Search

จี้ประยุทธ์-ประวิตรเร่งเดินหน้านำร่องธนาคารที่ดิน 30 วันไม่คืบเตรียมบุกทำเนียบ

 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ประมาณ 200 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อขอให้เดินหน้าดำเนินการพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 และให้ บจธ. มีนวัตกรรมใหม่ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมภายหลังการจัดตั้งเมื่อปี 2558

หนังสือระบุว่า การดำเนินการของ บจธ. ในระยะแรกได้ดำเนินการเพื่อจัดซื้อที่ดินให้กับเกษตรกรภายใต้โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 ชุมชนที่มีข้อพิพาท แต่เนื่องจากช่วงเดือนมกราคม 2559 ได้เกิดปัญหาเนื่องจาก บจธ. พยายามนำพื้นที่นำร่องเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อ และได้สรุปผ่านเวทีประชุมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน อ้างว่าชุมชนได้ยกเลิกแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554  ซึ่งเป็นแนวทางหลักสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะทำให้พื้นที่นำร่องสามารถเข้าสู่กระบวนการเช่าซื้อได้ จนเกิดการตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชนขึ้น เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนโดยได้ข้อสรุปให้หาแนวทางในการสร้างนวัตกรรมในการจัดการที่ดินให้กับพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน

“นวัตกรรมการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าวเป็นรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างรัฐและองค์กรชุมชน เพื่อลดภาระการเช่าซื้อให้กับเกษตรกรและพัฒนาสร้างนวัตกรรมการจัดการที่ดินที่ยั่งยืน ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าตามแนวทางที่ได้เสนอ เสมือนไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่อเกษตรกร ทั้งการยกเลิกมติ คณะรัฐมนตรี 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 และผลักดันแนวทางโครงการนำร่องในการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมหรือโฉนดชุมชน ยังไม่มีความคืบหน้า กลับเป็นการเตะถ่วงปัญหาไม่มีอนาคต ทำลายความหวังการปฏิรูปที่ดินให้แก่ชุมชนในพื้นที่โครงการนำร่อง” หนังสือระบุ

นายดิเรก กองเงิน เกษตรกรจากพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดินบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เดิมเมื่อปี 2554 มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย หรือ คปท. เพื่อเรียกร้องแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ได้แก่ ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน และกองทุนยุติธรรม โดยหวังใช้กลไกการเก็บภาษีเพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินมากต้องกระจายที่ดินออกมาให้ธนาคารที่ดินซื้อ แล้วนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายย่อยใช้ประโยชน์ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมแบบโฉนดชุมชน เกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 และเกิดเป็น บจธ. เมื่อปี 2558 แต่ปัจจุบันกลับไม่ตอบสนองเจตนารมณ์เดิมของประชาชน

“บจธ. ซื้อที่ดินจากนายทุน แล้วกลับมาให้ชาวบ้านซื้อต่อในราคาที่ไม่ยุติธรรม มีกรอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับมากมายที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ กำหนดระยะเวลาการผ่อนคืน เป็นปัญหาภาระหนักของชาวบ้านที่จะสืบทอดที่ดินไปถึงลูกหลานที่จะไม่สามารถผ่อนเงินคืนได้แน่ๆ เพราะราคาสูงมาก ราคาที่ดินตามมติ ครม. เดิมเป็นการประเมินจากกรมธนารักษ์ แต่ปัจจุบันเป็นการเสนอขายตามราคาตลาด เกิดเป็นปัญหาภาระหนี้สินที่สูงเกินความจำเป็น ทั้งที่เราเป็นผู้ใช้ที่ดิน รักษาที่ดินอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” นายดิเรก กล่าว และว่าเราติดตามการดำเนินการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน อย่างใกล้ชิด และขอทราบคำตอบที่ชัดเจน ถ้ายังไม่มีแนวทางและคำตอบอย่างชัดเจน ภายใน 30 วัน เราในนามขบวนการปฏิรูปที่ดิน จะยกระดับการเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินตามโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ไปยังส่วนกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังคำตอบด้วยตนเอง

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →