
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ชาวบ้านห้วยน้ำหินร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดน่านประมาณ 250 คน เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดน่าน เพื่อขอพบผู้ว่าราชการจังหวัด หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาคดีความที่ภาคนโยบายมีมติให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล โดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้ส่งผู้แทนมาพูดคุยกับชาวบ้าน หลังเจรจาประมาณ 3 ชั่วโมง ตัวแทนผู้ว่าฯ ให้ความมั่นใจว่าจะให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านให้ถึงที่สุด แต่ไม่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่ชาวบ้านห้วยน้ำหินยืนยันจะกลับมาติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้
ทั้งนี้ กรณีทวงคืนผืนป่าที่ชุมชนบ้านห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและโครงการปลูกป่าทดแทนขนาด 7,820 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมชาวบ้านทั้งสิ้น 298 ราย อย่างไรก็ตามเมื่อคัดกรองตามเกณฑ์ผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 พบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์ 262 ราย จากการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ทำให้มีแนวนโยบายในการยุติคดีและเยียวยาผลกระทบด้วยการมีโครงการฟื้นฟูของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชาวบ้านสามารถกลับเข้าไปทำกินได้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ชาวบ้านห้วยน้ำหินจำนวน 255 คน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในปี 2558 เข้าร่วมประชุมกับนายอำเภอนาน้อย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรนาน้อย เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ปัญหาด้านคดีความ และได้รับการชี้แจงจากพนักงานอัยการจังหวัดน่านว่า ได้ส่งเรื่องกลับไปที่ สภ.นาน้อย ให้มีการแยกสำนวนคดีเป็น 255 สำนวน และต้องมีการสอบปากคำใหม่ จึงสร้างความกังวลใจให้ชาวบ้าน
นายปวรวิช คำหอม สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.น่าน กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับการประสานงานจากนายอำเภอเรื่องคดีของชาวบ้านนาน้อยว่า อัยการส่งหนังสือถึง สภ.นาน้อยให้มีการสอบคดีเพิ่ม แยกเป็นรายๆ แต่ข้อมูลก่อนหน้านั้น สภ.นาน้อยได้ส่งสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว ซึ่งเป็นการรวมสั่งเป็นสำนวนเดียว แต่พนักงานอัยการอ้างว่าในรูปคดีเป็นคดีรายบุคคล ส่งรวมเป็นสำนวนเดียวไม่ได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย จึงทำหนังสือถึง สภ.นาน้อย ให้ทำสำนวนเป็นรายๆ ก็ต้องมาเรียกพี่น้องไปสอบเป็นรายๆ ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว และทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาล่าช้า
“นายอำเภอเสนอว่าจะทำหนังสือถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เรียกอัยการและพี่น้องไปฟังความชัดเจนว่าหลังจากที่ สภ.นาน้อยส่งสำนวนไปให้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ เพื่อให้พี่น้องมั่นใจว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีส่วนพี่น้องเองก็ได้สรุปว่า การต่อสู้ที่ยาวนานนั้น คดีก็ยังไม่จบ กลับไปกลับมา พี่น้องต้องทำมาหากิน ถ้าวันนี้อัยการไม่ให้ความชัดเจนกับพี่น้องก็จะไม่กลับ แล้วจะขยับไปหาอัยการที่จังหวัดเพื่อทวงถามว่าทำไมไม่ดำเนินการเรื่องคดีให้มีความคืบหน้าตามแนวนโยบาย” นายปวรวิช กล่าว
นายปวรวิช กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 มีการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน ณ อาคารสำนักงาน ก.พ.(เดิม) โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นเป็นประธาน มีมติเห็นควรให้สั่งไม่ฟ้องคดีทวงคืนผืนป่าที่บ้านห้วยน้ำหิน ด้วยเหตุว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยพนักงานสอบสวน สภ.นาน้อย ก็ได้ทำสำนวนและมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการ จ.น่าน แล้ว ซึ่งผู้แทน สกน. จ.น่าน ก็ย้ำว่าพนักงานอัยการก็ควรเร่งสั่งไม่ฟ้องตามแนวนโยบายและความเห็นของ สภ.นาน้อย ไม่ใช่ยื้อเวลาการแก้ไขปัญหาให้ล่าช้า และจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน
นายสยาม มังกิตะ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เวียงสา ชี้แจงว่า ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมาได้สรุปเป็นที่เรียบร้อย ส่งฟ้องอัยการเรียบร้อย ทาง สภ. นาน้อยยังสงสัยว่าทำไมอัยการถึงตีกลับ อนุมานได้ว่าพนักงานอัยการให้ทำการแยกเป็นรายเพื่อที่จะทำการสรุปเป็นคดีรายย่อยเพื่อที่จะสั่งฟ้อง โดยตัวหนังสือระบุว่าศาลได้สั่งฟ้อง ตัวนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นระเบียบไม่สามารถสั่งฟ้องเป็นภาพรวม
ด้าน พตท.วิฑูร ชัยวุฒิ รองผู้กำกับ(สอบสวน) สภ.นาน้อย กล่าวว่า ที่บอกว่าตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาจับนั้นไม่ใช่ แต่ให้ชาวบ้านไปในฐานะพยานเพื่อทำการสอบถามที่ไปที่มาของ 255 ราย แล้วทางคณะพนักงานสอบสวนจะทำการพิจารณาตามกรอบทางกฎหมาย และมีความเห็นส่งไปถึงอัยการ ซึ่งบอกตรงๆ ว่าทางตำรวจไม่ได้กล่าวหาว่าทุกคนที่โดนคดีจะเป็นผู้ต้องหา