สัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ปี 2557 เสียงเพลงสำหรับเฉลิมฉลองดังก้องในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทำให้หวนนึกถึงเพลง เด็กดั่งดวงดาวของ ศุ บุญเลี้ยง ที่ถ่ายทอดความบริสุทธิ์ของเด็กไว้อย่างงดงาม
“เมื่อดาวหนึ่งดวง ร่วงลงจากฟ้า จะมีดวงตาเกิดขึ้นมาบนโลกนี้แทน เป็นเด็กผู้หญิง เป็นเด็กผู้ชาย ส่งแววประกาย เด็กมีความเหมาย เช่นดาว พวกเราจะโตไม่นานหรอกหนา เราจะอาสาเต็บโตมาดูแลโลกแทน ปกป้องป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ไม่มีสงคราม หากทำตามความฝันของเด็ก” เป็นท่อนหนึ่งของเพลงสื่อสารความคิด และความหวังของเด็กๆ ได้ดี โดยบทบาทหนึ่งของเด็กที่มีแนวโน้มเข้าใกล้เนื้อเพลงมากที่สุด คือ บรรยากาศงาน “วันเด็กค้านเขื่อนแม่แจ่ม ผาวิ่งจู้” บ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะฟังดูเครียดกับสถานการณ์บ้านเมืองและโครงการของรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ว่าความรักที่เด็กๆ ปกาเกอะญอถักทอผ่านการจัดงาน เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ดูสดใสและน่ารักไม่แพ้งานรื่นเริงทั่วไป
บรรยากาศงานยังเป็นไปตามปกติ คือเด็กๆ ทีเข้าร่วมมีทั้งการร้องเพลง แสดงพื้นเมือง และเล่นเกมแลกของรางวัล แต่ที่สะดุดตาคือ เด็กมีการออกแบบของเล่น เครื่องประดับโดยรุบุข้อความคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม อย่างชัดเจนโดยรสร้างสรรค์ขึ้นจากฝีมือเด็กๆ และชาวบ้านแม่แจ่มทั้งสิ้น อาทิ วาดรูประบายสี และสิ่งประดิษฐ์จ่าง เช่น หมวกกระดาษ ข้อมือกระดาษ เป็นต้น โดยในกิจกรรมวันเด็กที่ผ่านมาเป็นการต่อยอดกีฬาต่อต้านยาเสพติดที่ทางอำเภอแม่แจ่มจัดขึ้นร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเด็กๆ ในอำเภอได้เดินขบวนรณรงค์คัดค้านเขื่อนในตัวเมืองด้วย
สมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะญา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่ ระบุว่า ก่อนการจัดงานมีการประชุมวางแผน โดยชาวบ้านตะหนักว่าตั้งแต่เกิดโครงการแผนสร้างเขื่อนแม่แจ่ม-ผาวิ่งจู้ ตามงบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ชาวแม่แจ่มยังคงยึดมั่นร่วมกันว่า จะผลักดันนโยบายคัดค้านเขื่อนดังกล่าว และคัดค้านโครงการ 3.5 แสนล้านให้เข้าไปอยู่ในทุกประเพณี ทุกกิจกรรม และวัฒนธรรมของปกาเกอะญอ รวมทั้งวันสำคัญของชาติด้วย โดยวันเด็กแห่งชาติ ถือเป็นอีกวันสำคัญในการถ่ายทอดอุดมการณ์สู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งปีนี้มีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 230 คน เด็กทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการแสดงออกทั้งสิ้น
“ก่อนจัดงานในรูปแบบดังกล่าว เราและชาวบ้านก็คุยกันหลายครั้งว่าจะเดินหน้างานอย่างไร แต่พอพิจารณาโครงการเขื่อนแล้ว เราพบว่า โครงการไม่มีแนวโน้มจะพับลงได้ง่าย มีรุ่นหนึ่ง ก็มีรุ่น 2 อย่าลืมว่าเขื่อนบางแห่งผ่านมา 10 ปี 20 ปี รัฐบาลก็ดึงดันจะสร้างอยู่ดี จึงจำเป็นต้องคัดค้านต่อไป พอรู้รูปแบบชาวบ้านก็ร่วมกันทำป้ายขึ้นมาเอง เด็กๆ ที่โรงเรียนให้ความร่วมมืออย่างมาก สะท้อนว่าทั้งหมู่บ้านให้ความสำคัญกับการปกป้องชุมชนอย่างเต็มที่” สมเกียรติ อธิบาย
สำหรับทุกปีของวันเด็กแห่งชาติ จะมีการแข่งขันตอบคำถามชิงของรางวัลมากมาย หลายพื้นที่ตั้งคำถามถึงคำขวัญจากนายกรัฐมนตรีของไทย แต่คำถามที่กระตุกความตื่นตัวของเด็กแม่แจ่ม คือ เมื่อถูกตั้งคำถามว่า เจอนายกจะขออะไร ? เด็กคนหนึ่งตอบว่า ขอให้หยุดสร้างเขื่อน
“แน่นอนว่าคำตอบที่ได้ไม่ใชแค่ความบันเทิง แต่ลึกๆ สะท้อนว่า พวกเขาซึ่งเป็นอนาคตของชุมชนถูกปลูกฝังให้เชื่อมั่นในการรักษาทรัพยากรทุกคน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะเป็นความรู้ ต่อยอดนโยบายชุมชนที่ช่วยให้เด็กมีสิทธิในการศึกษาและเข้าใยจสถานการณ์หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอซึ่งจะขยายสู่สังคมกว้างขึ้นต่อไป”
ในตอนท้ายผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะหญา ทิ้งท้ายว่า ในการเดินหน้าปกป้องชุมชนจากเขื่อนและโครงการใหญ่ๆของรัฐที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน จำเป็นต้องผนึกกำลังคนทุกรุ่นรู้ทัน โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งชาวแม่แจ่มมั่นใจว่า เด็กๆ ที่โตขึ้นมาหากมีความรู้มากๆ เข้าใจว่าอะไรให้โทษ อะไรให้ประโยชน์ จะสามารถตรวจสอบโครงการของรัฐได้ด้วยเหตุผลส่วนตัว พวกเขาจะไม่เป็นเหยื่อของการเชื่อนักการเมืองและรัฐบาลอย่างงมงาย นั่นคือการสร้างฐานการศึกษาที่มั่นคงอย่างแม้จริง
เรื่อง จารยา บุญมาก
ภาพ สถาบันอ้อผะหญา