โดย เพียรพร ดีเทศน์
กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวม จากลุ่มสาละวิน สู่เขื่อนภูมิพล หรือชื่อทางการว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับบีบีซีไทย ว่า บริษัท ต้าถัง ทุนรัฐวิสาหกิจจีน สนใจเข้ามาลงทุน ( https://www.bbc.com/thai/thailand-51887830 ) ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์ส่งให้กับรัฐบาลไทย และว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบโครงการนี้แล้ว
โครงการมูลค่า 7 หมื่นล้านถูกผลักดันท่ามกลางคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ นักอนุรักษ์ และภาคประชาชน
หนึ่งในคำถามหลัก เกี่ยวข้องกับการเข้ามาของตัวละครใหม่ คือ บริษัทจีน
ที่ว่าบริษัทจีนจะมาสร้างเขื่อนน้ำยวมและอุโมงค์ผันน้ำให้ “ฟรีๆ” แล้วเก็บค่าน้ำ และขอสิทธิในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน ใกล้พรมแดนไทยพม่านั้นจะเป็นอย่างไร เงื่อนไขคืออะไร
เกิดความสงสัยว่าใครกันแน่ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการผลักดันโครงการที่ลุ่มน้ำสาละวิน?
ขณะที่ลุ่มน้ำโขง เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เคยมีประสบการณ์กับบริษัทที่บริษัทต้าถัง ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง Pak Beng hydropower project ที่จะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ในแขวงอุดมไซ ภาคเหนือของลาว ห่างจากพรมแดนไทย ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ราว 97 กิโลเมตร
บริษัทต้าถัง เป็น 1 ใน 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนด้านพลังงาน มีโรงไฟฟ้าและเขื่อนในจีนโดยออกไปลงทุนในหลายประเทศ รวมทั้งในลาว
โครงการเขื่อนปากแบง ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางเนื่องจากผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2560 โดยกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ร้องศาลปกครอง สั่งเพิกถอนการรับฟังความคิดเห็น และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนปากแบง พร้อมให้ กฟผ.ชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจนกว่าจะมั่นใจโครงการไม่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน
ในเวลาต่อมากลุ่มรักษ์เชียงของ ได้รับการติดต่อจากผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานของบริษัทต้าถัง เข้าพบเพื่อหารือ และพยายามอธิบายเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อน จนนำมาสู่การประชุมร่วมกับบริษัทต้าถัง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ที่โฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทต้าถัง บินมาจากปักกิ่ง และมาถึงที่ประชุมพร้อมกับแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบาลลาวมาด้วย 7 รายเข้าร่วมด้วย โดยไม่มีใครทราบมาก่อน เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวรายหนึ่งคือ ท่านจันแสวง บุนนอง อธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ลาว และมีที่ปรึกษา Norconsult ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลโครงการ และอธิบดีลาวเป็นผู้ตอบคำถามแทบทั้งหมด
ในการประชุมดังกล่าว เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้มีแถลงการณ์ว่า ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงทั้งลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงทางตอนบนในจีน 11 แห่ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมาตลอด 2 ทศวรรษ มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการพัฒนา และหาทางเลือกพลังงานให้แก่ภูมิภาคโดยไม่ทำลายทรัพยากรของคนรุ่นต่อไป และยืนยันว่าการเจรจาครั้งนี้ไม่ใช่การยินยอมใดๆ โดยเห็นว่าจำเป็นต้องเอาความรู้ การเก็บข้อมูล วิจัย นำมาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งกรณีของเขื่อนปากแบงนั้นพบว่าการศึกษาที่ใช้อ้างอิงใน EIA เป็นข้อมูลเก่า บางชิ้นเก่ากว่า15 ปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการประชุม “Technical Consultation Meeting” ระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและผู้แทนบริษัทต้าถัง เพื่อรับฟังและชี้แจงข้อมูลในโครงการเขื่อนปากแบง
ในการประชุมครั้งที่สองนี้ ฝ่ายของบริษัทต้าถังได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วม 11 คน นำโดยนายวูเตา ผู้บริหารบริษัทต้าถัง สาขาในลาว นอกจากนี้ยังมีผู้ประสานงานฝ่ายไทยนำโดยพล.ต.ต.ณัฐกณฑ์ การปลูก ที่ปรึกษาบริษัทอัลติมาและคณะ และบริษัทต้าถังยังได้เชิญอธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว เข้าร่วมด้วยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามต่อมามีรายงานข่าวว่าทางการลาว ชะลอโครงการเขื่อนปากแบง และยังไม่มีความคืบหน้าจนปัจจุบัน ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือแจ้งว่ายังไม่มีแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงในลาว 4 โครงการ คือ ปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง และสานะคาม (โครงการเขื่อนสานะคาม เป็นสิทธิการพัฒนาของบริษัทต้าถัง เช่นเดียวกัน)
เมื่อเชื่อมโยงกับคำอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ได้พูดถึงมูลนิธิป่ารอยต่อฯ และการบริจาคเงินของบริษัทเอกชนต่างๆ รายงานข่าวระบุถึงบริษัทต้าถัง โอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เมนต์ ที่บริจาคเงินให้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อปี 2561 โดยเป็นการบริจาคร่วมกับบริษัทอัลติมา เพาเวอร์ คอนซัลทิง ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ซึ่งเป็นคนคนเดียวกับ พล.อ.ประวิตรที่เป็นประธาน กก.วล. และเป็นคนคนเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอช.)
แผนงานในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินในพม่า และบริเวณชายแดนไทย-พม่า มี 7 โครงการ โดย 1 ในนั้น คือโครงการเขื่อนยวาติ๊ด Ywatith dam project ตั้งอยู่ในรัฐคะเรนนี ห่างจากชายแดนไทย ที่อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ราว 45 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจุดที่แม่น้ำปายบรรจบแม่น้ำสาละวินเพียงไม่กี่กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้ เป็นโครงการของบริษัทต้าถัง ซึ่งลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 เว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าเขื่อนมีกำลังผลิตติดตั้งสูงถึง 4,500 เมกะวัตต์
อีกโครงการเขื่อนที่คาดว่าจะอยู่ในดีลนี้ด้วย คือโครงการเขื่อนฮัตจี ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยง (พื้นที่อิทธิพลของกองพลที่ 5 กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU) ห่างจากพรมแดนไทยที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ราว 47 กิโลเมตร เป็นโครงการที่ผลักดันโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีรายงานออกมาเป็นระยะๆ ว่าอาจร่วมทุนกับบริษัทจีน และเขื่อนตัวนี้นี่เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองทัพพม่าบุกโจมตีทหารกะเหรี่ยง KNU อย่างหนักเพราะต้องการยึดพื้นที่หัวงานเขื่อนซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของ KNU
ทั้งสองโครงการนี้ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มชาติพันธุ์มายาวนาน
การผลักดันโครงการผันน้ำยวมเป็นเพียงเฟสแรกของโครงการ ส่วนเฟส2 มีแผนผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินตามมา เมื่อปะติดปะต่อภาพต่างๆ ทำให้เห็นถูกความร่วมมือกันของนักการเมืองที่กุมอำนาจการบริหารประเทศของไทยกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากจีน โดยมีกลไกราชการเป็นเครื่องมือ
ป่าไม้ แม่น้ำ ชุมชนและแหล่งธรรมชาติอันหลากหลาย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ “เสี่ยง”เป็นอย่างยิ่ง ถ้าสังคมไทยไม่ร่วมกันลุกขึ้นมาปกป้อง