Search

เยือน “เมืองงอย” ลาว ก่อน “ทุนนิยม -เขื่อน” แทนที่ วิถีพึ่งป่า

ngoi

ผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ หลากสีที่แขวนไว้บนผนังบ้าน สบแจม หมู่บ้านริมแม่น้ำอูที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองงอย แขวงหลวงพระบางของลาว เมื่อครั้งสื่อมวลชนไทยและกลุ่มนักอนุรักษ์ลงพื้นที่ชุมชนริมน้ำอู ในฤดูฝน เป็นอีกบรรยากาศที่น่าชื่นชมของชาวบ้านสบแจม หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีเพียง 55 หลังคาเรือน หมู่บ้านสบแจมเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่บนพื้นที่สูง โอบล้อมด้วยหน้าผาเขียวขจี ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรม และประมงเป็นหลัก แต่ทอผ้าเป็นอาชีพเสริม ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองงอย แขวงหลวงพระบางจะต้องแวะเลือกซื้อผ้าจากบ้านสบแจม เป็นส่วนมาก

 

“มาแต่ฝั่งไทยบ่เจ้า แวะกินน้ำก่อน แล้วค่อยเดินเที่ยวในบ้านนะเจ้า มีผ้าหลายแบบให้ซื้อหา ” นวลจันทร์ แม่บ้านวัย 32 ปี กล่าวทักทาย พร้อมเสนอขายผ้าทอมือ “ผืนเล็กๆ ผ้าฝ้ายราคา 120 บาท เจ้า ผืนใหญ่ผ้าไหม 250 บาท ฝรั่งจะมองหาผ้าคลุมผืนใหญ่ บางคนซื้อไปขายต่อ ก็ไม่รู้เหมือนกันเอาไปขายที่ไหน แต่คนบ้านสบแจมจะขายเฉพาะในหมู่บ้าน ไม่มีการเร่ขายที่อื่น ใครอยากได้ต้องมาซื้อเอง บางครั้งเจ้าของร้านค้าจากเมืองหลวงพระบางก็มารับไปขายต่อก็มี เราก็ทอได้พออยู่พอใช้ เพราะคนลาวจะขาดผ้าขาวม้าไม่ได้ รายได้ไม่มากแต่เราก็ทำในเวลาว่าง พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และค่าน้ำมันเรือ”

 

นวลจันทร์ อธิบายว่า หญิงลาวที่โตพอจะทำงานได้ต้องเรียนรู้ทักษะการทอผ้าตั้งแต่ยังเด็กประมาณ 10 ขวบ ต้องทำเป็นตั้งแต่ การปั่นฝ้าย ย้อมสี และทอผ้าลายต่างๆ ส่วนมากเป็นลายหมากรุก ที่นิยมกันมาก เพราะชาวลาวต้องอาศัยผ้าพาดบ่า คาดเอว เวลาทำบุญ และไปวัด เพื่อความสุภาพ โดยแม่บ้านจะทอไว้ให้คนในครอบครัวใช้อเนกประสงค์ ระยะหลังมีการท่องเที่ยวเข้ามา นักท่องเที่ยวขอซื้อผ้าจากแม่บ้านไปใช้ จึงเริ่มทอเพื่อการค้าขาย แต่บ้านสบแจมจะทอผ้าเน้นที่การใช้ผ้าไหมและผ้าฝ้ายแท้ สีที่ขายได้ดี คือ สีน้ำตาลเปลือกไม้สีเสียด และเปลือกพยอม จะมีความเข้มของสีที่ทนทานและไม่ซีดง่ายๆ ชาวตะวันตกนิยมเป็นพิเศษ โดยแม่บ้านที่ทอผ้าต้องเดินเท้าเข้าป่าที่อุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำอูประมาณ 5-10 กิโลเมตร เพื่อหาเปลือกไม้มาใช้ในการย้อมผ้า

 

แน่นอนว่าบ้านสบแจมจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีสีสันของการทอผ้าด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยวและหลายคนอยากมาเยือนในฐานะเมืองสงบอันร่มรื่นริมแม่น้ำอู และปรารถนามาเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กระนั้นหมู่บ้านอันสงบแห่งนี้ก็หนีกระแสทุนนิยมไม่ได้ ไม่ต่างจากชนบทอีกหลายแห่งทั้งในลาวและไทย ที่นับวันต้อนกลุ่มชาวบ้านให้เข้าใกล้ระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมเกษตรมากขึ้น จนภาพวัฒนธรรมเริ่มจางลง มิหนำซ้ำโครงการสร้างเขื่อนและแหล่งผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำอูซึ่งมีมากถึง 7 แห่งที่ดำเนินการโดยบริษัทจากจีนก็เริ่มเข้าเข้าใกล้ชุมชนอันสงบแห่งนี้ทุกที

 

น้อยอายุ 62 ปีเล่าระหว่างถักสวิงช้อนปลา ว่า การทอผ้าของเด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีแล้ว ยังเหลือแค่รุ่นที่แต่งงาน มีครอบครัวเท่านั้น น่าจะเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะชาวลาวเริ่มหันไปลงทุนปลูกข้าวโพด ปลูกผักให้บริษัทขนาดใหญ่ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว บางคนก็ออกไปรับจ้างในเมืองใหญ่ คนทอผ้ามีอยู่น้อย แต่คนในบ้านสบแจมยังคงทออยู่จำนวนมากเพราะยังมีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเลือกซื้อ

 

