สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชาวบ้านกะเหรี่ยงแดงนับพันทะลักฝั่งไทย หลังกองทัพพม่าใช้เฮลิคอปเตอร์-เครื่องบินรบโจมตีหนักกองกำลังคะเรนนีใกล้ชายแดนแม่ฮ่องสอน หวั่นฐานทหารไทยโดนลูกหลง

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพพม่าได้ยิงถล่มกองกำลังพรรคก้าวหน้าคะเรนนี(KNPP) อย่างหนักตามแนวชายแดนรัฐคะเรนนีและชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้ประชาชนชาวคะเรนนีหรือกะเหรี่ยงแดงหลายร้อยคนหนีตายข้ามมาหลับภัยฝั่งประเทศไทย ทั้งนี้สื่อออนไลน์ของคะเรนนี Kantarawaddy Timese ระบุว่า การโจมตีทางอากาศในเมืองลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคะเรนนี โดยเบื้องต้นพบว่าเครื่องบินขับไล่ของทหารพม่า 2 ลำ โจมตีพื้นที่เมืองลอยก่อเมื่อเวลา 14:50 น. ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ถ่ายภาพเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบได้พร้อมให้ข้อมูลว่าเห็นการปะทะระหว่างกองกำลังประชาชน (PDF) และทหารพม่าได้เกิดขึ้นอย่างหนักบริเวณพื้นที่ไมล์โลงตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม

ด้านสำนักข่าว The Kantarawaddy Times รายงานว่า ผู้ลี้ภัยที่หนีสงครามจากการโจมตีทางอากาศและการลาดตระเวนในเขตพื้นที่ควบคุมของ KNPP มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ลี้ภัยรายหนึ่งกล่าวว่า หลังจากทำอาหารและกินข้าวได้ซักพักก็มีเครื่องบินบินผ่านไป-มา แล้วก็ยิงปืนในระยะที่ไม่ไกลจากเรานัก ทำให้ต้องวิ่งหนีกันต่อไป นี่เป็นการหนีภัยสงครามเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากเมื่อวานนี้ กองทัพพม่าได้บินเข้ามาในพื้นที่ควบคุมของ KNPP อยู่หลายครั้ง

นายคูแดเนียล เลขาธิการของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ลี้ภัยกำลังหนีภัยสงครามอยู่ใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัยที่อยู่ชายแดนไทย-คะเรนนี

ขอบคุณภาพจากกลุ่มผู้ลี้ภัยคะเรนนี

“ผู้คนส่วนมากหนีออกไปแล้ว พวกเขากำลังวิตก พอเครื่องบินบินวนมาทิ้งระเบิด ผู้ลี้ภัยก็อพยพออกจากหมู่บ้านดอโนกู เข้าไปในชายแดนไทยที่อยู่ไม่ไกล ผู้ลี้ภัยกำลังจะไปถึง 2 กลุ่มและมีอีก 2 กลุ่มกำลังอพยพตามไป กลุ่มแรกมีประมาณ 200 คน อีกกลุ่มมีประมาณ 1,000 คน หนีเข้าไปหลบภัยในพื้นที่ชายแดนไทย” นายคูแดเนียล กล่าว

ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยในพื้นที่ควบคุมของ KNPP อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในรัฐคะเรนนีตั้งแต่เริ่มการต่อสู้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

ขณะที่เพจ AEC อาเซียน ระบุว่า แหล่งข่าวผู้นำระดับสูงของกองกำลังทหารกะเหรี่ยงคะยา KNPP กะเหรี่ยงแดง เปิดเผยว่า ทหารคะยา ที่ฐานปฏิบัติการยามู ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านแม่ส่วยอู หมู่ 8 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ได้เตรียมพร้อมรับมือการโจมตีด้วยอากาศยานจากทหารเมียนมา โดยมีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ ของทหารพม่า รุ่น Mi-8 ผลิตโดยประเทศรัสเซีย จำนวน 2 ลำ ลำเลียงทหารเมียนมาจำนวน 30 นาย มาเสริมกำลังที่ฐานที่มั่นของทหารเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามฐานยามู ของกองกำลังกะเหรี่ยงคะยา คาดว่าเตรียมพร้อมที่จะเปิดฉากการโจมตีต่อฐานยามูของคะยาในเร็ว ๆ นี้

ขอบคุณภาพจากกลุ่มผู้ลี้ภัยคะเรนนี

นอกจากนี้ยังได้มีเครื่องบิน MIG – 29 จำนวน 2 ลำ และโดรนรุ่น CH-3A อีก 1 ลำ บินลาดตระเวนเหนือพื้นที่ฐานยามูของกะเหรี่ยงคะยา ไปจนถึงฐานทะนาควายของฝ่ายคะยา คาดว่าเป็นการบินเพื่อตรวจสอบที่ตั้งทางทหารของกองกำลังกะเหรี่ยงคะยา ก่อนที่จะมีการเปิดฉากการโจมตี การบินตรวจการของทหารพม่าส่วนหนึ่งมายังฐานที่มั่นของทหารกะเหรี่ยงคะยา และฐานที่มั่นสิงขรของทหารไทยซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน หากมีการโจมตีและไม่ระบุพิกัดที่ชัดเจน จะทำให้ทหารไทยถูกโจมตีไปด้วย

เพจ AEC ระบุว่า จากการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังกะเหรี่ยงคะยา พบว่าได้มีผู้อพยพจากบ้านห้วยโปงเลา ตรงข้ามช่องทางบ้านน้ำเพียงดินเข้ามาในไทย บริเวณช่องทางเนิน 585 ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จำนวนประมาณ 200 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นคนชรา ผู้หญิง และเด็ก โดยทางทหารไทยไม่อนุญาตให้เข้ามาในเขตไทย แต่ให้อาศัยบริเวณถนนในซอกเขาเขตพม่า ติดกับฐานปฏิบัติการ เนิน 585 ของทหารไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร(อส.) อ.เมือง เข้าไปดูแลและสอบถามสถานการณ์ในฝั่งเมียนมา

ขณะที่ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงข่าวในวันเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม เวลา 09.00-10.00 น.เกิดการสู้รบระหว่างทหารเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อยพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามบ้านใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้หนีความไม่สงบในเมียนมาจากบ้านดอนกขุ จังหวัดยอบะแคะ (บอลาเค) รัฐคะยา เดินทางเข้ามาช่องทะนาควาย หมู่ 4 ต.ปางหมู อ.เมือง และเวลา 13.03 น. มีผู้หนีภัยเข้ามาบริเวณเนิน 585 ต.ผาบ่อง ขณะที่เวลา19.00-21.00 น.ปรากฏเครื่องบินเมียนมาไม่ทราบชนิดบินลาดตระเวนตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณตรงข้ามบ้านดอยแสง หมู่ 13 ต.ปางหมู อย่างไรก็ตามในวันที่ 8 ยังไม่เกิดปรากฏการปะทะแต่อย่างใด

ศูนย์สั่งการฯ ระบุว่า สถานการณ์ผู้หนีภัยในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวพื้นที่เนิน 585 มีจำนวน 226 คน และพื้นที่ช่องทางทะนาควาย มีจำนวน 360 คน โดยศูนย์สั่งการฯ ได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมอย่างทั่วถึงและพอเพียงต่อการดำรงชีพภายใต้การดำเนินการของรัฐ โดยประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย อำเภอเมือง ได้แจ้งให้ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นฝ่ายเมียนมา อำเภอผาซอง ขอความร่วมมือทหารเมียนมาใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเกี่ยวกับการใช้อาวุธยิงสนับสนุนและเครื่องบินโจมตีต่อเป้าหมายไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทหารไทยและประชาชนไทย

ขอบคุณภาพจากกลุ่มผู้ลี้ภัยคะเรนนี

ในวันเดียวกันสำนักข่าว Mizzima รายงานว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้ยิงรถบรรทุก 2 คันที่บรรทุกเชื้อเพลิงจากชายแดนไทย-พม่า บนทางหลวงเอเชียที่ปากทางเข้าเมืองก่อกะเระ รัฐกะเหรี่ยง เมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 7 มกราคม โดยรถบรรทุกหนึ่งคันเกิดเพลิงไหม้

“ทุกคนรู้ดีว่านี่เป็นเส้นทางที่กำลังเกิดสงครามอยู่ และเราก็ได้ออกประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าห้ามมิให้กระทำการใดๆ ที่เป็นอันตราย เพราะรู้ดีว่าถังแก๊สเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไร และเราจะดำเนินการในพื้นที่นั้นโดยการให้ผู้ที่สัญจรไปมาในพื้นที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้พวกเขาเข้าใจผิด” ปะโด่ซอตอนี เจ้าหน้าที่การต่างประเทศของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กล่าว

ทางด้านบริษัท AwRa Trading Co., Ltd.(ThaiGas) กล่าวในแถลงการณ์ว่า รถบรรทุกที่ถูกยิงไม่ใช่รถบรรทุกน้ำมันสำหรับเครื่องบินของทหารพม่า แต่เป็นรถพ่วงที่บรรทุกก๊าซหุงต้ม LPG เพื่อแจกจ่ายไปยังทุกส่วนของประเทศผ่านเมืองเมียวดี

“บริษัทไม่อนุญาตให้ขับรถในเส้นทางบนภูเขาหลังเวลา 18.00 น. แต่คนขับก็ขับลงมาจากเมียวดี 5 คัน รถสองคันถูกยิง และต่อจากนั้นก็มีการซุ่มยิง รถคันแรกขับมาประมาณ 18.30 น. เป็นรถบรรทุก 12 ล้อ และตอนแรกมีการให้ข่าวเท็จว่าเป็นรถบรรทุกน้ำมันสำหรับเครื่องบินของทหารพม่า จึงเกิดการโจมตีขึ้น ส่วนรถคนอื่นๆ ก็หยุดรถตั้งแต่มีการยิง” เขากล่าว โดยตามรายงานระบุว่า คนขับ 2 คนได้รับบาดเจ็บ รถบรรทุกและเชื้อเพลิงมูลค่ากว่า 3.8 ล้านบาท ได้รับความเสียหาย

On Key

Related Posts

คำประกาศแม่น้ำโขงชี้เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด-ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน-สิ่งแวดล้อมรุนแรง แนะรัฐฟังเสียงประชาชน “วิโรจน์”เตรียมส่ง สตง.-ป.ป.ช.จี้นายกฯตรวจสอบอย่างโปร่งใส-รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อRead More →

ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์แม่น้ำโขงให้ชุมชนริมโขง เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน  ศ.สุริชัยชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →

แนะดึง ป.ป.ช.-สตง.ตรวจสอบเขื่อนปากแบง “วิโรจน์”ชี้ยุทธวิธีแม่น้ำ 4 สายร่วมกสม.-สภาส่งจัดทำข้อเสนอส่งนายกฯ ผู้นำท้องถิ่นน้อยใจรัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน ระบุพื้นที่เกษตรนับพันไร่ได้รับผลกระทบแต่ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐแจง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →