
สำนักข่าว Than Lwin Times รายงานว่า สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ The Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ได้ออกมาเปิดเผยรายงานชื่อ “Accountability for the Junta Criminals” หรือความรับผิดชอบต่ออาชญกรรมที่ก่อโดยกองทัพพม่า ว่า กองทัพพม่า โดยเฉพาะกองพันที่ 44,กองพันที่ 66 และกองพันที่ 77 เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุอาชญากรรมต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยใช้วิธีการและนโยบาย 4 ตัด (ตัดเสบียง ตัดการสื่อสาร ตัดเงินทุน และตัดกำลังพล)
AAPP รายงานว่า กองทัพพม่าเกี่ยวข้องใน 1,900 เหตุการณ์สังหารหมู่และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เช่น การยิงปืนเข้าไปในเขตชุมชน การสังหารโดยการยิงหลายนัด เพื่อให้แน่ใจว่าคนที่ถูกฆ่านั้นเสียชีวิต นอกจากนี้ยังได้พบว่าประชาชน 337 คนถูกกองทัพพม่าทำให้เสียชีวิตจาก 13 เหตุการณ์ซึ่งใช้ความรุนแรงแตกต่างกัน
หลังการรัฐประหาร ยังทำให้ประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน ในจำนวนนี้ 700,000 คน ต้องทิ้งบ้านเรือนของตัวเองเพราะความขัดแย้งและความไม่ปลอดภัย ไม่เพียงแต่ความรุนแรงเท่านั้นที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจหนี แต่การวางกับระเบิดรอบๆ หมู่บ้านยังทำให้ชาวบ้านไม่สามารถกลับคืนบ้านเกิดของตัวเองได้ นอกจากนี้ การออกกฎหมายในบางเมืองยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านกลัวว่าจะมีการจับกุมตามอำเภอใจ จึงทำให้มีตัวเลขชาวบ้านหนีอพยพออกมาเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ตัวเลขนักโทษการเมืองพม่า จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 มีนักโทษการเมืองอีกจำนวน 11,478 คน ที่ยังคงถูกคุมขัง และกำลังเผชิญการกับถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ เช่นการถูกขังเดี่ยวเป็นเวลานาน การทำร้ายร่างกายและทรมาน รวมไปถึงการถูกละเมิดทางเพศ
รายงานของ AAPP ยังเปิดเผยว่า บางครั้งทางการพม่ายังจับกุมคนที่ถูกปล่อยตัวได้ไม่นานอีกครั้ง
AAPP ระบุว่า จะพยายามนำประเด็นเรื่องการก่ออาชญากรรมของกองทัพพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับเหยื่อ
“ทหารได้รับการยกเว้นโทษมานานหลายทศวรรษเพราะไม่มีหลักนิติธรรมในประเทศ ดังนั้นจึงต้องถอดทหารออกจากการเมืองเพื่อฟื้นฟูหลักนิติธรรม ทหารต้องถูกลงโทษในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทรมาน” AAPP ระบุในรายงาน