
เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2565 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-ลาวในจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายคำแยง คอนไซยะกิด เจ้าทางการเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาวได้ทำหนังสือทักท้วงถึงนายอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย กรณีที่มีการขุดค้นพระเจ้าล้านตื้อ(พระเจ้าทองทึบ)ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำโขงระหว่างเมืองต้นผึ้งและอำเภอเชียงแสน อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศเนื่องจากอาจมีการรุกล้ำเขตแดนประเทศลาว
ในหนังสือทักท้วงที่เจ้าเมืองลาวส่งถึงนายอำเภอเชียงแสนระบุว่า ในตอนเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 10.15 น. ที่ริมฝั่งอำเภอเชียงแสน ได้มีเรือเจ้าหน้าที่นรข.(หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง)ไทย จำนวน 2 ลำ ในแต่ละลำมีนักดำน้ำประมาณ 6 คน มีเครื่องอุปกรณ์ครบชุด ได้สำรวจค้นหาพระพุทธรูปพระเจ้าล้านตื้อบริเวณกลางแม่น้ำโขง เขตหน้าอำเภอเชียงแสนตรงกันข้ามกับบ้านต้นผึ้ง(ดอนผึ้งคำ) เมืองต้นผึ้ง โดยใช้เครื่องตรวจโลหะลงพื้นน้ำ ล่องขึ้น-ลงไปมาอยู่กลางแม่น้ำโขง จนถึงเวลา 11.30 น. จึงหยุดการค้นหา ซึ่งทางฝ่ายอำเภอเชียงแสนก็ไม่ได้แจ้งให้ฝ่ายเมืองต้นผึ้งทราบ ตามที่มีการร่วมมือกันระหว่างสองฝ่ายผ่านมา
ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า ในนามเจ้าเมืองต้นผึ้ง จึงเสนอมายังท่านนายอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ช่วยพิจารณาและประสานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้หยุดการค้นหาไปก่อน เพราะอยู่ในบริเวณขอบเขตเส้นชายแดนของสองฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา(แตะต้อง)ถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ถ้าหากว่าฝ่ายอำเภอเชียงแสน อยากมีการขุดค้นพระพุทธรูป หรือวัตถุโบราณดังกล่าว ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแจ้งเป็นทางการมายังฝ่ายแขวงบ่อแก้วให้ทราบ เพื่อจะให้มีคณะกรรมการชายแดนของสองฝ่ายตรวจสอบร่วมกัน เพื่อจับจุดพิกัดของเส้นชายแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง เป็นเอกภาพกันจึงให้มีการขุดค้น แต่การขุดค้นดังกล่าวต้องมิให้แตะต้องถึงเส้นชายแดนและการเซาะพังทลายของฝั่งแม่น้ำโขงทั้งสองฝ่าย
นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน กล่าวว่าทางคณะของครูบาไก่ (พระสุวิทย์ ชินวโร วัดป่าปฐมเทวาราม ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น) ได้มาทำพิธีค้นหาพระเจ้าล้านตื้อ แต่ตอนนี้ได้ยุติการค้นหาแล้วเพราะลาวไม่ยอม และยังไม่พบพระเจ้าล้านตื้อแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการสำรวจครั้งนี้ไม่ไดประสานมายังอำเภอก่อน โดยเรื่องพระเจ้าล้านตื้อจมอยู่ในแม่น้ำโขงหน้าอำเภอเชียงแสดนั้น เป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา แต่ไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร มีแต่คำบอกเล่าจากชาวบ้าน
“การสำรวจครั้งนี้เป็นลักษณะโอ้อวดอุตริและเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเสียมากกว่า เมื่อมาสำรวจจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างที่โอ้อวดไว้ แต่ตอนนี้ยุติแล้ว และผมได้อธิบายให้เจ้าเมืองต้นผึ้งเข้าใจแล้ว เพราะผมพยายามเชื่อมความสัมพันธ์สองประเทศให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”นายอำเภอเชียงแสน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเป็นการโอ้อวดในการสำรวจครั้งนี้ทำไมถึงมี นรข.เข้าร่วมด้วย นายคฑาสิทธิ์กล่าวว่า ตนเองก็ไม่ทราบ แต่ได้ทำหนังสือให้ นรข.ชี้แจงแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าเป็นคำสั่งมาจากส่วนกลางซึ่งไม่ได้แจ้งมาที่อำเภอ
เมื่อถามอีกว่าหากใครนิมิตเห็นพระเจ้าล้านตื้อแล้วมาค้นหากันอีกเรื่อยๆโดยไม่ได้แจ้งอำเภอจะทำอย่างไร นายอำเภอเชียงแสนกล่าวว่า คงต้องดูบริบทเป็นครั้งๆไป ซึ่งโดยปกติเรามีคณะกรรมการชายแดนที่ทำงานร่วมกัน หากใครต้องการมาสำรวจก็ประสานให้สองประเทศมาพูดคุยกันก่อน จะได้ไม่เกิดข้อพิพาทกัน

“บางที่นายอำเภอก็มารู้เรื่องเอาทีหลัง เพราะส่วนใหญ่เขาแจ้งไปยังส่วนกลางที่ไม่ขึ้นกับนายอำเภอ นายอำเภอรู้ต่อเมื่อเขาทำแล้ว แต่ครั้งนี้ทางลาวเขาเข้าใจเพราะเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย เขาต้องท้วงไม่งั้นก็ถูกตรวจสอบจากรัฐบาลกลาง ส่วนผมจู่ๆจะสั่งเบรคเลยก็ไม่ได้เพราต้องดูว่าใครสั่งการมา ลูกน้องในพื้นที่เขาก็ต้องปฎิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา”นายอำเภอเชียงแสน กล่าว
อนึ่ง ตำนานพระเจ้าล้านตื้อ ระบุว่าเกาะเก่าแก่กลางลำแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเกาะดอนแท่นเดิมทีเป็นผืนดินในไทยโดยเป็นทีอาศัยของผู้คนเชียงแสนในยุคก่อน เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดกว่า 10 วัด ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดาร เมืองเงินยางเชียงแสน ที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของ วัดพระเจ้าทองทิพย์ อันเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านกล่าวขานนามว่าพระเจ้าล้านตื้อ คำว่าตื้อ คือมาตราวัดของชาวล้านนา หมายถึงโกฏิ ดังนั้นคำว่า ” ล้านตื้อ” ก็หมายถึงองค์พระนี้มีขนาดและน้ำหนักมาก สันนิฐานว่าจมลงไปพร้อมกับเการะดอนแท่น ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณน้ำโขงหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน

ทั้งนี้ในเฟสบุค “วัตถุมงคล วัดป่าปฐมเทวาราม ครูบาไก่ ได้ระบุภารกิจ: “อัญเชิญพระเจ้าล้านตื้อ(พระเจ้าทองทิพย์) จากบาดาลกลับเวียงเชียงแสน”ไว้ว่า ในวันที่ 3 กรกฏาคม ได้มีการกำหนดจุดและวันที่ 4 สแกนหาองค์พระเจ้าล้านตื้อในแม่น้ำโขง โดยได้มีการทำพิธีบวงสรวง ซึ่งใช้ช้าง 4 เชือก
สำหรับครูบาไก่นั้น เคยเป็นข่าวในสื่อมวลชนหลายสำนัก กรณีบำเพ็ญจิตภาวนา พบพระพุทธรูปโบราณที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น นอกจากนี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558 นายธนิก มาสีพิทักษ์ อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทยได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ วัดป่าโสรโย บ้านขุมดิน ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น หลังครูบาไก่ นิมิตเห็นพระโบราณตามจุดต่างๆ ในเขตพื้นที่อ.มัญจาคีรี จนสามารถขุดพบได้จำนวนมาก
—————–