เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ประชาชนในนามขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค จำนวนกว่า 100 คนได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีการแก้ไขปัญหาประชาชน 5 ภูมิภาค โดยมีป้ายเขียนข้อความต่างๆ อาทิ รัฐบาลต้องจริงใจแก้ปัญหาประชาชน, หยุดใช้อำนาจการเมืองรังแกองค์กรประชาชน โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือและเจรจากับแกนนำ
ทั้งนี้ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาคได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งเน้นการใช้อำนาจและกฎหมายในบริหารประเทศ มากว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากภาคประชาชน ทั้งยังใช้กลไกของระบบราชการเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการกับทุกเรื่องทุกปัญหาและทุกพื้นที่ ซ้ำยังตัดตอนหรือชะลอการกระจายอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่น ทั้งที่รู้ดีว่ากลไกและระบบราชการที่เป็นอยู่นั้นมีความแข็งตัวและมีข้อจำกัดมากมาย จนไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วได้ ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้อย่างที่ควรจะเป็น
แถลงการณ์ระบุว่า ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค ขอเสนอทางออกต่อสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดข้อจำกัดและช่องว่างระหว่างประชาชนกับรัฐบาลลงได้ ดังนี้ 1.รัฐบาลต้องยอมรับการเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ” ของประชาชน ที่ไม่ใช่เป็นฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นเพียงผู้รอรับการช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น แต่ควรร่วมสร้างสังคมแนวใหม่ ที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญและมีความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาได้เองในทุกมิติ
2.รัฐบาลต้องสร้างกลไกร่วมระหว่างภาครัฐ(ฝ่ายการเมืองและข้าราชการ) กับภาคประชาชน และภาคีพัฒนาอื่นๆ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเชิงรุกที่เท่าทันกับโลกสมัยใหม่ และสามารถเป็นกลไกในการจัดการแก้ไขปัญหาของประชาชนในทุกมิติ ทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค
3.รัฐบาลต้องปฏิรูปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้เป็นองค์กรที่มีความก้าวหน้าทันสมัย เพื่อสร้างสังคมแนวใหม่ให้ปรากกฏ มิใช่แค่การทำงานเชิงสงเคราะห์มิติเดียว หากแต่ต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของสังคม ให้ประชาชนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ รวมถึงการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจในความเป็นประชากรของประเทศ
4.รัฐบาล โดย พม.ต้องหยุดการแทรกแซงองค์กรที่สนับสนุนศักยภาพของภาคประชาชน ดังกรณีไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ชุดใหม่ ซึ่งว่างเว้นมาแล้วกว่า 14 เดือน (อย่างไม่เคยปรากฏมีมาก่อน) ส่งผลให้ พอช. ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนกว่า 7,000 ตำบล ทั่วประเทศ
5.รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างกลไกให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการและออกแบบการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงที่ผ่านมาในทุกมิติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้านอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน และการเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารในท้องถิ่น โดยต้องปรับระบบงบประมาณและกองทุนเงินกู้ให้สอดคล้องตามแนวทางดังกล่าว
“การรวมตัวกันแสดงออกในฐานะตัวแทนประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาคในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ใจ ด้วยอยากเห็นการพัฒนาสังคมและการเมืองที่มีความก้าวหน้า และมีความมั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงหวังว่ารัฐบาลจะเปิดใจกว้างรับฟังข้อเสนอทั้งหมดนี้ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจนมากขึ้น และหากไม่มีความคืบหน้าใดๆต่อข้อเรียกดังกล่าว พวกเราจะกลับมาพร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายขบวนประชาชนที่มีจำนวนมากขึ้นในเร็ววันนี้”แถลงการณ์ ระบุ
นายสังคม เจริญทรัพย์ ผู้แทนคณะประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน กล่าวว่า ได้คุยกันมาต่อเนื่องหลายเดือนและมีมติสมัชชาองค์กรชุมชนที่มี 8 ข้อเสนอไปยังรัฐบาล แต่รัฐมนตรี พม.ไม่มารับข้อเสนอและส่งปลัดกระทรวง พม.มาแทนแถมยังให้ความเห็นต่างๆแทนที่จะรับและนำไปสู่การขับเคลื่อน ที่สำคัญคือการแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ได้ถูกยื้อไปยื้อมานานกว่า 1 ปีส่งผลกระทบต่อการทำงานของขบวนภาคประชาชน แม้ได้ทำหนังสือติดตาม 2 ครั้ง และยินยอมเอารายชื่อที่บอกว่ามีปัญหาออกและใส่รายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาในลำดับต่อมาแทน แต่เรื่องก็ยังเงียบ
“เราพยายามเจรจาขอเข้าพบ รัฐมนตรี พม.โดยผมประสานไปทางเลขารมต. ซึ่งบอกไม่น่ามีปัญหา จึงนัดวันแต่พอถึงเวลาไม่สามารถพบได้ ในที่สุดพวกเราจึงคุยกันว่าถึงเวลาอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ จำเป็นต้องลงถนน ครั้งนี้เราเพียงมาส่งหนังสือ แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเดือนธันวาคม พวกเราจะขยับใหญ่ นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 14-16 พฤศจิกายน ที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกระบี่ พี่น้องส่วนหนึ่งจะไปเคลื่อนไหวพร้อมๆกับเรื่องที่อยู่อาศัย”นายสังคม กล่าว
——————