
เมื่อวานนี้ (13 กรกฎาคม 2565) ประชาชนในเมืองมะตูพีและเมืองมินดัท ทางใต้ของรัฐชิน ได้เปิดเผยกับสำนักข่าว Irrawaddy ว่า ราคาสินค้าใน 2 เมืองกำลังแพงขึ้น และมีแนวโน้มประชาชนในพื้นที่กำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองมะตูพีและเมืองปะแล็ตวา เมืองมะตูพีเชื่อมเมืองมินดัทและเมืองมินดัทไปยังเมืองเจ้าก์ทู ซึ่งเป็นถนนหลักที่ส่งสินค้ากำลังถูกกองทัพพม่าปิดไว้ชั่วคราว
อาสาสมัครรายหนึ่งในเมืองมะตูพีกล่าวว่า ข้าวกำลังจะหมดในเร็วๆ นี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันและเกลือกำลังพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ราคาไข่ 3 ฟองตกอยู่ที่ 1,000 จั้ต (20 บาท) เปรียบเทียบกับราคาไข่ในกรุงย่างกุ้ง ไข่ฟองละ 150 จั้ต (3 บาท) และกำลังเป็นอาหารหายากสำหรับคนในพื้นที่ ขณะที่ราคาข้าวสารก็ปรับขึ้นราคา ก่อนหน้าที่จะเกิดการรัฐประหาร ข้าวสาร (61 ลิตร) กระสอบละ 4,000 จั้ต (ประมาณ 79 บาท) เท่านั้น แต่ตอนนี้ ข้าวสารขึ้นราคาเป็นกระสอบละ 66,000 – 70,000 จั้ต (ประมาณ 1,299 – 1,379 บาท)
“ชาวบ้านที่ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลและเดินทางด้วยรถส่วนตัวได้รับอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ได้ และเมื่อพวกเขาออกจากเมือง เพื่อนบ้านก็มักจะฝากพวกเขาซื้ออาหารกลับมาด้วย ชาวบ้านที่ออกจากเมืองจะกลับมาพร้อมกับไข่และปลาแห้ง แต่ไม่มีน้ำมันและข้าวสาร” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว


ทั้งนี้ เมืองมินดัทนั้นถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว และหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็มักจะถูกโจมตีแม้จะไม่มีเหตุสู้รบก็ตาม
“เราทิ้งหมู่บ้านของเราและไร่นาของเรา กำลังดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่ แต่ก็กังวลกับสำหรับเรื่องความปลอดภัยและเรื่องอาหาร” ชาวบ้านรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Irrawaddy
ทางด้าน กองทัพปกป้องดินแดนชิน (Chinland Defense Force – CDF) เปิดเผยว่า กองพันที่ 274 ที่ประจำอยู่ในเมืองมินดัท ได้โจมตีหมู่บ้านต่างๆ และมีประชาชนจากเมืองมินดัทจำนวน 60 คน ขณะนี้ถูกคุมขังไว้ที่เรือนจำปะโคะกู่ และอีก 30 คน ถูกคุมขังไว้ที่ค่ายทหารพม่า 274 ในเมืองมินดัท ทาง CDF เรียกร้องให้องค์กรการกุศลระหว่างประเทศเร่งให้ความช่วยเหลือชาวเมืองมินดัท
อีกพื้นที่หนึ่งเช่นที่เมืองทาริ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงที่เชื่อมไปยังเมืองฟาลัมและเมืองฮักคา ทางเหนือของรัฐชิน ทหารพม่าได้เผาทำลายบ้านเรือนส่วนใหญ่ในเมืองทาริราบคาบเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยบ้านเรือนทั้งหมด 41 หลังคาเรือน เหลือเพียง 7 หลังคาเรือนที่ไม่ถูกเผา โดยทหารพม่ายังได้ปล้นสดมภ์ทรัพย์สินมีค่าของชาวบ้านไปอีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐชินเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกิดเหตุสงครามและความรุนแรงนับตั้งแต่รัฐประหารระหว่างกองทัพพม่าและประชาชนที่ไม่ยอมรับกองทัพพม่า ขณะที่ผู้ลี้ภัยสงครามโดยเฉพาะจากรัฐชินได้เดินทางหนีเข้าประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะในรัฐทางภาคตะวันตกของอินเดีย อย่างรัฐมิโซรัม และรัฐมณีปุระ สำนักข่าว Mizzima รายงานว่า จนถึงขณะนี้ มีผู้ลี้ภัยจากพม่าอยู่ในอินเดียราว 39,800 คน
สื่อพม่ารายงานว่า แม้ผู้ลี้ภัยจากพม่า โดยเฉพาะจากรัฐชินนั้น จะได้รับการต้อนรับที่ดีจากรัฐบาลท้องถิ่น เช่นที่รัฐมิโซรัม แต่ท่าทีของรัฐบาลกลางอินเดียกลับไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัยจากพม่า แม้คนมิโซรัมจะมีความเห็นอกเห็นใจชาวชิน เพราะมีเชื้อชาติใกล้เคียงกันและพูดภาษาเดียวกัน แต่เพราะขาดแคลนทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี รวมไปถึงขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ทำให้การดูแลจัดการผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ทะลักเข้ามาเกินความสามารถของคนท้องถิ่น มีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยชาวชินในอินเดียต้องเผชิญความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ไม่มีที่พัก อาหารและน้ำดื่ม รวมไปถึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล
ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นในรัฐมิโซรัมเช่น กลุ่มเยาวชนและโบสถ์ กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากรัฐชิน ทั้งการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ลี้ภัย รวมไปถึงการเปิดรับนักเรียนที่เป็นชาวชินเข้าเรียน เป็นต้น และแม้ผู้ลี้ภัยชาวชินจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นและรู้สึกปลอดภัยในรัฐมิโซรัม แต่ขณะนี้ผู้ลี้ภัยชาวชินเป็นจำนวนมากกำลังป่วยเป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง
ทางด้านตัวแทนชุมชนชาวชิน – อเมริกัน (Chin-American community) ระบุว่า ผู้ลี้ภัยจากพม่าเกือบ 40,000 คน มีความจำเป็นต้องการที่พักพิง เสื้อผ้า อาหารและน้ำ ตลอดจนวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างยิ่ง แต่รัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี ถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นความช่วยเหลือดังกล่าว โดยองค์กรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้ออกมาแนะนำว่าทางการอินเดียต้องมีความเห็นอกเห็นใจและให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัยมากกว่านี้
ภาพจาก Irrawaddy , Mizzima