เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ หรือ Shan womens Action Network (SWAN) ได้รายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานระหว่างเดือนธันวาคม 2564 ถึงเดือนมกราคมปี 2565 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายเมืองของรัฐฉาน เช่น เมืองจ้อกเม สี่ป้อ แสนหวี ต้างยาน น้ำคำ หมู่เจ้และโก้ดข่าย ในภาคเหนือ และ เมืองกึ๋ง ลายค่า เกซี และเมืองผายขุ่น ทางภาคใต้ กำลังเลวร้ายลง พบทั้งการเรียกเก็บภาษี การเกณฑ์ทหารใหม่ และการละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงในพื้นที่ สงครามระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วยกันเอง ยิ่งเป็นชนวนเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนลำบากมากยิ่งขึ้น และทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เป็นสาเหตุทำให้ชาวบ้านในรัฐฉานตัดสินใจหนีตายลักลอบเข้าไทยหวังมีชีวิตใหม่
องค์กร SWAN ระบุว่า ในหลายพื้นที่ของรัฐฉาน มีการเกณฑ์ทหารใหม่ รวมทั้งเกณฑ์ทหารเด็ก โดยกลุ่มติดอาวุธจะใช้วิธีบุกบ้านชาวบ้านในยามวิกาลเพื่อบังคับผู้ชายและเด็กชายไปเป็นทหาร โดยกลุ่มติดอาวุธมีรายชื่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ หากผู้ชายบ้านไหนหรือเจ้าของบ้านไม่ยอมเป็นทหาร มักใช้วิธีจับกุมพ่อแม่เจ้าของบ้าน โดยให้เวลา 7 วันในการหาคนมาแทนหรือมาประกันตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสังหารและจับกุมชาวบ้านตามอำเภอใจ
ขณะที่สถานการณ์การละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงในรัฐฉานก็แย่ลง เด็กสาวรายหนึ่งจากเมืองกึ๋ง ได้เปิดเผยกับองค์กร SWAN ว่า ในเขตพื้นที่เมืองกึ๋งนั้น มีทหารว้าเข้ามาประจำมากขึ้น พบเห็นเหตุการณ์ฉุดหญิงสาวและการละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองของเด็กสาวบางส่วนจึงตัดสินใจส่งลูกสาวมาหางานทำที่ประเทศไทยเพื่อหวังให้มีชีวิตใหม่ โดยหญิงสาวที่ต้องการมาหางานทำที่ไทยจะต้องเสียค่านายหน้าประมาณ 25,000 – 27,000 บาท
“การละเมิดทางเพศในรัฐฉานนั้นเลวร้ายลงนับตั้งแต่การรัฐประหาร เนื่องจากสถานการณ์ในบ้านเมืองขณะนี้เหมือนไม่มีกฎหมายคุ้มครองหญิงสาว หญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อละเมิดทางเพศประสบความยากลำบากในการเรียกร้องความเป็นธรรม เฉพาะในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียวพบการละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงจำนวน 10 ราย” องค์กร SWAN ระบุ
ทั้งนี้สงครามระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพเพื่อประชาชน หรือ PDF และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง เป็นเหตุให้มีผู้ลี้ภัยสงครามราว 7,000 คน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยคือผู้หญิงและเด็ก ในจำนวนนี้มีเด็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี อยู่ทั้งหมด 200 คน เหตุสงครามส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรได้ไม่นานและทารกกำลังได้รับผลกระทบด้านโภชนาการและไม่มีที่พักพิงอาศัยที่ปลอดภัย รวมทั้งขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มกันหนาวเป็นจำนวนมากในสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก
นอกจากนี้ทางองค์กร SWAN ยังแสดงเป็นห่วงว่า หญิงที่คลอดบุตรระหว่างที่หนีการสู้รบอาจได้รับผลกระทบด้านจิตใจและโรคภัยในภายหลัง และยังพบว่า มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากเหตุโจมตีและเหตุเหยียบกับระเบิดนับ 10 รายในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในรายงานระบุว่า เหตุสงครามความไม่สงบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานทำให้มีคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทะลักมายังชายแดนด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง เหมือนเช่นเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ 227 คน ในจำนวนนี้พบว่าเป็นผู้หญิง 103 คน ซึ่งยังพบอีกว่า ชายที่ถูกจับที่เหลือ หลบหนีมายังประเทศไทยเพราะไม่ต้องการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารให้กับกองทัพติดอาวุธกลุ่มต่างๆ โดยผู้ชายเหล่านี้มาจากหลากหลายเมืองเช่นจากเมืองกึ๋ง เมืองสู้ เมืองเชียงตอง เมืองตองจี เมืองป๋างโหลง เมืองผายขุ่น รวมถึงจากเมืองหลอยก่อ รัฐคะเรนนีเป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉานมีหลากหลายกลุ่ม เช่น กองทัพพม่า กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA กองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA กองกำลังปะหล่อง TNLA กองทัพว้า UWSA และกองทัพปะโอ PNO เป็นต้น