตรวจเลือด 3 วันก่อนยังไม่ออก ยังไม่มีการเอกซเรย์ปอดใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ทางทนายได้ยื่นประกันตัวครั้งที่ 3 นายธัชพงศ์ต่อศาลชั้นต้น(ศาลธัญบุรี) ศาลมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้ประกันและไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทำให้นายธัชพงศ์ถูกคุมขังมาแล้ว 25 วัน ต้องถูกคุมขังต่อไป