ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี คริสต์ศาสนิกชนชาวปกาเกอะญอ จะเริ่มฉลองวันคริสต์มาสจนถึงต้นปีศักราชใหม่ เพื่อร่วมแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้า แสดงพลังทางศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อประกาศผ่านสาธารณะถึงความรักและสามัคคีในชุมชน แต่สำหรับ ทนงศักดิ์ ม่อนดอก ประธานคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม–ผาวิ่งจู้ แล้ว ปีนี้เป็นปีพิเศษที่ต้องเร่งรวมพลังสามัคคีของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เพื่อประชุมวางแผนพัฒนาทรัพยากรชุมชนให้ยั่งยืนเพื่ออนาคตของลูกหลานและเป็นการตอบแทนคุณของพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีที่ทรงเมตตาให้ความไว้ใจชาวปกาเกอะญออยู่กับป่า ในฐานะผู้รับประโยชน์ ได้ประโยชน์และปกป้องป่าไม้ในพื้นที่ ตำบลแม่นาจร พร้อมทั้งอธิษฐานจิต ขอพรพระเจ้าให้ทรงอภัยแก่รัฐบาลที่โลภ คิดแผนสร้างเขื่อนด้วย
“คือทุกปีเราแค่เฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญทางศาสนา แต่ปีนี้ประเด็นเรื่องเขื่อน เรื่องความไม่เป็นธรรมในการแย่งทรัพยากรของรัฐบาลรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องปลูกจิตสำนึกชุมชนให้เข้มแข็งกว่าเดิม โดยเน้นที่การเรียนรู้จากเครือข่ายคัดค้านเขื่อนในลุ่มน้ำภาคเหนือเกือบทุกพื้นที่และประกาศกฎใหม่สำหรับการรักษาป่า เพื่อลบคำสบประมาทของรัฐบาลที่เคยกล่าวหาว่า แม่แจ่มเป็นป่าเสื่อมโทรม ปีนี้ถึงเวลาชุบชีวิตป่าไม้ แม่น้ำให้เกิดขึ้นอีกครั้งเพื่ออย่างน้อยแผนสร้างเขื่อนใน 3.5 แสนล้านจะได้ล้มเลิกไปจากป่าต้นน้ำ” ทนงศักดิ์กล่าว
“เราอยู่กับเมือง รักษาบ้านเมือง เราอยู่กับป่า เรารักษาป่า รักษาป่าไม้ รักษาสัตว์ป่า จงรักษาให้สมบูรณ์” เป็นเนื้อร้องของเพลง “ป่าให้น้ำ น้ำให้ชีวิต” ที่นักศึกษาจากศูนย์อพยพ จังหวัดตากและเยาวชนปกาเกอะญอในบ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร ร่วมขับร้องเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีที่สองพระองค์ทรงปลูกฝังแนวคิดให้รักป่าไม้ ต้นน้ำ และฝากผืนป่า แผ่นน้ำ ให้ประชากรทุกคนมีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกัน ประชาชนจึงต้องอนุรักษ์ร่วมกันด้วย ดังนั้นโครงการใดก็ตามที่ทำลายศักยภาพของผืนป่า ปกาเกอะญอจะขอสู้แม้ตัวตายเพราะไม่ต้องการผิดสัญญากับ “จอป่า” หรือพระเจ้าอยู่หัวของไทย
แต่สัจจะสัญญาของทุกคนในโอกาสสำคัญปลายปีนี้ คือ การประกาศความซื่อสัตย์ต่อป่าเขา ในพื้นที่แม่แจ่ม
“เราจะไม่รุกหรือขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดอีก เราจะวางแผนการเผาป่าให้เป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือนเพื่อลดปัญหาหมอกควันแก่คนข้างล่าง แก่คนเมือง พวกเรายอมเสียสละในเรื่องนี้ แต่เราขอให้รัฐบาลมอบความรักกลับสู่เราบ้าง เราขอให้คนหนุนเขื่อนมอบรักสู่เราสักครั้ง แค่ยกเลิกโครงการไปเลยแล้วเรายินดีหาทางออกของการพัฒนาทรัพยากรแบบใหม่ หาพืชปลูกแทนที่ ซึ่งทางชาวแม่แจ่มเริ่มปรึกษาส่วนอำเภอจังหวัดไว้แล้ว แต่อาจจะเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังราวปีหน้า” มิตรภาพ ปลูกเงิน ชาวบ้านแม่ซา ย้ำในเจตนารมณ์ของปกาเกอะญอ
แม้จะไม่ได้หรูหรา ด้วยเครื่องดื่ม และอาหาร แต่ก่อนงานคริสต์มาสมาถึง สารแห่งความรักก็ถูกถ่ายทอดผ่านหัวใจคนอนุรักษ์ได้อย่างสวยงามและมีเป้าหมายที่ตรงกัน คือ คัดค้านการสร้างเขื่อน.
—————
จารยา บุญมาก
เดลินิวส์ 22 ธันวาคม 2556