Search

ก่อนศึกใหญ่ทหารพม่ารบกะเหรี่ยง อ่านมุมมองของแม่ทัพใหญ่ KNU “พลเอก บอ จ่อ แฮ” (ตอน 2 จบ)

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงและอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดิบ มีแม่น้ำสาละวิน เป็นเส้นแบ่งแดนประเทศไทย-พม่า ทำให้ทหารพม่าเข้าถึงพื้นที่ชายขอบรัฐกะเหรี่ยง ที่เป็นเขตควบคุมของทหารกองพล 5 KNLA (Karen National Liberation Army) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU) อย่างยากลำบาก

หลายครั้งที่กองทัพพม่าพยายามใช้ทหารราบรุกเข้ามาเพื่อควบคุมพื้นที่ให้ได้หมด แต่อย่างไรก็ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ชายแดนริมแม่น้ำสาละวินได้อยู่ดี เพราะความไม่ชำนาญในภูมิประเทศ ประกอบกับการต่อต้านอย่างเข้มแข็งของทหารกะเหรี่ยงกองพล 5 แม้ช่วงหลังกองทัพพม่าพยายามเปลี่ยนยุทธวิธีด้วยการใช้ “กะเหรี่ยงรบกะเหรี่ยง” แทน ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ใช่บริเวณริมสาละวิน

กองทัพพม่าพยายามตัดถนนหลายเส้นเข้ามาในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงการใหญ่สารพัดตามแนวชายแดน เช่น โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน แต่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เนื่องจากถูกต่อต้านจากประชาชนท้องถิ่นและทหาร KNU เพราะต่างทราบดีว่าโครงการเขื่อนเป็นไปเพื่อยุทธศาสตร์ทางการทหารมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนท้องถิ่น

เมื่อไม่สามารถส่งกำลังพลทางบกเข้ามาปฏิบัติการได้ ดังนั้นการสู้รบกับกองกำลัง KNU เมื่อต้นปี 2564 กองทัพพม่าจึงต้องใช้เครื่องบินรบเป็นกำลังหลักในการทิ้งระเบิดกระจายไปทั่วพื้นที่เป้าหมาย แต่เนื่องจากการข่าวที่ยังไม่ถึงและไม่ทราบพิกัดที่แน่นอนของฐานที่มั่นของทหาร KNU ทำให้ระเบิดจำนวนไม่น้อยตกลงในแหล่งชุมชน ทำให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยงในหลายร้อยหมู่บ้าน ราว 7 หมื่นคน ต้องอพยพเข้าไปหลบซ่อนในป่าและหลายพันคนข้ามแม่น้ำสาละวินมาหลบภัยในฝั่งไทย

“ตอนนี้มีเหตุสู้รบหลายพื้นที่ กองทัพพม่าเองต้องกระจายกำลัง ผมมองว่าการที่เขาจะใช้กำลังทหารราบ คงไม่มีอัตรากำลังพลเพียงพอตามแผนปฏิบัติการ บางพื้นที่มีการเสริมกำลังพลเข้าไป แต่ไม่มากนัก” พลเอกบอ จ่อ แฮ  พลเอก บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยง (KNLA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) วิเคราะห์สถานการณ์ในศึกใหญ่ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

“แน่นอนว่ากำลังหลักที่กองทัพพม่าจะใช้ คือกำลังทางอากาศ ตอนนี้กองทัพพม่าได้ซื้อยุทโธปกรณ์ทางอากาศเพิ่มขึ้น ทั้งเครื่องบินโจมตี เครื่องบินทิ้งระเบิด โดรน มีข้อมูลว่ากองทัพพม่าซื้ออากาศยานใหม่จำนวนมาก และมีการซ่อมบำรุงเครื่องบินเก่า ตอนนี้มีการฝึกปฏิบัติการทางอากาศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบินลาดตระเวนหาพิกัดเป้าหมาย ชัดเจนว่าการเปิดการรบรอบใหม่จะเน้นการโจมตีทางอากาศ คือ กองทัพพม่าจะเปลี่ยนแบบการรบ”

แม้รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกมิน อ่อง หล่าย จะถูกชาวโลกประณามและคว่ำบาตรภายหลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี แต่ก็ยังมีประเทศยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียและจีน เป็นแนวร่วมและขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ ขณะที่ KNU เป็นเพียงกองกำลังท้องถิ่นซึ่งห่างชั้นเรื่องกำลังพลและอาวุธ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะรับมือสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร

“ผมคิดว่าอาจไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดว่ามีใครที่สนับสนุนเรา หรือ ควรจะสนับสนุนเรา แต่ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลทหารพม่าอยู่ในที่แจ้ง สามารถทำงานเปิดเผยได้ “คนดีก็อยู่เป็นเพื่อนเขา คนร้ายก็อยู่เป็นเพื่อนเขา” ด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทนจึงมีการสนับสนุนกัน จีนกับรัสเซีย มีผลประโยชน์กับพม่า พวกเขาจึงจะสนับสนุนพม่า ถึงแม้รัฐบาลพม่าปกครองไม่เป็นไปตามความชอบใจของประชาชน แต่รัฐบาลพม่าเอื้อประโยชน์ให้ประเทศที่สนับสนุน จนลืมมองความทุกข์ของประชาชน แต่คบกันบนผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง เขาให้ความสำคัญของผลประโยชน์เป็นอันดับ 1

“พวกเราชนชาติพันธุ์ต้องทำให้นานาชาติเข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ของพวกเรา ทุกคนจึงต้องพยายามที่จะสร้างความเข้าใจต่อไป บางคนมีใจที่จะสนับสนุนเรา แต่ไม่เข้าใจสถานการณ์จึงไม่รู้จะต้องช่วยเรายังไง ทำให้หลายคนมองข้ามความรู้สึกของประชาชน ถึงแม้เราต้องเผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายแต่ยังมีคนมองไม่เห็น และไม่ได้สนับสนุนพวกเรา”

ปัจจุบันการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างของรัฐบาลทหารพม่าเกิดขึ้นทุกวันโดยเฉพาะภายหลังจากมีการจัดตั้งกองกำลังคุ้มครองประชาชน (People’s Defense Force-PDF) ขณะที่การเจรจาที่ปูทางสู่เส้นทางสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ทำให้ความรุนแรงในประเทศพม่าส่อเค้ายืดเยื้ออย่างไม่มีกำหนด

“ผมคิดว่ากองทัพพม่าต้องปฏิบัติการปราบปรามแน่นอน เพียงแต่จะประเมินว่ากลุ่มต่อต้านแต่ละกลุ่ม ควรเริ่มปราบปรามกลุ่มไหนก่อน กองทัพพม่าจะไม่ปราบปรามพร้อมกันทุกกลุ่ม กองทัพพม่าวิเคราะห์กลุ่มกองกำลังแต่ละกลุ่ม กลุ่มประชาชนในเมืองแต่ละกลุ่ม วิเคราะห์ว่าต้องเริ่มทำลายจากกลุ่มไหนก่อนและใช้ปฏิบัติการฆ่าล้างบางและทำให้หวาดกลัว แบ่งปฏิบัติการออกเป็นพื้นที่และแยกรูปแบบ แล้วกองทัพพม่าก็จะค่อยๆ ดำเนินการตามแผนที่วิเคราะห์ไว้ กองทัพพม่ามีแผนแน่นอน พวกเขาไม่ยอมอยู่แบบนี้แน่ สุดท้ายเมื่อใช้ไม้แข็งแล้วจะต้องกลับมาใช้ไม้อ่อน กองทัพพม่ามีแผนและการวิเคราะห์ตลอด”

กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ามีอยู่จำนวนไม่น้อย หลายครั้งที่มีความพยายามประสานความร่วมมือเพื่อต่อกรกับกองทัพพม่าแต่ดูคล้ายความร่วมมือดังกล่าวยังกลายเป็นแค่แนวทางเพราะในทางปฏิบัติยังไม่มีความร่วมมืออย่างจริงจัง แถมบางกองกำลังยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและผลประโยชน์ที่ทหารพม่าใช้เป็นเหยื่อล่อ

“เรามีการพูดคุย ประสานงานกันสำหรับกองกำลังชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม เราจะก้าวไปพร้อม ๆ กัน แต่ละชาติพันธุ์จะเผชิญกับกองทัพพม่าอย่างไร จะรบกับกองทัพพม่าอย่างไร พื้นที่แต่ละกลุ่มมีบริบทต่างกัน สถานการณ์ชายแดนแต่ละกลุ่มต่างกัน สถานการณ์ภายในแต่ละกลุ่มก็ต่างกัน เราร่วมมือกัน แต่ไม่ได้เต็มร้อยอย่างที่เราต้องการ

“ทางเหนือมีชายแดนติดจีน ทางตะวันตกมีชายแดนติดอินเดีย ตะวันออกชายแดนติดกับไทย ชายแดนแต่ละที่มีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน สถานการณ์เบื้องหน้าภายในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็ต่างกัน สถานการณ์ด้านหลังเราก็ต่างกัน แม้เราพยายามจะขยับไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เต็มร้อยอย่างที่เราต้องการ เราต้องพยายามร่วมมือกันบนความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

เมื่อถามว่าการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐเป็นเป้าหมายสูงสุดของการต่อสู้ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่ พล.อ. บอ จ่อ แฮ ตอบว่า บางคนคิดว่าควรประสานความร่วมมือกับรัฐบาลพม่า แต่อีกส่วนมองว่าถ้าเดินตามรูปแบบ เป้าหมายและแนวทางที่รัฐบาลพม่าวางไว้ แต่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเดินไปด้วยกัน เราต้องมีสิทธิปกครองตนเอง ต้องมาดูว่าเราจะมีสิทธิมนุษยชนเท่ากันอย่างไร ประชาชนเราจะมีสิทธิเท่าเทียมประชาชนเขาอย่างไร แล้วค่อยมาว่ากันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

“อันดับแรกเลยคือเราต้องอยู่เองให้ได้ มีสิทธิในตนเอง ปกครองตนเองได้ อันนี้เราต้องสร้างเองก่อน ต้องรบเอามา ถ้าเราร่วมกับรัฐบาลพม่าเราก็จะไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนของเรา บางคนเห็นว่าเราควรร่วมกับรัฐบาลพม่า แต่ควรย้อนดูว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจะกลับไปร่วมกับรัฐบาลพม่าหรือไม่

“เวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าไปร่วมตอนนี้ เราก็จะหายไปตอนนี้  เราต้องทำให้ประชาชนเรามีสิทธิเสรีภาพก่อน เมื่อมีสิทธิเสรีภาพแล้ว ประชาชนแต่ละกลุ่มมีสิทธิของตนเองแล้ว ค่อยมาหาแนวทางความร่วมมือกัน”

อำนาจการต่อรองกับกองทัพพม่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมาจากการสู้รบเพียงอย่างเดียว ในขณะที่แนวทางการเจรจาต่อรองมีรูปแบบหลากหลาย แต่การทำสงครามด้วยอาวุธห้ำหั่นกันมีแต่ความสูญเสีย จริงๆแล้วควรมีทางออกอื่นอีกหรือไม่

“การรบมีหลายแบบ รบด้วยการเจรจา รบด้วยงานเขียน รบด้วยการพูดคุย รบด้วยอาวุธ เราต้องรบทุกรูปแบบ เราต้องปกป้องตนเองไม่ให้สูญหาย เพื่อไม่ให้ศัตรูเราฆ่าล้างบาง หรือทำลายจนเราสูญหาย เราต้องป้องกันตนเอง เพื่อให้มีสิทธิเท่าเทียมกับความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราต้องรบมาเพื่อให้ได้มา ต้องพูดเพื่อให้ได้มา ต้องเขียน เราต้องเจรจาตกลงกัน ผมคิดว่าทุกอย่างมีหนทาง ผมเชื่อว่าเรารบด้วยทุกวิถีทาง ไม่ใช่แค่ต้องไปร่วมมือกับรัฐบาลพม่า เพราะที่รัฐบาลพม่าต้องการคือประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ ซึ่งเราต้องอยู่ร่วมกัน แยกตัวออกไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐสามารถแยกตัวออกได้เมื่อเราต้องการ แต่รัฐบาลพม่าไม่ยอมให้เราแยก”

หลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีข่าวว่าหลายกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ซึ่งรวมถึง KNU ด้วยที่ทำการอบรมและฝึกอาวุธให้ประชาชนหนุ่มสาวที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านี้ได้กลับไปปฏิบัติการในหลายเมือง การรบทั้งในเมืองและชายขอบประสานกัน ทำให้บรรลุเป้าหมายง่ายขึ้นหรือไม่

“คนที่หนีมาเป็นกำลังของเรา พวกเขาไม่กล้าอยู่เพราะถูกกดดันแล้วทนไม่ได้ หนุ่มสาวชาวพม่าได้เผชิญในสิ่งที่เราชนชาติพันธุ์เผชิญมานาน เขาทนการปกครองของรัฐบาลทหารไม่ได้จึงหนีมาเพื่อกลับเข้าไปต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง เราจึงต้องสนับสนุนพวกเขารบในแบบที่เขาถนัด เราก็รับในแบบที่เราถนัด บางคนอาจรบด้วยข้อมูลข่าวสาร งานเขียน บางคนต้องรบด้วยกำลัง ต้องช่วยกันแบบนี้ กลับไปช่วยงานด้านในบ้าง ช่วยกันด้านนอกบ้าง แต่ทุกคนต้องร่วมมือกันจึงจะพังอำนาจกองทัพพม่าได้ ถ้าไม่ร่วมมือกันไม่มีทางที่เราจะทลายอำนาจได้ สุดท้ายเราจะพังกันหมด นี่เป็นโอกาสที่เราจะสร้างความร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันและกัน”

สำนักข่าวชายขอบ ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยการถามถึงภาพฝันของ พลเอกบอ จ่อ แฮ ที่มีต่อแม่น้ำสาละวิน

“ผมอยากเห็นผู้คนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ทั้งตะวันตกและตะวันออก คนที่อยู่บนแผ่นดินไทย และแผ่นดินกอทูเล จะมีชีวิตอย่างสงบสุข สันติ และเสรี ทั้งสองฟากฝั่งปราศจากจากความกลัว ความกังวล ความทุกข์ใจ

“สมัยที่ผมเด็ก ๆ พ่อพาผมข้ามสาละวินและเดินเท้าไปเยี่ยมเยียนคนรู้จักกันที่อำเภอแม่สะเรียง พวกเราไปมาหาสู่กัน ไม่ต้องกลัวอะไร สองฝั่งแม่น้ำสาละวินผู้คนทำกิจกรรมร่วมกัน คนค้าขายก็ข้ามไปมาไม่ต้องกลัวหรือกังวลอะไร ผมอยากให้คนสาละวินทั้งสองฝั่งอยู่กันอย่างพี่น้อง อยู่อย่างสงบสุข เราไม่อยากให้มีสงคราม เราไม่อยากให้ผู้คนต้องหวาดกลัว และล้มตายจากสงคราม ผมอยากเห็นเพียงเท่านี้”

แม่ทัพคนสำคัญแห่งกองทัพกะเหรี่ยง KNLA มีแววตาอันเจิดจรัสเมื่อย้อนถึงชีวิตในวัยเยาว์และวิถีของคนสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน ทำให้เข้าใจถึงอุดมการณ์ที่เขาและนักรบของกองพล 5 ต่างทุ่มเทกายใจเพื่อทำให้ “สาละวิน” ได้เป็นอิสระเหมือนอย่างที่เคยเป็น


On Key

Related Posts

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →