Search

สายน้ำอูแห่งเมืองงอย

2

แม่น้ำอูเมื่อแรกเห็นของฉันเป็นช่วงต้นๆสายน้ำซึ่งไหลผ่านเมืองยอดอูใต้ แขวงพงสาลี แม่น้ำอูไหลลงมาจากต้นน้ำตรงรอยต่อพรมแดนจีนลาว ผ่านเมืองยอดอูเหนือ ยอดอูใต้และอีกหลายเมืองก่อนที่จะไหลลงมาพบแม่น้ำโขงที่เมืองปากอู แขวงหลวงพระบาง แม่น้ำอูมีความยาว 448 กิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำสาขาสายสำคัญสายหนึ่งของลุ่มน้ำโขง

 

ฉันได้เห็นแม่น้ำอูที่เมืองยอดอูใต้ในฤดูแล้ง น้ำอูค่อนข้างแห้งแต่ใสจนแลเห็นกรวดหินเม็ดทรายใต้ผืนน้ำ ลำพังแม่น้ำอูก็ไม่น่าตื่นตะลึงสักเท่าใด แต่เมื่อรวมเอาองค์ประกอบของทิวเขา บ้านเรือน และผู้คนเข้าไปด้วย ฉันก็หลงเสน่ห์เมืองยอดอูใต้และแม่น้ำอูเอาง่ายๆ

 

ครั้นทีมสื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆ  เกริ่นกล่าวชักชวนลงพื้นที่เมืองงอยอันมีน้ำอูไหลผ่าน ฉันหรือจะปฏิเสธ มีแต่รีบรับคำเป็นพัลวันด้วยเกรงเขาจะเปลี่ยนใจ

 

เมืองงอยอยู่ในแขวงหลวงพระบาง เป็นเมืองเล็กๆริมฝั่งแม่น้ำอู เส้นทางบนบกที่ทอดเข้าถึงเมืองงอยยังไม่สะดวกสบายนัก การสัญจรทางน้ำจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนที่จะเดินทางมาเมืองงอย ถ้าตั้งต้นจากหลวงพระบางก็ต่อรถไปหนองเขียว เมืองริมฝั่งน้ำอูที่น่าแวะพักอีกเมืองหนึ่ง จากนั้นจึงโดยสารเรือล่องน้ำอูขึ้นไปเมืองงอย เพียงแค่เส้นทางล่องเรือจากหนองเขียวก็แสนเพลิดเพลินด้วยทิวทัศน์ริมฝั่งน้ำ

 

ฤดูน้ำหลากที่สายน้ำชะตะกอนลงมาจากต้นทาง ทำให้แม่น้ำยามนี้ขุ่นเป็นสีปูนไม่ใสอย่างที่ฉันเคยเห็น ผู้ร่วมทางที่เคยมาเมืองงอยเมื่อหลายปีก่อนบอกว่าในหน้าหนาวราวปลายปี แม่น้ำอูจะใสจนเห็นกรวดหินใต้น้ำ น่าลงแหวกว่ายเป็นยิ่งนัก กระนั้นแม้น้ำอูยามนี้จะขุ่นแดงข้นเข้มก็งดงามไปอีกแบบ สีที่ตัดกับเรือ ท้องฟ้าและทิวเขา

 

เมืองงอยที่เราพักนั้นเป็นเมืองเก่าแก่ของลำน้ำอูตอนกลาง ขึ้นอยู่กับแขวงหลวงพระบาง เคยเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง แต่ถูกถล่มในสมัยสงครามอินโดจีนโดยฝีมือของทหารอเมริกัน จนบ้านเรือนเสียหายยับเยิน สมัยนั้นชาวบ้านต้องพากันเข้าไปหลบภัยสงครามอยู่ในถ้ำกาง เมืองงอยยุคนั้นจึงเหมือนกับหยุดการเติบโตไปพักใหญ่

 

ต่อมามีการตัดถนนจากหลวงพระบางเลียบฝั่งน้ำอูและสร้างสะพานข้ามฝั่งขึ้นที่หนองเขียว เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมลาวเหนือ ความเจริญต่างๆจึงตกมาอยู่ที่หนองเขียว ผู้คนที่เมืองงอยส่วนหนึ่งก็โยกย้ายกันมาปักหลักที่หนองเขียว

 

หนองเขียวกับเมืองงอยร่วมสายน้ำเดียวกัน ทิวเทือกเขาเคลียหมอกสองฝั่งก็ไม่ต่างกันนัก รวมไปถึงวิถีของชาวแม่น้ำที่เชี่ยวชาญการล่องเรือและจับสัตว์น้ำ ผิดกันแต่ว่าหนองเขียวมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าและเดินทางง่ายกว่า ทุกวันนี้เมืองงอยกับหนองเขียวต่างเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ผู้นำทางในกลุ่มของพวกเราเคยมาทำงานพัฒนาร่วมกับนักพัฒนาของลาว มาก่อตั้งกลุ่มท้อนเงินหรือกลุ่มออมทรัพย์ที่เมืองงอย จึงคุ้นเคยกับชาวบ้านเป็นอย่างดี นับเป็นความโชคดีที่ทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นนักท่องเที่ยวเท่าใดนัก ได้พูดคุยกันเองแบบชาวบ้าน ได้ร่ายฟ้อนม่วนซื่น และได้ลิ้มรสกุ้งเมืองงอยสดๆ

 

1กินกุ้งแม่น้ำมาก็มากหลากหลายที่ แต่ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่ากุ้งเมืองงอยเนื้อหวานมันโดดเด่นกว่าที่ใด ทำเป็นกุ้งแช่น้ำปลาก็ไร้ซึ่งกลิ่นคาว แต่ที่ประทับใจมากที่สุดต้องกุ้งสูตรเฉพาะของเมืองงอยเลือกกุ้งตัวเขื่องสักหน่อยมาผ่าหลังยัดเครื่องเทศตำละเอียดลงไปพันด้วยใบข่า เรียงเป็นตับแล้วย่างไฟอ่อนๆ หวานหอมอร่อยเคี้ยวแต่ละคำราวสวรรค์รำไรอยู่ในอุ้งปาก กระทั่งคนที่มาจากเชียงของ จังหวัดเชียงราย ยังบอกว่ากุ้งแม่น้ำโขงก็ยังสู้ไม่ได้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะภูเขาหินปูนที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำอู เป็นแหล่งอาหารให้กุ้งเมืองงอยมีรสชาติที่แตกต่างจากกุ้งที่อื่น

 

ในสายน้ำอูเขตเมืองงอยมีแหล่งกุ้งอยู่หลายแห่งเรียกว่าบ่อกุ้ง เป็นบ่อกุ้งที่เกิดตามธรรมชาติในจุดที่มีน้ำตกไหลลงมาสู่น้ำอู น้ำตรงบ่อกุ้งจะใสอยู่ตลอดเวลาแม้ในช่วงที่น้ำอูขุ่นแดง คนหากุ้งจะใช้ไม้ไผ่กั้นทางน้ำแล้วใช้ใบไม้อุดรูทางเข้าออกของกุ้ง จากนั้นวางเครื่องมือดักกุ้งเอาไว้ แต่ละบ่อจะเปิดให้ชาวบ้านสัมปทานจับกุ้ง ราคามากน้อยขึ้นกับปริมาณกุ้งที่ได้ บ่อที่พวกเราได้ไปดูการจับกุ้งเป็นบ่อใหญ่ได้กุ้งมาก ราคาสัมปทานต่อปีตกประมาณ 4,700,000 กีบ อีกบ่อหนึ่งเรียกว่าบ่อผาช้างขนาดย่อมลงมาได้กุ้งน้อยกว่า ราคาสัมปทานอยู่ที่ 4,400,000 กีบ

 

กุ้งแม่น้ำอูหาได้ปริมาณมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ประมาณมิถุนายนถึงสิงหาคมเป็นช่วงที่จับกุ้งได้มากที่สุด บางวันได้ถึง 50 กิโลกรัม เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและรายได้อย่างสำคัญของคนเมืองงอยเลยทีเดียว ทางการลาวเคยมีโครงการจะขายสัมปทานบ่อกุ้งให้กับเอกชนแต่ชาวบ้านคัดค้าน บ่อกุ้งจึงยังเป็นแหล่งทรัพยากรให้ชาวบ้านเมืองงอยจนถึงวันนี้

 

แม่น้ำอูบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผู้คนสองฟากฝั่งมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ยาวนานปานใดสุดที่ใครจะหยั่งรู้ เป็นแหล่งอาหาร รายได้ เป็นเส้นทางสัญจรให้ผู้คนติดต่อแลกเปลี่ยนซื้อขายและเทียวหากัน ทุกวันนี้ลำน้ำอูยังแปรค่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นำรายได้มากมายมาเข้ากระเป๋าชาวบ้านดังนั้นจึงถือเป็นทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่หาซื้อไม่ได้ ไม่มีวันหมดสิ้นถ้ารู้จักใช้สอย

 

แต่น่าเสียดายแทนชาวลาวเป็นอย่างยิ่งที่สายน้ำอูได้กลายเป็นสมบัติของจีน หลังบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน ไซโนไฮโดร Sinohydro เข้ามาซื้อสัมปทาน โดยมีโครงการสร้างเขื่อน หรือ “ไฟฟ้าพลังน้ำตก” แบบขั้นบันไดทั้งหมด 7 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1146 เมกกะวัตต์ งบสร้างเขื่อน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน China Development Bank วางแผนการก่อสร้างไว้ 10 ปี มีพิธีเปิดเฟสแรกอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2555

 

ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อเขื่อนทั้ง 7 ถูกสร้างขึ้นในแม่น้ำอู เบื้องแรกมีข้อมูลจากการศึกษาคาดว่าจะทำให้น้ำท่วมตามความยาวของลำน้ำประมาณ 350 กิโลเมตร จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อหมู่บ้านในพื้นที่ทั้งหมด 89 หมู่บ้าน

แม้ชาวบ้านตลอดสายน้ำอูจะยังใช้สอยแม่น้ำได้เช่นเดิม ทว่าผลกระทบที่จะตามมาเป็นระลอกนั้นไม่น่าจะสวยงามนักสำหรับผู้คนที่พึ่งพิงแม่น้ำอูมาหลายชั่วคน

………………………………………..

โดย จิตติมา ผลเสวก
ดินน้ำป่า ข้าวปลาอาหาร
นิตยสาร เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับ 1 ต.ค.2556

 

 

 

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →