เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จัดเวทีรณรงค์ออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน “ร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ….” โดยมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศ และตัวแทนองค์กรภาคประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยน
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า ในแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ระบุว่าต้องมีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และในปี 2562 รัฐบาลประกาศนโยบายว่าจะต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ของรัฐบาลยังมีข้อจำกัดด้านสิทธิในหลายเรื่อง ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายได้ พี่น้องชาติพันธุ์จึงเห็นควรว่าต้องเสนอร่างกฎหมายของประชาชนเข้าไปประกอบการพิจารณา เพื่อเข้าไปต่อรองสิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ให้ได้รับการคุ้มครอง จึงนำมาสู่กระบวนการเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนอ ร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ…. ฉบับประชาชนในครั้งนี้
นายสุมิตรชัย กล่าวต่อว่า มีประเด็นสำคัญที่รัฐคัดค้าน คือ รัฐพยายามยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ในร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลมีความพยายามตัดคำนี้ออกจากกฎหมาย แต่ร่างกฎหมายของภาคประชาชนจะยืนยันสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และสอดคล้องกับหลักสิทธิในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การกำหนดตนเอง อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงการมีสิทธิมีสัญชาติไทย ความเสมอภาค และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ต้องบรรจุสิทธิเหล่านี้ในกฏหมาย และให้มีกลไกและมาตรการมาตรการมาคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากนี้ยังต้องมีสภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ เป็นกลกไกคู่ขนาดให้พี่น้องส่งตัวแทนเข้ามา สามารถเข้ามาถ่วงดุลอำนาจการทำงานของคณะกรรมการสภาพชาติพันธุ์ฯ
“ถ้าเราปล่อยให้ร่างกฎหมายของรัฐเข้าไปร่างเดียว เราจะไม่มีสิทธิไปต่อรองสิทธิของพี่น้อง เราจึงต้องการให้กฎหมายชาติพันธุ์ฉบับประชาชนเข้าสู่สภา และช่วยกันขับเคลื่อนต่อจากนี้ หากพลังพี่น้องมีมาก ส่งเสียงต่อสาธารณะมากพอ มีแรงสนับสนุน ทำให้กดดันนายกให้ผ่านกฎหมาย ไปร่วมพิจารณาร่วมกับร่างรัฐบาลได้ ก็จะนำให้เกิดกฎหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง” นายสุมิตรชัย กล่าว
นางอรวรรณ หาญทะเล เครือขายชาวเลอันดามัน กล่าวว่า ชุมชนชาวเลในอันดามันกำลังรวบรวมรายชื่อพี่น้องชาวเลเพื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่น ชุมชนหาดราไวย์ ชุมชนสะปำ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ชาวเลเกาะจำ ชาวเลเกาะลันตา ชาวเลเกาะเหลา ชุมชนทับตะวัน ชุมชนหินลาด คาดว่าจะสมารถรวบรวมได้มากกว่า 3 พันรายชื่อ
นางนารี วงศาชน ตัวแทนชาวเลเกาะจำ จ.กระบี่ กล่าวว่า พี่น้องชาวเลมีความวนใจร่างกฏหายฉบับนี้มาก โดยเฉพาะการให้สิทธิทำกินตามวิถีชาวเล และให้สิทธิในวิถีวัฒนธรรมตามความเชื่อของชาวเล ทำให้การร่วมลงชื่อในครั้งนี้มีความคึกคักมาก
ครูแสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า วันนี้ที่เกาะหลีเป๊ะมีพิธีกรรมสำคัญ พิธีฮารีบาลาย เป็นการบูชาบรรพบุรุษและธรามชาติเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าชาวเลมีวิถีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนต่อท้องทะเลที่มีวิญญาณบรรพบุรุษคุ้มครองอยู่ การผลักดันร่างกฎหมายในครั้งนี้เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตจ วิถีการทำพิธีกรรม และพื้นที่จิตวิญญาณของชาวเล ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการลงชื่อของพี่น้องได้เป็นจำนวนมาก
นายสมบัติ ชูมา เครือข่ายชุมชนภาคตะวันตก กล่าวว่า พี่น้องชาติพันธ์ุในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ลุ่มน้ำแม่จันทะ กำหนดนัดหมายในวันที่ 15 พ.ย. เพื่อระดมรายชื่อ 14 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ประกาศมรดกโลก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางอีก 7 หมู่บ้าน เพื่อเข้าชื่อสนับสนุนร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ฉบับประชาชน
นางเนาวนิตย์ แจ่มพิศ ผู้ประสานงานชาวเลเกาะเหลา จ.ระนอง กล่าวว่า ตอนนี้ชาวเลมอแกน ดีใจที่มีการยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ฝันของชาวบ้านคงไม่เกินเอื้อม หลังจากนี้ไปคิดว่าพี่น้องชาวเลจะมีที่อยู่ ที่ทำกินที่มั่นคงกว่าเดิม แต่ขอฝากว่าให้กฏหมายนี้ศักดสิทธิ์ อย่าให้เหมือนมติ ครม.ที่ผ่านมาที่ทำอะไรไม่ได้เลย
นายปาโท เวียงจอมทอง ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงจาก อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กล่าวว่า เห็นด้วยกับร่างพรบ.ฉบับนี้อย่างมาก คิดว่าชาวบ้านจะเข้าถึงสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิในที่ดินทำกินมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านมา มติ ครม.ยังไม่ใช่กฎหมายที่คุ้มครอง ตอนนี้พี่น้องถูกละเมิดสิทธิทุกอย่าง ทั้งจากกฎป่าสงวน พรบ.อุทยาน พรบ.ป่าชุมชน ถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมมือผลักดันให้ร่างพรบ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ เพื่อให้ได้สิทธิที่ถูกละเมิดไปกลับคืนมา
นายสุคิด ประดับภูทอง ตัวแทนชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ชุมชนเตรียมความพร้อมร่วมมือร่วมลงรายชื่อ นอกจากเครือข่ายเราแล้ว ยังมีเครือข่ายกะเหรี่ยงแบปติส ที่อยู่ในภาคเหนือ ที่ในวันที่ 15 นี้จะมีการประชุมและหารือกับการผลักดัน พรบ.นี้ด้วย
นายวัลลภ พันธุ์ดี ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่กำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ให้พี่น้องได้ร่วมกันผลักดันการคุ้มครองสิทธิที่อยู่ สิทธิความเป็นคนหรือความเป็นมนุษย์
ด้านนางสาวพรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชุมชนกะเหรี่ยงอมก๋อยพร้อมจะมีพลังช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะตอนนี้พี่น้องต้องเจอกับโครงการเหมืองแร่ โครงการอุโมงค์ผันน้ำ และโครงการสายส่งไฟฟ้าที่จะกระทบวิถีชุมชน ถ้าหากมี กฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิชุมชนก็เป็นเรื่องที่ดี
นายไพโรจน์ พนาไพรสกุล ในนามเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายในครั้งนี้ เพราะกฎหมายทุกอย่างมีอำนาจต่อรองและเกิดประโยชน์ สอดคล้องกับวิถีชีวิตเรา เกิดสมดุลกับธรรมชาติ ฟื้นฟูวิถีชีวิตของเรา
นายกฤษฏา บุญชัย สถานบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า สังคมไทยสูญเสียคุณค่าความหลากหลายไปมากแล้ว ทำให้ความสามารถของสังคมอยู่ในภาวะต่ำ เกิดโควิดหาทางออกไม่ได้ แต่ภูมิปัญหาพื้นบ้านที่มีหลากหลาย บริษัทข้ามชาติกำลังแสวงหาองค์ความรู้เหล่านี้ ที่ผ่านมาขาดกลไกส่งเสริมขาดกลไกคุ้มครอง เกิดความอ่อนแอในวิถีชีวิตอย่างมาก ดังนั้นการมีกฎหมายจะเป็นรากฐานทางนโยบายแรกให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ การรวมกลุ่มพัฒนาอัตลักษณ์ เปิดทางให้ภาคีอื่นๆ มาร่วมมือมากขึ้น ปัจจุบันหลายภาคส่วนเห็นภูมิปัญหาของชาติพันธ์ุมากขึ้น เช่น เมื่ออยากไปสนับสนุนผู้คนในป่าอนุรักษ์ ไร่หมุนเวียน ก็ติดปัญหากฎหมายป่าไม้ ซึ่งการมีกฎหมายที่หนุนเสริม จะเปิดทางภาคีให้เข้ามาร่วมมือหนุนเสริมมากขึ้น ดังนั้น 1.ต้องทำให้สังคมเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าทำให้เห็นว่าการฟื้นฟูป่า การจัดการโลกร้อน การมีภูมิปัญญาอาหารและยา การพัฒนาเศรษฐกิจ ล้วนอยู่ในวิถีของชนเผ่าเหล่านั้น ต้องทำคู่ไปกับการผลักดันกฎหมาย 2.ต้องทำแนวร่วมเชิงประเด็นให้ชัดเจน เช่น ผู้คนสนใจอาหาร นำเสนอเรื่องอาหาร เรื่องวิถีนิเวศ วิถีของชาวเลก็สามารถชวนให้ผู้คนขบคิดหรือสนใจ หรือกรณีปัญหาร่วมกัน เช่น ปัญหาขยะในทะเล เรื่องนี้รณรงค์ทำความเข้าใจได้ง่ายกับคนรุ่นใหม่
นายกฤษฏา กล่าวต่อว่า ข้อเสนอปิดท้าย 1.นอกจากผลักดันกฎหมายแล้ว ควรทำให้ประเด็นชาติพันธุ์ เข้าไปอยู่ในนโยบายหรือกฎหมายอื่นๆ ด้วย พี่น้องต้องสู้ในทุกกฎหมาย เพราะถ้าเรามีกฏหมายฉบับเดียว แต่ขัดกับกฏหมายอื่นๆ ก็จะเกิดภาวะถูกเลือกใช้กฎหมาย 2.ประสบการณ์จากการทำงานและการสังเกตุตั้งแต่มีมติ ครม. 3 สิงหาคม ตัวขวางที่แท้จริงคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องดึงประเด็นอื่นๆ เช่น วัฒนธรรรม สุขภาพ อาหาร แล้วดึงภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม มีอำนาจต่อรองสนับสนุนกลุ่มชาติพันธ์ ให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น อย่าให้กลายเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างกระทรวงกับชาวบ้านเท่านั้น