ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า
วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การแก้ปัญหาน้ำ สำคัญที่การตั้งโจทย์ โดยโจทย์ที่ดีมาจากผู้ตั้งโจทย์ที่นอกจากจะรู้ปัญหา เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาแล้ว ยังต้องเข้าใจบริบทแวดล้อม กรอบ ข้อจำกัด ตลอดจนตัวละครหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ ด้วย ผู้ตั้งโจทย์จึงต้องเปิดหูเปิดตาใจ เปิดโลก(ทัศน์) และไม่มีอคติซึ่งอาจนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘การตั้งธง’
ถ้ามองด้วยสายตาที่เป็นกลาง ไม่มีอคติ ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านน้ำ ได้คิด ได้ทำ ได้สร้าง และทำให้เกิดโครงการดีๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาด้านน้ำให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศมากมาย ทั้งโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เพื่อสนับสนุนการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร การเร่งสร้างอ่างขนาดเล็กในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ การก่อสร้างทางน้ำ ประตูน้ำ และโครงสร้างต่างๆ เพื่อการบังคับน้ำ ไม่เว้นแม้แต่การก่อสร้างกำแพงกันน้ำท่วมหรือกำแพงป้องกันตลิ่ง เหล่านี้ ล้วนเป็นทางเลือก ที่หน่วยงานได้ ‘เลือก’ จากหลากหลายแนวทางเท่าที่จะคิดกันขึ้นมาได้
อย่างไรก็ดี ด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประชากรที่เพิ่มขึ้น ทรัพยากรที่มีน้อยลง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลถึงความไม่แน่นอนและนำมาซึ่งภัยพิบัติที่ยากจะคาดการณ์ ทำให้ทางที่เคยเลือกเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำแบบเดิมๆ อาจไม่เหมาะสมและอาจทำไม่ได้อีกแล้ว4
แท้จริงแล้ว การแก้ปัญหาที่เกิดจากความไม่สมดุลย์ของน้ำนั้นมีหลายแนวทาง จะจัดการด้านอุปทาน (supply side management) หรือจัดการด้านอุปสงค์ (demand side management) ก็ล้วนมีหลากวิธีที่เลือกได้ ดังตัวอย่างในหลายประเทศที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำและภัยพิบัติด้านน้ำอย่างจริงจัง เพราะหมายถึงชีวิตและความอยู่รอดปลอดภัย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละปีเผชิญกับไต้ฝุ่น น้ำหลาก น้ำท่วม ไปจนถึงความเสี่ยงของการเกิดสึนามิ จึงต้องมีทั้งมาตรการด้านโครงสร้าง ควบคู่กับการเฝ้าระวัง เตือนภัย ไปถึงขั้นที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่
ตัวอย่างประเทศที่ขาดแคลนน้ำจืดอย่างสิงคโปร์ ซึ่งความเสี่ยงด้านน้ำรุนแรงเกี่ยวข้องไปถึงระดับความมั่นคงของประเทศ และอิสราเอล ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่แห้งแล้งแห่งหนึ่งของโลก ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของฝน แต่ด้วยข้อจำกัดรุนแรงด้านทรัพยากรนี่เอง ที่ผลักดันให้ประเทศเหล่านี้ต้องทุ่มเท ทั้งกำลังสมอง และงบประมาณ เพื่อแสวงหาเทคโนโลยี วิทยาการที่เหมาะสม ในการคลายปมปัญหา นำพาประชาชนให้ใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย
สำหรับประเทศไทยเรานั้น ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม ความถี่ของเกิดภัยพิบัติน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่เคยต้องอพยพย้ายคนทั้งเมืองไปอยู่ศูนย์พักพิง เราไม่เคยขาดแคลนน้ำจืดถึงขั้นที่ต้องนับถอยหลัง นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราไม่ทุ่มเทจริงจังในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติด้านน้ำ
ในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดเหตุมหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อปี 2554 ดูเหมือนว่า ประเทศไทยได้ทุ่มเทงบประมาณในการป้องกันน้ำท่วมและเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำมากขึ้น ปีละหลายหมื่นล้านบาท เราจึงได้เห็นกำแพงป้องกันน้ำท่วมขนาบแนวตลิ่งของแม่น้ำหลายสาย ที่กลายเป็นปัญหาต่อการระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนหลายแห่ง เราเห็นการถมถนนที่สูงขึ้น จนทำให้ชุมชนกลายเป็นแก้มลิงธรรมชาติไปโดยอัตโนมัติ และเมื่อฝนตกมีน้ำขังระบายไม่ทันอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่ไร้การควบคุม เราก็เพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำแบบไม่จำกัดเพื่อเร่งระบายน้ำออกไปให้ไวที่สุด จนแทบจะลืมไปเลยว่าเคยแล้ง และแล้งกันทุกปีเมื่อหมดหน้าฝน
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรราว 66 ล้านคน มีพื้นที่ป่าลดลงเหลือประมาณร้อยละ 32 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีพื้นที่เกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 46 โดยเป็นพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานเพียง 32 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 117 ล้านไร่ หรือเกือบร้อยละ 80 ของพื้นที่เกษตรนั้น อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จากตัวเลขพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ความต้องการทางอาหารที่สูงขึ้น ตัวเลขการผลิตทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ความต้องการน้ำที่มากขึ้นพร้อมๆ กับความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น
ในขณะที่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แทบจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ทั้งในแง่ของการสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนเจ้าของผืนดินที่อยู่และที่ทำกิน และในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า และความสมดุลทางระบบนิเวศน์
โครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลางที่หน่วยงานรัฐเคยคิดและได้มีการวางแผนไว้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้วกลายเป็นโครงการที่อยู่บนข้อมูลที่ล้าหลัง ไม่เป็นปัจจุบัน การหยิบโครงการเดิมๆ ในตะกร้ามาปัดฝุ่นแล้วคิดสร้างโดยไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงสามารถสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในโลกที่ทุกข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อถึงกันได้เพียงปลายนิ้วโดยไร้ขีดจำกัด การใช้งบประมาณที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม ตามลำดับความสำคัญของพื้นที่และความรุนแรงของปัญหา สร้างความเคลือบแคลงในแง่ความโปร่งใส ทั้งในระดับนโยบายและระดับผู้ปฏิบัติ
ตลอดจนความคลุมเครือของการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องที่แม้ยากในการพิสูจน์ แต่สิ่งที่ประจักษ์คือ ความเดือดร้อนเรื่องน้ำไม่เคยลดลง พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ยังคงท่วมซ้ำซาก และจะซ้ำซากต่อไปในอนาคต ในทำนองเดียวกับพื้นที่น้ำแล้งซ้ำซาก ก็ยังคงแล้งซ้ำซากจำเจมาตลอด 5 ปี 10 ปี ไม่มีการถอดความซ้ำซากที่ว่านี้ออกไปจากแผนที่ไหนเลย ทั้งที่กรอบงบประมาณเรื่องน้ำในแต่ละปีของประเทศที่ลงไปที่ตะกร้าของหน่วยงานรัฐทั้งหลายก็ไม่เคยลดลงเลยเช่นกัน
หน่วยงานรัฐตั้งแต่ระดับนโยบายลงไปถึงระดับปฏิบัติหารือ-กำหนดแนวทางภายใต้ “หลักวิชาการ” จะเปิดตำราเล่มไหน ก็หลักการเดียวกัน คือ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา แล้วแก้ตามความเร่งด่วนรุนแรง จะด้วยมาตรการโครงสร้าง หรือ ไม่ใช้โครงสร้างก็แล้วแต่ลักษณะและบริบทของปัญหา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้คลี่คลาย ในขณะที่การดำเนินการระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางน้ำก็ต้องศึกษาและดำเนินการควบคู่กันไป โดยไม่สร้างความขัดแย้งแก่สังคม ไม่ย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไม่แก้ปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งด้วยการสร้างปัญหาให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เหล่านี้เป็นต้น หลักการเหล่านี้ เราพูดกันอย่างกว้างขวางมาช้านาน แต่เหตุใดจึงยังมีคำถามของการ “นำหลักวิชาการสู่การปฏิบัติ” จนถึงทุกวันนี้? หรือเราพูดอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ?
ถึงเวลาแล้ว ที่ผู้บริหารต้องปรับเปลี่ยน mindset ในการแก้ปัญหาด้านน้ำ มองภาพใหญ่ของลุ่มน้ำให้ออก มองความเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำอย่างเข้าใจ มองความเป็นน้ำอย่างเป็นบ่อเกิดของธรรมชาติและชีวิต เพื่อนำพาให้สู่ความมั่นคงและความยั่งยืนของทรัพยากร
ประเทศไทยนั้นมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านน้ำและทรัพยากรมากมาย ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและไม่ได้อยู่ในภาครัฐ เราไม่ขาดแคลนเรื่องทรัพยากรบุคคลที่จะมาร่วมคิดร่วมทำ แต่ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับนโยบายต้องจริงจังและจริงใจ สร้างกลไกที่เอื้ออำนวยให้เกิดการร่วมคิดร่วมสร้างร่วมแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ส่วนการจะเลือกวิธีไหนต้องพิจารณาให้ครบถ้วนหลายแง่มุม ต้องประเมินข้อดี / ข้อเสีย ให้รอบด้าน ทั้งเรื่องน้ำที่จะได้ เรื่องทรัพยากรที่จะเอาไปแลก เรื่องงบประมาณที่มี เรื่องคนที่ได้รับผลกระทบในทางลบ หมดยุคสมัยแล้วกับการบอกให้ใครบางคนบางกลุ่ม ‘เสียสละ’ เพื่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดดูว่า หากผู้ที่ต้อง‘เสีย’คือตัวเราและครอบครัวของเรา เราจะยอมเสีย ยอมสละอะไรได้ไหม?
ทรัพยากรต่างๆ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การจะแลกป่าเพื่อให้ได้ที่เก็บน้ำ การจะเอาปลา เอานิเวศน์ในลุ่มน้ำหนึ่ง ไปแลกกับน้ำให้อีกลุ่มน้ำหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดพิจารณาให้หนัก เพราะนิเวศน์เชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ใช่คณิตศาสตร์ที่ 1+1 =2 หรือ การลบออกไป 1 ด้านซ้าย จะได้ 1 คืนมาทางด้านขวาของสมการ แต่การสูญเสีย 1 อาจนำมาซึ่งการสูญเสียอีก 10 ยกกำลัง 3หรือยกกำลัง 4ในเรื่องที่ยังประเมินไม่ได้ อย่าประมาทธรรมชาติ เพราะทุกวันนี้หายนะและภัยพิบัติหลายอย่างที่รุนแรงขึ้นมีสาเหตุหนึ่งจากการที่มนุษย์เราประมาทกับการทำลายธรรมชาติ
เวลาพูดถึงน้ำและแก้ปัญหาน้ำ อย่าเอาแค่เครื่องคิดเลขมาบวกลบคูณหาร แต่ให้เอา ‘ใจ’ เอา ‘ธรรมมะ’ มาเป็นเครื่องมือพิจารณา มาเกื้อกูลกัน จึงจะแก้ปัญหาไปด้วยกันได้