“แก่แล้ว สายตาเริ่มแย่ ทอผ้าไม่ค่อยสวย ก็มาถักสวิง เอาไปใช้หาปลาในแม่น้ำอู ปลาเยอะแยะ หามาต้ม มาปิ้งกิน แต่ถ้าวันไหนลูกชายกลับมาจากทำนาเร็วก็มีปลาติดมือเข้าบ้าน ไม่ต้องไปหาให้เหนื่อย ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่ว่างไม่ได้ เข้าป่าไปหาฟืน หาหน่อไม้ ล่าสัตว์กันประจำ ทุกวันนี้ปล่อยหนุ่มสาว มีแรงทำงานไป เราแก่แล้ว นั่งอยู่บ้านช่วยสอนทอผ้า สอนถักสวิงจะดีกว่า ” น้อยเล่าวิถีชีวิตของคนบ้านสบแจม

 

ถึงแม้จะมีวันที่ชราลงทุกที แต่สุขภาพของป้าน้อยยังดูแข็งแรงมาก เธอแบกข้าวสาร แบกฟืน และขึ้นลงเรืออย่างคล่องแคล่ว เคล็ดลับง่ายๆ ก็แค่กินอาหารตามธรรมชาติ ไม่ทานผักเปื้อนสารเคมี ใช้ชีวิตอย่างสรรมถะที่สุด ซึ่งป้าน้อยยืนยันว่า คนแก่ในบ้านสบแจมมีสุขภาพแข็งแรงกันทุกคน ไม่มีใครเจ็บไข้จนต้องหามส่งโรงพยาบาลในเมืองให้ยุ่งยาก เพราะสมุนไพรในป่ารอบๆ ยังมีให้ใช้และทุกคนก็ยังดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายแทบไม่ต้องพึ่งแพทย์แผนปัจจุบันเลยแม้แต่รายเดียว

 

“ฉันป่วยไม่ได้นะ เดินทางไปหนองเขียวทีใช้เวลา 1 ชั่วโมงโดยเรือ ไปหาหมอเก่งๆ ในหลวงพระบางทีก็เดินทางทั้งวัน กว่าจะถึงตายพอดี ก็แค่รักษาตัวเองไม่ให้ป่วยก็พอ อาหารป่าถ้าไม่มีพิษก็กินไป ทั้งกุ้งหอย ปู ปลา ผักป่า มีเยอะให้เลือกกิน เลือกเก็บ อยู่บ้านสบแจมนะสบาย ”

 

ดูเหมือนคนบ้านสบแจม จะยังมีความสุขกับวิถีคนพึ่งป่าอย่างมาก แม้หลายคนจะรู้ว่าเขื่อนแม่น้ำอูจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้และทุกๆปีมีเจ้าหน้าที่มาสำรวจพื้นที่ ริมน้ำอูเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าก็ตาม แต่ก็ไร้สิทธิในการต่อต้าน

 

คำผุย อดีตผู้ใหญ่บ้านสบแจม เล่าว่า คนลาวรู้ดีว่า ช้าหรือเร็วเขื่อนจะเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครรู้ว่า ต้องทำอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่มี และเตรียมตัวรับมืออย่างไร ถึงงแม้ทุกคนดูไม่เดือดร้อนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทุปี เวลามีกิจกรรมบวชป่า ชาวบ้านสบแจมก็เข้าร่วมกับคนเมืองงอยทุกครั้ง เพื่อทำบุญให้เจ้าป่าเจ้าเขาคุ้มครองผืนป่าให้เป็นสมบัติของคนริมน้ำอูตลอดไป

 

“เรารู้ว่า เขื่อนมา อาจจะต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือของชาวบ้าน อาจต้องอ้อมสักหน่อย เช่น เดิมเดินทางจากบ้านสบแจจมไปเมืองงอยประมาณ 20 -30 นาที ก็อาจต้องอ้อมไปไกล เสียเวลามากขึ้น ปัญหาคือ ค่าน้ำมันต้องเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีกินมีใช้ แต่ในอนาคตหากเราไม่มีเงินก็อยู่ยาก คนสบแจมจึงเริ่มหาหนทางทำมาหากินเพิ่มขึ้น ส่วนมากปลูกข้าวโพดส่งบริษัทเอกชน โดยเขาลงทุนเมล็ดพันธุ์ให้ปลูกในไร่ของชาวบ้านเอง แล้วรับซื้อกิโลกรัมละ 4 บาท หากเอาเมล็ดพันธุ์มา 10 กิโลกรัมต้องคืนบริษัทประมาณ 200 กิโลกรัม ซึ่งต้องปลูกข้าวโพดส่งทุกปี”

 

ยังไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า เมื่อเขื่อนมา ทุนนิยมเข้ามาคนริมน้ำอูจะเผชิญปัญหาอะไรบ้าง แต่จากการประเมินผลกระทบขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ ประเมินแล้วว่า หากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำอู พันธุ์ปลาจำนวนมากที่เคยอาศัยอยู่ในน้ำอูจะหายไป และมีหมู่บ้านที่อยู่ริมน้ำได้รับผลกระทบถึง 89 หมู่บ้าน ซึ่งชะตากรรมของหมู่บ้านสบแจมเองก็เป็นที่น่ากังวลไม่น้อย ประกอบกับการคุกคามของทุนนิยมเชิงอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยแล้ว ชีวิตอันเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนของบ้านสบแจม อีกทั้งวัฒนธรรมทอผ้าพื้นบ้านเข้าขั้นวิกฤติ เสี่ยงต่อการอวสานไม่ต่างจากชาติพันธุ์อื่น ในไทยและลาวที่เจอปัญหาไม่ต่างกัน

 

เดลินิวส์ 29 กันยายน 2556

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →