เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากทะลักเข้ามาทางชายแดนไทย-พม่าโดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดตาก ว่า เหตุผลหนึ่งที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาเยอะช่วงนี้ อาจเป็นเพราะได้ข่าวว่าประเทศไทยกำลังเปิดประเทศซึ่งร้านค้าและผู้ประกอบการกำลังฟื้นตัวและขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จึงพากันกลับเข้าประเทศไทย
นายสุชาติกล่าวว่า คาดว่าขณะนี้สถานประกอบการต่างๆขาดแคลนแรงงานประมาณ 3 แสนคน ซึ่งกระทรวงแรงงานพยายามแก้ไขปัญหาโดยการเอาคนที่อยู่อย่างผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนเพื่อลดการนำพาเข้ามา แต่อีกมุมหนึ่งกลับได้รับเสียงสะท้อนว่าทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามา แต่ตนมองว่าแม้ไม่ได้เปิดให้ขึ้นทะเบียน พวกเขาก็เข้ามาอยู่ดี สาเหตุที่เราเลือกเอาแรงงานที่อยู่ผิดกฎหมายขึ้นมาก่อนเพราะนอกจากลดการขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ต้องนำเข้า เช่น สถานประกอบการแห่งหนึ่งมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่ 50 คน เราก็ให้เขาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เขาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนำแรงงานเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว รอเพียงประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคาดว่าจะขึ้นทะเบียนได้ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน-1ธันวาคม
“ผมกำลังเสนอว่าบริษัทก่อสร้างหรือสถานประกอบการต่างๆที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ และคนไทยไม่ทำแล้ว ควรมีการนำเข้าแบบ MOU เพราะเราไม่ได้นำเข้ามาแล้ว 2 ปี ธุรกิจต่างๆจำนวนไม่น้อยกำลังต้องการแรงงาน เราต้องช่วยกันประคับประคองกิจการของเขา แต่แรงงานที่จะเข้ามาต้องมีการกักตัว 14 วัน และตรวจโควิดและตรวจโรคตามกฎหมาย เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าวในกิจการที่ขาดแคลน เราถึงพยายามประชาสัมพันธ์ไปว่า ตอนนี้ยังไม่ต้องเอาเข้ามา ผมได้หารือกับท่าน ผบ.สส.ไปแล้วว่า หนักหนาแน่ตลอด 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีโอกาสจัดระบบแรงงานข้ามชาติภายหลังวิกฤตโควิดหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า มีโอกาส แต่ที่ผ่านมาเราทำบัตรสีชมพูให้แรงงานต่างด้าวไปแล้วกว่า 10 ปี ข้อมูลกระจัดกระจายในจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้จัดทำข้อมูลในบัตรใบเดียวเหมือนมีพาสปอร์ตบัตรฝังชิพเชื่อมฐานข้อมูลได้เลย แต่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณที่สำนักงบประมาณไม่ยอมอนุมัติ
เมื่อถามอีกว่า คุณภาพชีวิตของคนงานข้ามชาติยังไม่มีการปรับปรุง เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย จะทำให้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้ออีกหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า กระทรวงแรงงานก็พยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แรงงานเหล่านี้ แต่บางครั้งเป็นเรื่องของต้นทุนที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่ม อย่างไรก็ตามในสถานประกอบการหรือบริษัทใหญ่ๆมักไม่มีปัญหาเพราะเขาต้องการคนงานไว้ใช้ในระยะยาว ทำให้จัดที่พักได้มาตรฐาน แต่สำหรับสถานประกอบการรายย่อยหรือรายเล็ก เช่น ตามตลาดต่างๆ ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงกันต่อไปซึ่งเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน
“ที่เป็นปัญหามาโดยตลอดคือคนงานที่อยู่ตามแคมป์ก่อสร้างต่างเพราะเป็นที่ดินเอกชนจึงไม่มีการสร้างที่พัก แต่สำหรับแรงงานที่อยู่ตามหอพักเป็นเรื่องที่ พม.(กระทรวงพัฒนาสังคงและความมั่นคงของมนุษย์)ต้องไปตรวจสอบและดูสุขลักษณะให้ถูกต้อง” นายสุชาติ กล่าว
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การเดินทางเข้าประเทศไทยของแรงงานข้ามชาติในครั้งนี้ มากันเป็นครอบครัวโดยมีเด็กๆเข้ามาด้วย ซึ่งตนคิดว่าสาเหตุสำคัญเป็นเรื่องของการเข้ามาหารายได้ เพราะนับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ช่องทางการเดินทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมายถูกปิดหมด ดังนั้นจึงต้องเข้าอย่างผิดกฎหมาย แม้ทางการไทยจะยังไม่เปิดรับแต่ความต้องการแรงงานในประเทศไทยมีแล้ว ทำให้เกิดการลักลอบมากขึ้น โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2564 มีคนลักลอบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันกับการเมืองในพม่าซึ่งเกิดรัฐประหารด้วย เพราะทหารพม่าปราบปรามผู้ที่เห็นต่างหนักขึ้น และหลังรัฐประหารเศรษฐกิจของพม่าก็ย่ำแย่
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันผู้หนีภัยการเมืองในพม่าและแรงงานข้ามชาติจากพม่าแยกออกจากกันหรือไม่ นายอดิศร กล่าวว่า ไม่ได้แยก ทั้งๆที่ความจริงแล้วควรแยกจากกันเพราะจะสะดวกในการบริหารจัดการ แต่เนื่องจากมาตรการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทยยังไม่ชัดเจน ทำให้กลุ่มผู้หนีภัยการเมืองเข้ามาในรูปแบบแรงงานข้ามชาติ
“จริงๆควรแยกให้ชัดเจน โดยมีการคัดกรองตั้งแต่ชายแดน เพื่อการบริหารจัดการชัดเจนขึ้น และมีมาตรการดูแลต่างหาก แต่เข้าใจว่ารัฐไทยคงไม่อยากดูแลผู้ลี้ภัย จริงๆมีระเบียบสำนักนายกฯเรื่องการคัดกรองคนเหล่านี้ เพราะเขาคงกลัวในเรื่องความมั่นคงและจัดการไม่ทัน”นายอดิศร กล่าว
เมื่อถามอีกว่าปัจจุบันรัฐไทยได้มีการปรับระบบแรงงานข้ามชาติเพื่อรองรับการเปิดประเทศหรือไม่ นายอดิสร ตนยังไม่เห็นมีการปรับปรุง มีเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมติคณะรัฐมนตรีแบบเดือนเว้นเดือน ทั้งการขยายกลุ่มเดิมและเปิดจดใหม่ แต่ไม่มีแผนจัดการระยะปานกลางและระยะยาว ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอไปแล้วว่ารัฐบาลควรมีแผนระยะสั้น เช่น แรงงานข้ามชาติอยู่อย่างไร แผนระยะกลางคือรองรับแรงงานเหล่านี้อย่างไร และแผนระยะยาวเกี่ยวกับจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่ตอนนี้กระทรวงแรงงานได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
“อย่างกรณีเรื่องของที่พักอาศัย จริงๆ ควรพิจารณากันเลยว่า ทุกวันนี้เขาพักอาศัยกันเป็นอย่างไร เพราะตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโควิด เพราะหากให้พวกเขาอยู่กันอย่างแออัด รวมถึงการแก้ปัญหาจ้างงานที่เป็นธรรมก็ยังไม่มีการแก้ไข”นายอดิศร กล่าว
ขณะที่นายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการจากศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)และที่ปรึกษา ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงรายกล่าวว่า ในพื้นที่เชียงรายยังไม่มีแรงงานข้ามชาติถูกจับเป็นกลุ่มใหญ่เหมือนที่แม่สอดและเมืองกาญจน์ แต่ลักษณะการลักลอบเข้ามาเป็นไปในรูปแบบกลุ่มเล็กๆทยอยเข้ามา สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเพราะมีแรงงานข้ามชาติอยู่ทุกพื้นที่และพื้นที่ชายแดนบริเวณนี้มีเรื่องขบวนการยาเสพติด ทำให้พวกลักลอบขนคนงานหลีกเลี่ยงไปใช้ช่องทางอื่น อย่างไรก็ตามปกติแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับก็แยกไม่ออกระหว่างผู้หนีภัยการเมืองในพม่าและแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้เชื่อว่าการหนีเข้ายังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะสถานการณ์ความไม่สงบในพม่าและความต้องการแรงงานในไทย
นายสืบสกุลกล่าวว่า ยังมองไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะรับแรงงานข้ามชาติชุดใหม่หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเลือกใช้วิธีขุดคนงานที่อยู่ใต้ดินมาไว้บนดิน แต่คนที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีมากขึ้น ดังนั้นการคัดกรองจึงมีความจำเป็น ขณะที่โควิดระบาดในแคมป์ก่อสร้างก่อนเพราะอยู่กันอย่างแออัดและใช้ห้องน้ำร่วมกันทำให้เกิดความเสี่ยง ดังนั้นต้องมีการจัดระบบที่พักอาศัยของคนงานให้มีมาตรฐานมากขึ้นโดยเฉพาะแคมป์ที่มีคนอยู่มากๆ
นักวิชาการจาก มฟล.กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการสื่อสารโดยที่จังหวัดเชียงรายเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนโรค แต่ในระยะแรกการสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติไม่เข้าใจกัน แต่เราได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานจึงช่วยได้มากและทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยศูนย์ประสานงานได้มีสายด่วนเป็นภาษาพม่า ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติได้เป็นอย่างดี ทำให้การลงทะเบียนไม่ยุ่งยากและแรงงานข้ามชาติเข้าถึงวัคซีนมากขึ้นเพราะมีระบบลงทะเบียนซึ่งทำไปแล้วกว่า 1 พันคน
“ระบบสาธารณะต้องการคนข้ามชาติในพื้นที่เข้ามาช่วยประสาน อนาคตต้องมีแบบนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันควรมีการสร้างที่พักอาศัยให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น แคมป์คนงานมี 2 แบบคือแคมป์หลักที่คนงานอยู่เป็นปี และแคมป์ย่อยอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง โดยแคมป์หลักควรจัดการให้เหมาะสม”นายสืบสกุล กล่าว