Search

ปิดหมู่บ้านประกาศห้ามกรมชล-กรมเจ้าท่า-สทนช.เข้าพื้นที่ หลังแหกข้อตกลงดอดบินโดรนเก็บข้อมูลสร้างเขื่อนศรีสองรักษ์

เมื่อวัน 8 กันยายน 2564 กลุ่มฮักแม่น้ำเลย ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยระบุว่าไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและกรมเจ้าท่าเข้าไปสำรวจพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) และกรมเจ้าท่าไม่เคยทำตามข้อตกลงของชาวบ้านกลาง ล่าสุด มีการใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่ทางอากาศบริเวณรอบหมู่บ้านกลาง และมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาสำรวจพื้นที่ลำน้ำเลยในหมู่บ้านกลาง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าต่อชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนแต่อย่างใด ชาวบ้านกลางจึงได้มีมติ “ไม่ให้หน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนเข้าพื้นที่บริเวณบ้านกลาง ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อสำรวจข้อมูลโครงการเขื่อนศรีสองรักษ์และโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูน”

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าที่จริงชาวบ้านก็น่าจะใช้สิทธิอย่างนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไป เพราะเมื่อชาวบ้านคาดการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบ จึงได้ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วงหลังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)มาลงพื้นที่ตรวจสอบ และได้ให้ข้อเสนอแนะไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเลยว่า ควรมีกระบวนการมีส่วนร่วมร่วมกันระหว่างชาวบ้านและกรมชลประทาน ทั้งนี้ข้อเสนอแนะดังกล่าวเคยเสนอไว้ตั้งแต่ประมาณสิงหาคมปี 2561 ซึ่งตอนนั้นโครงการเขื่อนศรีสองรักษ์ยังไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างมากนัก แต่พอมาถึงวันนี้ก็เห็นชัดว่าโครงการมีความคืบหน้าเดินหน้าต่อไป  ทั้งนี้ โครงการเขื่อนศรีสองรักกระทบสิทธิของชาวบ้านตามที่ชาวบ้านเคยคาดการณ์ไว้คือ เวลาน้ำหลากมา เกิดน้ำท่วมตอนบน และน้ำระบายไม่ทันตามการคาดการณ์ของการออกแบบเขื่อนศรีสองรักษ์ ชาวบ้านมีความกังวลเรื่องน้ำเท้อจนไปถึงบ้านกลาง ข้อเสนออย่างนี้ชาวบ้านเคยเสนอผ่านเวที ผ่านคณะกรรมการ ผ่านการพูดคุยมาเพื่อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ แต่สุดท้ายกรมชลประธานก็ตั้งคณะกรรมการมาโดยไม่มีการประชุม หรือประชุมก็ไม่มีข้อยุติ ชลประทานก็มีการก่อสร้างเขื่อนและมีความคืบหน้าตลอดมา

นายหาญณรงค์ กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวบ้านต้องใช้มาตรการเด็ดขาดกับหน่วยงานภาครัฐ และยิ่งสถานการณ์โควิด-19 รัฐก็ออกมาตรการกำกับชาวบ้านเรื่องการเคลื่อนไหว การชุมนุม ไม่ให้ชาวบ้านเรียกร้อง แต่หน่วยงานรัฐไม่เคยหยุด ความคืบหน้าของโครงการก็ก่อสร้างไปเรื่อย ๆ ผลกระทบที่ชาวบ้านกังวลก็ไม่ได้ถูกชี้แจง มีการเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อทำการวัดระดับน้ำ มีการจับจีพีเอส บินโดรนเพื่อถ่ายภาพ ชาวบ้านก็ใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดิน ในที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ทั้งนี้ การมีมาตรการสกัดกั้นไม่ให้มีการเดินหน้าโครงการต่อไป เป็นสิทธิของชาวบ้านตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและ เป็นสิทธิเฉพาะบุคคลในกรณีที่ชาวบ้านครอบครองอยู่ ถ้าใครที่เข้ามาโดยไม่ชี้แจงวัตถุประสงค์ เข้ามาโดยไม่แจ้ง หรือไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าจะมีผลกระทบต่อที่ดินตัวเองว่าจะมีผลกระทบต่อที่ดินของตัวเองอย่างไรบ้าง ก็มีสิทธิห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือใครก็ตาม และยิ่งหน่วยงานภาครัฐแล้ว ต้องผ่านกลไกระดับอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นเพื่อทความเข้าใจกับชาวบ้านก่อน และให้ชาวบ้านยินยอมจึงเข้าพื้นที่ได้ แต่ถ้าหากว่าชาวบ้านไม่ยินยอมก็ไม่ควรจะเข้าพื้นที่ วันนี้ชาวบ้านก็ยึดมาตรการเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระดับชุมชนต่อไป

“ในกระบวนการมีส่วนร่วม กรมชลประทานต้องมองไกลไปกว่านี้ ก็คือ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่ใช่มองแค่จุดก่อสร้าง ต้องมองไปถึงผลกระทบท้ายน้ำที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดผลกระทบด้วย ผมมองว่า กรมชลประทานมีมุมมองเรื่องผลกระทบแคบเกินไป เมื่อชาวบ้านมีข้อเสนอมาก็ควรรับฟัง ควรมีกระบวนการศึกษาทำงานร่วมกันกับชุมชน นี่เป็นแค่โครงการเริ่มแรก ยังมีโครงการต่อไปอีกหลายวัน ซึ่งถ้ากรมชลประทานไม่ทำตัวเป็นผู้รับฟังที่ดี ต่อไปก็จะมีปัญหากับชาวบ้าน และมีสิทธิที่จะไม่ร่วมมือกับกรมชลประทานได้” นายหาญณรงค์ กล่าวย้ำ

นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า เรื่องการมีส่วนร่วม ตนเห็นว่ารัฐบาลนี้ต้องมองตัวเองให้ออก โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯว่าตัวเองไม่ใช่รัฐบาล คสช. แล้ว เป็นรัฐบาลซึ่งมาจากพรรคการเมืองและ สว. ที่เลือกมา แม้ว่าเป็นวิธีการที่ได้มาซึ่งอาจจะมีคำถามเยอะแยะ แต่ก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ละเลยที่สุด ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนตัวเองใหม่

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนศรีสองรักษ์ ได้สะท้อนความคิดของรัฐบาลว่าไม่รับฟัง ไม่สนใจสิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงกังวล นอกจากนี้ การอนุมัติโครงการก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากมายนอกจากเอาน้ำโขงมาแล้วอีสานจะรวย เป็นผลดี ซึ่งเป็นเหตุผลที่ง่ายเกินไป โดยไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าปริมาณน้ำโขงจะมีเพียงพอหรือไม่ เพราะตอนนี้ทั้ง ๆ ที่เป็นฤดูฝน ปริมาณน้ำโขงก็ยังน้อยอยู่เลย

“พื้นที่ผันน้ำโครงการ โขง เลย ชี มูน ต้องสร้างคลองผันน้ำที่ใหม่ ซึ่งโครงการเขื่อนศรีสองรักษ์เป็นส่วนเดียวกันนั้น คลองผันน้ำที่จะเกิดขึ้นตามมาจากโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน โดยทำรายงาน อีไอเอ ผ่านไปแล้ว พบว่ามีความกว้าง 200-300 เมตร ความยาวรวมแล้วประมาณ 2,000 กิโลเมตร ถามว่าผ่านที่นาใครบ้าง ประชาชนทั้งหมดรู้หรือไม่ว่าโครงการนี้ผ่านที่นา หรือ ที่ดินของตัวเอง ซึ่งที่ดินบางคนอาจจะหายไปหมดเลยก็ได้ แล้วยังมีทางแยก ทางเชื่อมระหว่างแม่น้ำสายเดิม ลำห้วยสายเดิม ที่จะต้องเชื่อมกับระบบนิเวศเก่าของลำห้วยสายต่างๆ พอมาเจอจุดตัดแบบนี้จะทำอย่างไร เปรียบเทียบเหมือนทางหลวงมอเตอร์เวย์ผ่านถนนย่อยสายต่างๆ จะทำอย่างไร จะข้ามไปอีกฝั่งอย่างไร คือ มันเต็มไปด้วยคำถามมากมาย ซึ่งสะท้อนภาพของการล้มเหลวของการมีส่วนร่วมของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบอย่างมาก แต่ว่าไม่ได้ใส่ใจความคิดเห็นของประชาชนเลย” นายสันติภาพ กล่าว

ด้าน ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการเขื่อนศรีสองรักษ์ เป็นโครงการที่ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และที่ผ่านมาชาวบ้านก็ยืนยันและเรียกร้องการมีส่วนร่วม ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาจะได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่ส่งผลกระทบเพียงเฉพาะคนรุ่นนี้ แต่เป็นผลกระทบต่อไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลานด้วย เมื่อทรัพยากรถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป

ในฐานะที่เป็นทีมดูแลโครงการวิจัยท้องถิ่นในพื้นที่ เราก็เห็นว่าชาวบ้านมีความสัมพันธ์กับแม่น้ำเลยอย่างไร คือ ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหาร และแม่น้ำเลยยังมีความหมายเชิงพิธีกรรมต่างๆ ต่อชาวบ้าน ซึ่งมุมมองต่อแม่น้ำเลยแบบนี้แตกต่างจากกรมชลประทานเป็นอย่างมาก เพราะกรมชลประทานมองแม่น้ำเป็นแค่พื้นที่ที่จะสามารถเก็บกักหรือปล่อยน้ำเมื่อไหร่ก็ได้ โดยใช้เหตุผลการป้องกันน้ำท่วม ภัยแล้ง และเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว แต่ในชีวิตของชาวบ้าน น้ำต้องไหลเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่มีอะไรไปปิดกั้นหรือเปิดน้ำทำให้การไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะเมื่อการไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเกิดผลกระทบอะไรขึ้นมา คำถามคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน”

“ระยะหลังชาวบ้านบอกว่ามีการเข้ามาบินโดรน เข้ามาดูพื้นที่ของชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาข้อมูลนี้ไปทำอะไร ดังนั้น ก็เป็นเรื่องปกติหรือเป็นวิสัยของมนุษย์ที่จะต้องปกป้องที่อยู่อาศัย ที่อยู่ทำกินของตัวเอง คิดง่ายๆ เราอยู่ที่บ้านเฉยๆ แล้วมีคนมาบินโดรนซึ่งไม่รู้ว่าเขาบินไปเพื่ออะไร เราก็ต้องลุกขึ้นมาเพื่อที่จะตั้งคำถามว่าบินโดรนไปทำอะไร และชาวบ้านมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใส” ดร. มาลี กล่าว


On Key

Related Posts

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →